18 มิ.ย. เดือดกลางฝน !
วันอังคารที่ 18 มิ.ย.67 กำลังเป็นวันสำคัญที่จะชี้อนาคตการเมืองไทยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรทุกอย่างไปประดังเหมือน “รถไฟชนกัน”
KEY
POINTS
- 18 มิ.ย. จะมีความชัดเจนใน 4 คดีสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ แต่ละคดี ผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกร้องและผู้ต้องหา หันมาเน้น “เทคนิคกฎหมาย” หวังชนะฟาวล์กันแทบทั้งสิ้น
- คดีสอยนายกฯเศรษฐา จะมีความชัดเจนว่า ศาลจะนัดอ่านคำวินิจฉัยเมื่อใด หรือจะเปิดศาลไต่สวน
- กรณีอดีตนายกฯทักษิณ และทีมกฎหมายไม่ขอเลื่อนนัด แต่ใช้วิธียื่นขอความเป็นธรรม ก็เพื่อให้อัยการพิจารณา แล้วสั่งเลื่อนเอง เพื่อตัวเองจะไม่ถูกโจมตีว่าเป็นฝ่ายประวิงเวลา หรือเตะถ่วงคดี
- พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจยกคำร้อง ทำให้กระบวนการเลือก สว. และ กกต.เดินหน้าต่อ คล้ายๆ “ชนะฟาวล์”
- ข้อต่อสู้ในคดียุบพรรคก้าวไกล ว่ากระบวนการตั้งข้อหา และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ปฏิบัติข้ามขั้นตอนกฎหมายใหม่ ต้องลุ้นว่าศาลฯ จะยกคำร้อง จนพรรคก้าวไกลรอดหรือไม่
วันอังคารที่ 18 มิ.ย.67 กำลังเป็นวันสำคัญที่จะชี้อนาคตการเมืองไทยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรทุกอย่างไปประดังเหมือน “รถไฟชนกัน”
วันที่ 18 มิ.ย. จะมีความชัดเจนใน 4 คดีสำคัญ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น กลับมีข้อถกเถียงกันมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย เทคนิคกฎหมาย โดยถกเถียงกันยิ่งกว่าประเด็นข้อเท็จจริง
ไปดู 4 คดีที่จะรู้ผล รู้ทิศทาง ในวันนั้นกันก่อน
1.คดี 112 ของอดีตนายกฯทักษิณ
2.ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.
3.ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาต่อ คำร้องสอยนายกฯเศรษฐา
4.ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาต่อ คำร้องยุบพรรคก้าวไกล
ความเคลื่อนไหวล่าสุดน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเนื้อหาของคดีแทบไม่มีใครพูดถึง เนื่องจากเกิดภาวะที่เรียกว่า “ออกหน้าไหนก็ได้” เนื่องจากพฤติการณ์ที่เป็นสาระนั้น “ดิ้นได้” มองว่าผิดก็ได้ ไม่ผิดก็ได้ ถือเป็นคดีที่เป็น “การเมืองโดยแท้”
สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ แต่ละคดี ผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกร้องและผู้ต้องหา หันมาเน้น “เทคนิคกฎหมาย” หวังชนะฟาวล์กันแทบทั้งสิ้น
ก่อนอื่นผมขอยกคดีที่มีประเด็นโต้เถียงน้อยที่สุดขึ้นมาก่อน คือ คดีสอยนายกฯเศรษฐา
คดีนี้ มีประเด็นที่ทีมกฎหมายของนายกฯ แก้ข้อกล่าวหาว่า 40 สว.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง คือ “หวังชนะฟาวล์” ซึ่งเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ด้วยแน่นอน ก่อนลงไปที่เนื้อคดี เพราะไม่สามารถอ้างการ “รับพิจารณาวินิจฉัยแล้ว” มาการันตีว่า 40 สว.มีอำนาจยื่นคำร้องได้ เนื่องจากเป็นการพิจารณาฝ่ายเดียวของศาล ไม่มีการโต้แย้งจากผู้ถูกร้อง
และในอดีต คดีใหญ่บางคดี เช่น คดียุบพรรคประชาธิปัตย์รอบ 2 ก็คล้ายๆ กันแบบนี้ เป็นการต่อสู้เรื่องเทคนิคกฎหมาย ทำให้ “ชนะฟาวล์” ก่อนพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็มีมาแล้วเหมือนกัน
วันที่ 18 มิ.ย. คาดว่าคดีสอยนายกฯเศรษฐา จะมีความชัดเจนว่า ศาลจะนัดอ่านคำวินิจฉัยเมื่อใด หรือจะเปิดศาลไต่สวน แต่ทิศทางน่าจะนัดวินิจฉัยเลยมากกว่า
และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเข้าทางพรรคเพื่อไทย เพราะคดีนายกฯตัดสินก่อน ก็จะรู้ผลก่อน หากนายกฯเศรษฐารอด ก็ไม่มีสถานการณ์ “ล้างไพ่ใหม่” ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองก็จะลดลง โดยเฉพาะจาก “ลุงในป่า”
คดีที่ 2 คือคดี 112 ของอดีตนายกฯทักษิณ ข้อเท็จจริงของการต่อสู้คดีนี้ เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวก็คือ
- อดีตนายกฯยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม
- มีข่าวต้องลุ้นว่า 18 มิ.ย.จะมีการเลื่อนนำตัวอดีตนายกฯไปยื่นฟ้องต่อศาลหรือไม่
- มีการให้ข่าวโต้แย้งว่า การยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมของอดีตนายกฯ ไม่มีผลต่อการเลื่อนนัดเอาตัวไปฟ้อง และอดีตนายกฯก็ไม่ได้ต้องการเลื่อน เพราะไม่ได้ขอเลื่อน เป้าหมายที่แท้จริงของอดีตนายกฯคือ เตรียมนำหลักฐานที่ขอความเป็นธรรมนี้ไปใช้ในศาล
ประเด็นนี้สามารถหยุดความสับสนได้จากคำอธิบายนี้...
1.จริงๆ แล้วนับถึงปัจจุบัน อดีตนายกฯ และทีมกฎหมายของอดีตนายกฯ ยังไม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดอัยการ ในการนำตัวไปฟ้องต่อศาล ในคดี 112 วันที่ 18 มิ.ย.แต่อย่างใด (มีแต่ข่าวอ้างอิงจากคุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ว่า คุณทักษิณแอดมิต ซึ่งยังไม่ชัดในข้อเท็จจริง)
2.แต่ความเป็นไปได้ ที่ไม่มีใครการันตีได้เลยก็คือ จริงๆ แล้วอดีตนายกฯทักษิณ และทีมกฎหมายอาจไปขอเลื่อนใกล้ๆ วันนัดก็ได้ คือ ใกล้ๆ วันที่ 18 มิ.ย. เพราะถ้ายื่นไปก่อนนานๆ แล้วมีข่าวหลุดมา (เหมือนกับข่าวที่หลุดอยู่ทุกวันนี้) ตนเองก็จะตกเป็นเป้าโจมตี
3.เท่าที่เราได้ข้อมูลจากอัยการผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมือกฎหมายคนสำคัญ สรุปได้ว่า การที่อดีตนายกฯและทีมกฎหมายไม่ขอเลื่อนนัดวันที่ 18 มิ.ย. แต่ใช้วิธียื่นขอความเป็นธรรม ก็เพื่อให้อัยการพิจารณาแล้วสั่งเลื่อนเอง เพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องถูกโจมตีว่าเป็นฝ่ายดึงเวลา หรือประวิงเวลา หรือเตะถ่วงคดี
4.ขั้นตอนการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม ถ้ามีน้ำหนัก อัยการจะสั่งเลื่อนโดยปริยายอยู่แล้ว เพราะต้องตั้งพนักงานอัยการระดับอธิบดีขึ้นมาเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาและให้ความเห็น
คดีที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะกระบวนการและวิธีการเลือก สว.หลายๆ ประเด็น
- มีประเด็นโต้แย้งว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะร่าง พ.ร.ป.ทั้งหมด 10 ฉบับ ที่ยกร่างหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดว่า ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก่อน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยตรวจแล้ว เนื้อหาย่อมไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ขัดอาจเป็นระเบียบ หรือกฎ กกต.ที่ออกมาเป็นกฎหมายลำดับรองมากกว่า
งานนี้จึงมองกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจยกคำร้อง ทำให้กระบวนการเลือก สว. และ กกต.ได้เฮ เดินหน้าต่อ คล้ายๆ “ชนะฟาวล์”
- แต่อีกด้านหนึ่งก็มีประเด็นโต้แย้งจากบางฝ่ายเช่นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตรวจร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งร่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นตรวจเองต่างหาก
ที่ผ่านมามีคนโต้แย้งประเด็นนี้กันมาก ว่าสรุปแล้วศาลรัฐธรรมนูญตรวจร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.หรือไม่ หรือว่า กกต.ตรวจเอง แน่นอนว่าคนที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็น่าแปลก หากเรื่องนี้ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตรวจแล้ว ห้ามโต้แย้ง ศาลก็ไม่ควรรับคำร้องตั้งแต่ต้น
ขณะเดียวกัน นักกฎหมายมหาชนหลายคนก็บอกว่า กรณีของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบเองแล้วทุกฉบับ แต่หากเมื่อใช้จริงแล้วมีปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องรับเรื่องมาตรวจสอบใหม่ จะมายืนยันว่าตรวจแล้ว ไม่มีทางขัด ย่อมไม่สมเหตุสมผล
ที่สำคัญ ขณะนี้มีข่าวว่า กำลังมีการรวบรวมความเห็นจากศาลอื่นที่เกี่ยวข้อง และมีการยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลเหล่านั้น ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และกฎหมายลำดับรองทั้งหมด เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ช่วยวินิจฉัย ซึ่งหากเป็นจริง ศาลย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะวินิจฉัยประเด็นนี้
และกระบวนการเลือก สว.จึงยังไม่มีความแน่นอน ว่าจะได้ไปต่อจนถึงระดับประเทศจริงหรือ แม้เมื่อวานจะมีการเลือกระดับจังหวัดก็ตาม
พูดถึงเรื่องเทคนิคกฎหมายที่เกี่ยวพันกับ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีประเด็นที่พรรคก้าวไกลยกเป็นข้อต่อสู้ในคดียุบพรรค ว่า กระบวนการตั้งข้อหาและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล กกต.ปฏิบัติข้ามขั้นตอนของกฎหมายใหม่
พูดง่ายๆ คือ หวังชนะฟาวล์เหมือนกัน โดยอ้างหลักที่เรียกว่า Due Process of Law ซึ่งหมายถึงกระบวนการขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมายต้องถูกต้อง เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ยึดเฉพาะเนื้อหากฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว
หลักการนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับกันในสหรัฐอเมริกา
งานนี้ต้องรอลุ้นว่า ข้อกล่าวหาว่าด้วยการข้ามขั้นตอนในการพิจารณาคำร้องและส่งคำร้อง ถือเป็นสาระสำคัญทางคดี ให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง จนพรรคก้าวไกลรอดเลยหรือไม่
แต่ต้องพิจารณาว่า ถึงจะรอดเที่ยวนี้ กกต.กลับไปทำให้ครบขั้นตอนใหม่ ก็ยื่นยุบพรรคก้าวไกลได้อีกทีหรือเปล่า...
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวของประเทศไทย ซึ่งมีสงครามกับเขาด้วยเหมือนกัน แต่เป็น “นิติสงคราม” จนทำให้ อาจารย์สุขุม นวลสกุล บอกว่า ประเทศนี้ “คนตีความกฎหมาย” คือคนที่ใหญ่ที่สุด!