“ยุบก้าวไกล” หนักกว่าที่คิด เงื่อนไขตายสิบเกิดแสนยาก

“ยุบก้าวไกล” หนักกว่าที่คิด เงื่อนไขตายสิบเกิดแสนยาก

ดูเหมือนที่น่าจะร้อนรุ่มรุมเร้ามากกว่า การเมืองในสภาฯ ก็เห็นจะเป็น กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ครั้งต่อไปในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ อาจต้องลุ้นจะมีการวินิจฉัยเลยหรือไม่ หรือต้องไต่สวนพยานเพิ่มเติมตามที่พรรคก้าวไกลคาดหวัง?

หลังจากเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้คู่ความตรวจสอบพยานหลักฐานไปแล้ว 

คดีนี้สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวและเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 ของพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค (ขณะนั้น) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปแล้ว และสั่งให้หยุดการกระทำ

ต่อมามีผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรค และกกต.ก็ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามขั้นตอน โดยศาลฯสั่งรับไว้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 3เมษายน 2567

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา แต่ปรากฏในทางการเมือง มีการเคราะห์ไปไกลแล้วหลายเรื่อง ที่สำคัญคือผลกระทบกับพรรคก้าวไกล หากถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค โดยเฉพาะมีทั้งใน “แง่บวก” ที่จะได้กระแสความนิยมเพิ่มจากคะแนนสงสาร ถึงขั้นปั่นวลี “ตายสิบ เกิดแสน” ตัดไม้ข่มนามฝ่ายตรงข้ามกันเลยทีเดียว 

น้อยนักจะมีคนมองใน “แง่ลบ” ทั้งที่ความเป็นจริงมีหลายปัจจัยให้น่าวิเคราะห์ ต่อให้พรรคก้าวไกล กระแสแรงติดลมบนตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง มาจนถึงวันนี้ (จากโพลทุกสำนัก) ก็ตาม

ดังนั้นน่าคิดว่า จริงหรือไม่ หาก “ก้าวไกล” ถูก “ยุบพรรค” จะมีแต่ “ตายสิบ เกิดแสน” มีแต่จะทำให้พรรคเติบโต ไม่มีทางเล็กลงได้ เพราะคนจะมองว่าพรรคก้าวไกลถูกกระทำซ้ำซาก อะไรทำนองนั้น 

โดยเฉพาะ กรณี ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” (NIDA Poll) เคยให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักเอาไว้อย่างน่าสนใจ  

ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา แม้มีคนชอบพูดว่า ถ้าก้าวไกลถูกยุบพรรคจะโตขึ้นเหมือนกับตอนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่จริงๆ แล้วเราต้องดูบริบทของแต่ละเหตุการณ์

กรณีพรรคอนาคตใหม่นั้นเติบโตมาได้เพราะตอนนั้นพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนจึงเทมาที่พรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้อนาคตใหม่ได้ 80 กว่าเสียง ต่อมามีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดเป็นพรรคก้าวไกลซึ่งมีสมาชิกน้อยลง

จากนั้นเมื่อมีเลือกตั้งปี 2566 คะแนนจากการหาเสียงในช่วงแรกพรรคเพื่อไทยนำมาตลอด แต่ในช่วงเดือน เมษายน 2566 เมื่อพรรคก้าวไกลชูคอนเซ็ปต์ “มีเรา ไม่มีลุง” คะแนนก็เทมาที่ก้าวไกล

เนื่องจากประชาชนบางส่วนเลือกก้าวไกลเพราะเบื่อพรรคลุง แต่ถ้าถามว่า ยุบพรรคก้าวไกลมีผลต่อการเติบโตของพรรคส้มที่จะเกิดใหม่หรือไม่ ต้องบอกว่าต้องรอดูสถานการณ์เท่านั้น

“ในเมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีลุงแล้ว คนที่เลือกก้าวไกลเพราะเบื่อลุงจะเอายังไง เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เลือกก้าวไกลเฉพาะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วน ส.ส.เขต เขาจะเลือกพรรคที่ชอบ ถ้าเราดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์กับคะแนนเขตจะพบว่า การเลือกตั้งปี 66 พรรคก้าวไกลชนะได้เพราะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

แล้วถามว่า พรรคก้าวไกลหรือพรรคส้มที่จะเกิดขึ้นใหม่เติบโตได้จากอะไร ได้คำตอบว่าเติบโตจากคนรุ่นใหม่หรือนิวโหวตเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้นิวโหวตเตอร์ก็ไม่ได้เลือกก้าวไกลทุกคน คือคนอายุ 18 ซึ่งเริ่มมีสิทธิเลือกตั้งไปจนถึงอายุ 35 โดยเฉลี่ยเลือกก้าวไกล 60% แต่พออายุเพิ่มขึ้นความคิดเขาจะเปลี่ยน มีความ conservative มากขึ้น ดังนั้น อย่าคิดว่าคนที่เลือกก้าวไกลจะอยู่กับก้าวไกลหรือพรรคส้มตลอดไป เพราะพออายุเพิ่มขึ้น พอประสบการณ์มากขึ้น ความคิดจะเปลี่ยน

ดังนั้นต้องเทียบสัดส่วนระหว่างคะแนนที่ไหลเข้ากับคะแนนที่ไหลออกจากก้าวไกล ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไหลออกน้อยกว่าไหลเข้า” ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ให้เห็น 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุวิชา ยังวิเคราะห์ ปัญหาที่พรรคก้าวไกลจะต้องเจอในการเลือกตั้งครั้งหน้า 4 ประเด็น คือ

1.ในอนาคตข้างหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่จะน้อยลง ส่งผลให้คะแนนจากคนรุ่นใหม่มีน้อยลงด้วย

2.คนรุ่นใหม่ไม่ได้เลือกก้าวไกลทุกคน

3.เชื่อว่าก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่ที่มีแนวทางเดียวกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่จะไม่สุดโต่งเหมือนก้าวไกล และที่สำคัญไม่แตะเรื่อง ม.112 ซึ่งพรรคใหม่นี้จะมาแย่งชิงคะแนนของก้าวไกล และต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วในพรรคก้าวไกลก็มี ส.ส.ที่ไม่ได้อยากแตะเรื่อง ม.112 อยู่ไม่น้อย บางส่วนเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลเพราะชอบนโยบายอื่นๆ ขณะบางส่วนจำเป็นต้องสังกัดพรรคก้าวไกลเพราะอยากได้คะแนนคนรุ่นใหม่ และมองว่าพรรคกำลังมีกระแส

4.คนที่เลือกก้าวไกลเพราะไม่เอาลุง และคนที่ผิดหวังจากนโยบายของพรรคก้าวไกล คนสองกลุ่มนี้อาจเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะมีประมาณ 10%

“การเมืองไทยขึ้นอยู่กับกระแส ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า 5-10 ปีได้ ต้องประเมิน 5 วัน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง การเลือกครั้งที่ผ่านมาเชื่อว่าก้าวไกลพีกสุดแล้ว จากผลโพลเมื่อเดือน ธันวาคม2566 คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าก้าวไกลหรือพรรคส้มที่ตั้งขึ้นใหม่จะได้คะแนนไม่เกิน 200 ที่นั่ง คืออาจจะชนะเพื่อไทย แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของสภา แต่ถ้าเสียงปริ่มๆ 250-255 ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะอะไรก็พลิกได้ตลอด โอกาสที่ก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลนั้นยากมาก ก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลได้มีทางเดียวคือต้องแลนด์สไลด์มหาศาล และได้ไม่ต่ำกว่า 280 ที่นั่ง เพราะไม่มีพรรคไหนจับกับก้าวไกล แต่โอกาสที่พรรคส้มจะสูญพันธุ์ก็ไม่มีเช่นกัน พรรคส้มยังอยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งคุณธนาธร พ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้วก็ไม่แน่ว่าคุณธนาธร จะมีเสน่ห์เหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะตั้งแต่คุณพิธา มาเป็นหัวหน้าพรรค เด็กรุ่นใหม่ก็ลืมคุณธนาธรไปเลย ถ้าคุณพิธา ถูกตัดสิทธิแล้วคุณธนาธรกลับมา แต่เกิดมีคนรุ่นใหม่ที่หน้าตาดี พูดจาดี ปราศรัยเก่ง ตั้งพรรคการเมืองแบบก้าวไกลขึ้นมาเป็นคู่แข่ง เด็กก็อาจจะเทคะแนนไปพรรคใหม่ก็ได้” ผศ.ดร.สุวิชา ย้ำให้เห็น 

สำคัญไปกว่านั้น ผศ.ดร.สุวิชา วิเคราะห์ว่า การเติบโตของพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นได้เพราะการปั่นกระแส ดังนั้น พรรคก้าวไกลหรือพรรคส้มที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะขับเคลื่อนต่อไปได้ต้องอาศัย “การปั่นกระแส” อย่างต่อเนื่อง ถ้าหยุดปั่นกระแสเมื่อไหร่จบทันที หรือหากคนในพรรคไม่มี “แสง” ให้ปั่นกระแสก็จบทันทีเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่า ตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นายธนาธรถูกตัดสิทธิทางการเมือง และมีการตั้งพรรคก้าวไกลขึ้นมาแทนนั้น จากผลโพลคะแนนนิยมของนายพิธา ซึ่งเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอยู่ที่ 7% เท่านั้น โดยต้องใช้เวลาถึง 1 ปี คะแนนนิยมจึงขึ้นมาเป็น 11% และขึ้นมาเรื่อยๆ จนเดือน ธันวาคม 2566 คะแนนนิยมของนายพิธา ขึ้นมาอยู่ที่ 38-39% ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลถูกยุบและนายพิธาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ก็ยังไม่รู้ว่า คนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งตั้งขึ้นใหม่แทนก้าวไกลจะมีคะแนนนิยมมากน้อยแค่ไหน คะแนนจะพุ่งพรวดขึ้นมาเลย หรือจะค่อยๆ มีกระแสเพิ่มขึ้นทีละน้อยเหมือนนายพิธา

อีกกรณีที่พ่วงมากับคดียุบพรรคก้าวไกล ก็คือ กรณีมีผู้ยื่นเรื่องต่อ “ป.ป.ช.” (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง “ส.ส.”จำนวน 44 คน ของพรรคก้าวไกล กรณีร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งคดีนี้มีโทษหนักถึง “เว้นวรรค” การเมืองตลอดชีวิต และ ป.ป.ช.ก็อยู่ระหว่างดำเนินการคู่ขนานด้วยเช่นกัน  

เรื่องนี้ ผศ.ดร.สุวิชา หยิบยกมาวิเคราะห์ด้วยว่า ถ้า 44 ส.ส.ของพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ส.ส.ที่เหลือส่วนหนึ่งจะไหลไปอยู่พรรคอื่น และมีบางส่วนที่ยังอยู่กับพรรคส้มที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคส้มที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจะมีใครขึ้นมาทดแทนแกนนำแถวหน้าที่ถูกตัดสิทธิไป

คนเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างไร สามารถปั่นกระแสหรือมีแสงในตัวให้ปั่นหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้พรรคส้มอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงว่า หากไม่สามารถปั่นกระแสได้พรรคอาจจะไม่โตเหมือนเดิม คือต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลเกิดขึ้นได้เพราะกระแสล้วนๆ ส.ส.ก้าวไกลที่ได้รับเลือกมาเพราะกระแส ดังนั้น ต้องปั่นกระแสอยู่เรื่อยๆ

และจะปั่นกระแสได้ต้องมีแกนนำหรือหัวหน้าพรรคที่มีแสงพอที่จะปั่นกระแสเพื่อช่วยฉุดคะแนนนิยมของทั้งพรรคขึ้นมาได้ ถ้าคุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) หรือคุณไหม (ศิริกัญญา ตันสกุล) ยังอยู่ก็พอปั่นกระแสได้ ถ้าไม่อยู่จะหาใครมาแทน เมื่อพรรคก้าวไกลเกิดได้เพราะกระแส หยุดปั่นเมื่อไหร่ หรือปั่นไม่ขึ้นเมื่อไหร่ก็จบ หรือถ้ามีพรรคใหม่ที่ปั่นกระแสได้ดีกว่าก้าวไกล ก็จบเหมือนกัน....

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย “ยุบพรรคก้าวไกล” คณะกรรมการบริหารพรรคกว่า 10 คน ก็จะถูกเว้นวรรคทางการเมือง หรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 10 ปีด้วย 

นั่นเท่ากับว่า แกนนำและส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค จะหายไปจำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน นี่ยังไม่นับว่า 44 ส.ส.ที่ถูกร้องป.ป.ช.เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง จะถูกเว้นวรรคทางการเมืองตลอดชีวิตกี่คน หรือทั้งหมดด้วย

สำหรับ “พิธา” ที่ถือว่า เป็น “แม่เหล็ก” ตัวจริง และเป็น “แสง” ที่พรรคก้าวไกล ได้อานิสงส์ “นายกฯคนรุ่นใหม่” มาตลอด นอกจากหากถูกยุบพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และถ้าถูกเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีมีชื่อร่วมเสนอแก้ ป.อาญา ม.112 ก็อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่นั้น 

ยังอาจหมดสิทธิ์ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ด้วย ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ก็ตาม 

เนื่องจากศาลแขวงปทุมวัน มีคำพิพากษา จำคุก 4 เดือนโดยรอลงอาญา 2 ปี ต่อแกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า คดีแฟลชม็อบ  

โดย รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก จากมหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ระบุว่า นายพิธา จะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7)  ซึ่งคุณสมบัติตามมาตราดังกล่าวมีความเข้มข้นมากกว่ามาตรา 98

“ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ระบุว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดียังไม่ถึงที่สุด แม้จะมีการรอลงอาญาก็ตาม ทำให้เป็นรัฐมนตรีหรือเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้แล้ว” รศ.เจษฏ์ ชี้ให้เห็น 

อย่างนี้ ใครที่ยังคิดว่า การยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้ “ตายสิบ เกิดแสน” เห็นทีคงต้องคิดใหม่ เพราะโอกาสที่เป็นไปได้อาจแค่ “วาทกรรม” สวยหรูเท่านั้น หรือไม่!?