ส่องตัวเต็ง สว.67 ‘บ้านใหญ่’ เหนือ ’บ้านส้ม‘
โค้งสุดท้าย “เลือก สว.2567” เครือข่าย “บ้านใหญ่” เข้ารอบสุดท้ายเหมาจังหวัด เหนือ “บ้านส้ม” แคมเปญ สว.ประชาชน ไม่เข้าเป้า
ส่องโฉมหน้า สว.ชุดใหม่ อดีตนายกฯ เต็งหาม คาดเครือข่ายบ้านใหญ่ คว้าเก้าอี้ สว. 2 ใน 3 ลุ้น สว.สายประชาธิปไตย ฝ่าด่านบล็อกโหวต
เหลืออีก 3 วัน กระบวนการเลือก สว.ระดับประเทศ จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี
กกต.รายงานว่า มีผู้สมัคร สว.ผ่านเข้าไปสู่รอบการเลือกระดับประเทศ จำนวน 3,000 ราย แบ่งเป็นชาย 2,164 ราย หญิง 836 รายนั้น
ส่องดูรายชื่อผู้สมัคร สว.ทั้งประเทศ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ไม่ใช่คนเด่นดัง ไม่ได้เป็นนักการเมือง
ประเมินว่า ผู้สมัคร สว.จำนวนมากทีเดียวเป็นเครือข่าย “บ้านใหญ่” ที่มีเป้าหมายเป็นโหวตเตอร์ให้กับผู้สมัคร สว.ที่ถูกวางตัวเป็น “แคนดิเดต”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชา ชน (iLaw) ที่ขับเคลื่อนแคมเปญ สว.ประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊คสรุปบทเรียนว่า “...ในความเป็นจริงบ้านใหญ่ใช้วิธีเหมาจังหวัด กล่าวคือ เวลาส่งคนไปลงตามอำเภอต่างๆ ไม่ได้มีเป้าหมายให้มาเลือกตัวเองคนเดียว หรือสองคน แต่มีเป้าหมายให้มาเลือกทีมตัวเองทั้ง 40 คน แล้วเดินเข้าจากบ้านเดียวกันทั้งจังหวัด”
คำว่า “บ้านใหญ่” ไม่ได้มีเพียงบ้านเดียว หากแต่มีทั้งบ้านสีแดง บ้านสีน้ำเงิน บ้านในป่า บ้านพลังงาน บ้านส้ม ฯลฯ
ในยกสุดท้ายก่อนถึงเมืองทองธานี ยิ่งชีพ วิเคราะห์ว่า “..วันนี้ยังประเมินไม่ออกว่า บ้านหลังไหนจับมือกันได้บ้าง เพราะสุดท้ายมันจะมีคนได้เป็น สว.แค่ 200 คนเท่านั้น ถ้าบ้านหลายหลังตกลงโควต้าสุดท้ายกันไม่ได้ ก็ยังไม่มีความแน่นอน”
เชื่อว่า คืนสุดท้ายก่อนวันพุธที่ 26 มิ.ย.นี้ โผ สว.ชุดใหม่ 200 คนของบ้านใหญ่ คงต้องเคาะให้จบ หากเกิดความผิดพลาด ผู้สมัคร สว.ไร้บ้านไร้ซุ้ม อาจแทรกเข้ามาได้
บ้านสีแดง
เครือข่ายบ้านสีแดง มีคนพูดถึงมากที่สุด เพราะผู้สมัคร สว.สายนี้ เป็นระดับอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกฯ
เมื่อส่องรายชื่อผู้สมัคร สว.ทั้ง 20 กลุ่ม พบว่า บ้านสีแดง มีนักการเมืองชื่อดังหลายคน
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี (เชียงใหม่)
- นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี (สมุทรสงคราม)
- ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม 2 สมัย (มหาสารคาม)
- มานพ จรัสดำนิตย์ อดีต สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย
- กุสุมาลวดี ศิริโกมุท อดีต สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย
บ้านสีน้ำเงิน
บ้านสีน้ำเงิน มีคนพูดถึงเยอะ โดยเฉพาะผู้สมัคร สว.ที่มาจากภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้
รายชื่อตัวเต็งบ้านสีน้ำเงิน ประกอบอดีตข้าราชการระดับสูง และเครือการเมืองท้องถิ่น
- มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง (บุรีรัมย์)
- พรเพิ่ม ทองศรี อดีตคณะทำงาน รมช.ทรงศักดิ์ ทองศรี (บุรีรัมย์)
- อภิชาต งามกมล อดีตรอง ผวจ.อำนาจเจริญ เครือญาติ ไตรเทพ งามกมล สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (บุรีรัมย์)
- นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข รัฐบาลประยุทธ์ (บุรีรัมย์)
- วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีต ผวจ.อ่างทอง คนบ้านเดียวกันกับ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (อ่างทอง)
- นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา และน้องชาย สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา (อยุธยา)
- กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการ กพฐ. และอดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย (สงขลา)
- สมชาย เล่งหลัก อดีตผู้สมัคร สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย
- โชคชัย กิตติธเนศวร ทายาท วุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก พรรคภูมิใจไทย
ฝั่งนักการเมืองเก่า
บรรดาผู้สมัคร สว.รอบระดับประเทศ ปรากฏว่า มีนักการเมืองระดับชาติจำนวนไม่มาก และมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้สังกัดบ้านหลังไหน
- กัมพล สุภาแพ่ง อดีต สส.เพชรบุรี พรรค ปชป. สอบตก 2 สมัยซ้อน
- นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่
- บรรจบ รุ่งโรจน์ อดีต สส.ชลบุรี พรรค ปชป. เคยย้ายมาภูมิใจไทยแต่ก็สอบตก
- วิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต สส.กาฬสินธุ์ หลายสมัยหลายพรรค ระยะสอบตกบ่อย
- สรชาติ สุวรรณพรหม อดีต สส.หนองบัวลำภู พรรคความหวังใหม่
- โชคสมาน สีลาวงศ์ อดีต สส.อุดรธานี และอดีต รมช.คมนาคม ปีที่แล้ว ลงสมัคร สส.อุดรฯ พรรคก้าวไกล แต่สอบตก
- มานะ มหาสุวีรชัย อดีต สส.ศรีสะเกษ พรรคพลังธรรม ห่างหายจากสภาฯไปนานแล้ว
- สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีต สส.นครราชสีมา น้องชายแรมโบ้อีสาน เสกสกล อัตถาวงศ์ ตอนหลังสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
- ปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา อดีต สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน
- จัตุรนต์ คชสีห์ อดีต สส.ชุมพร พรรค ปชป. ตอนหลังย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทย
- อัษฎางค์ แสวงการ อดีต สว.ขอนแก่น และอดีตผู้สมัครนายก อบจ.ขอนแก่น
- ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สว.นนทบุรี และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
- นพ.ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา อดีต สส.นครสวรรค์ และอดีต สว.นครสวรรค์
ฝั่งประชาธิปไตย
การเคลื่อนไหวแคมเปญ สว.ประชาชน ของไอลอว์ และแคมเปญ 1 ครอบครัว 1 สว. ของคณะก้าวหน้า มีเป้าหมายให้ประชาชนตื่นตัวลงสมัคร สว. ยิ่งสมัครเยอะเท่าไหร่ ยิ่งทลายบล็อกโหวตบ้านใหญ่ได้
สุดท้ายก็มีผู้สมัคร สว.ทั้งประเทศ 4 หมื่นกว่าคน และไม่ถึงเป้าหลักแสนคน เหมือนไอลอว์และคณะก้าวหน้า ประเมินไว้
อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัคร สว.ฝั่งประชาธิปไตย ผ่านเข้ารอบประเทศจำนวนหนึ่ง ดังมีรายชื่อตัวเต็งดังนี้
- สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (กทม.)
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (กทม.)
- แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน (กทม.)
- สุภาพร อัษฎมงคล นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรี (กทม.)
- สุเทพ สุริยะมงคล กลุ่ม OctDem คนรุ่น 6 ตุลา 2519 และประธานกลุ่มโดมรวมใจ (กทม.)
- อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กทม.)
- อัจฉรา อัชฌายกชาติ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส (กทม.)
- นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก (กทม.)
- อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงาน (สมุทรปราการ)
- นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค (สมุทรปราการ)
- ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ (นครปฐม)
- บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย (สงขลา)
- หทัยรัตน์ พหลเทพ บรรณาธิการ อีสานเร็คคอร์ด (หนองบัวลำภู)
- เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการข่าวประชาไท (สมุทรสงคราม)
- ประทีป คงสิบ อดีต ผอ.วอยซ์ ทีวี (เพชรบูรณ์)
- ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (ปทุมธานี)
- ศรีไพร นนทรีย์ ผู้นำแรงงานรังสิต (ปทุมธานี)
ต้องมาลุ้นกันว่า สว.ประชาชนจะฝ่าด่านบ้านใหญ่เข้าสภาสูงได้มากกว่ากูรูการเมืองประเมินว่า สว.ปีกนี้ น่าจะไม่เกิน 20 ที่นั่ง
อ่านบทบันทึกการเลือก สว.ของทีมไอลอว์ ประเมินภาพรวมของ สว.สายประชาธิปไตย และ สว.บ้านสีส้ม ไม่น่าจะถึงเป้า 67 ที่นั่ง ดังที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้