'ก้าวไกล' สู้หมดหน้าตัก เฮือกสุดท้ายคดียุบพรรค
ในที่สุดคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่ง “กกต.” เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย ก่อนมีคำวินิจฉัย วันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึง
ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่า ผลจะออกมาอย่างไร เป็นคุณ หรือ เป็นโทษกับพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวกพรรคส้มทั้งหลาย คงลุ้นกันตัวโก่ง
แต่ก่อนที่จะไปถึงวันที่ 7 สิงหาฯ ก็นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีการเคลื่อนไหวจากพรรคก้าวไกล ต่อคดีนี้อย่างคักคัก พูดได้ว่า มีอาวุธอะไรนำออกมาสู้จนหมด
นับแต่ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคดังกล่าว
เริ่มจากนายชัยธวัช แถลงถึงข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล 9 ข้อ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า
หนึ่ง - ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย สอง - การยื่นคำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สาม - คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567(คดีก้าวไกลล้มล้างการปกครองฯ) ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
สี่ - นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล ห้า -การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หก - ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล เจ็ด - แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค แปด -การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ
และ เก้า –การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
“ชัยธวัช” อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ามีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เราขอยืนยันว่า กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ไปเพิ่มขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นี่จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำคำวินิจฉัยคดี 3/2567 หรือคดียุบพรรคอนาคตใหม่มาเป็นบรรทัดฐาน หรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในคดีนี้ได้
ส่วน การยื่นคำร้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) “ชัยธวัช” เห็นว่ามิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่รับฟังคู่ความคดีทุกฝ่าย ถือไม่เป็นผล ขอยืนยันว่า เมื่อพิจารณาในหลักของความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ทั้งในแง่มูลเหตุและข้อเท็จจริง ย่อมชัดเจนว่า ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ 3/2567 มาผูกพันในคดีนี้ได้
สำหรับข้ออ้างที่ กกต.กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การนำผลคำวินิจฉัยคดีก่อนมาปิดปากวินิจฉัยคดีนี้ จะต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่า หรือระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย
“ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กกต.ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า ข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตัวเองเสนอต่อศาล โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย”
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ชี้แจงเกี่ยวกับการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้โยงให้เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน 2 ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้
พร้อมกับชี้ว่า การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...
“พิธา” กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย
แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ในการสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง หรือพรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพ และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย
“ในฐานะผู้ถูกร้องขอเรียนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก และจักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ”
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ก่อนที่จะมีคำตัดสินยุบพรรค โดยพรรคก้าวไกลได้ปล่อยคลิปปลุกเร้าสาวกอย่างหนัก
กรณีเพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล(28 ก.ค.67) ปล่อยคลิปวิดีโอเชิงสารคดี ความยาว 7.52นาที เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 7 สิงหาคมนี้ พร้อมข้อความระบุว่า
คดียุบพรรคที่ #ก้าวไกล กำลังเผชิญอยู่ ย่อมไม่ต่างกับสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญเมื่อ 4ปีที่แล้ว หรือพรรคการเมืองต่างๆ เจอมาในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
การยุบพรรคอาจจะยุบได้แค่องค์กรนิติบุคคล แต่ไม่สามารถหยุดชุดอุดมการณ์เช่นนี้ได้ และเราจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้น กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล (30 ก.ค. 2567) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เรื่องนี้
“ปิยบุตร” ระบุว่า การที่สื่อมวลชน และนักวิเคราะห์ ต่างให้ความสนใจแต่ประเด็นที่ว่า เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบแล้ว ใครจะขึ้นมาเป็นแกนนำพรรคถัดไป จะมี ส.ส.ย้ายไปพรรคอื่นกี่คน โดยไม่ได้สนใจเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ กกต. การต่อสู้คดี ประเด็นกฎหมาย หรือ การยุบพรรคแบบที่ทำกันนี้ถูกต้องหรือไม่?
กรณีเช่นนี้ สะท้อนอะไร?
1. การยุบพรรคในประเทศนี้ ไม่มีใครสนใจเรื่องกฎหมาย เรื่องหลักการกันแล้ว
2. การยุบพรรคในประเทศนี้ กลายเป็น เครื่องมือของ “นิติสงคราม” โดยสมบูรณ์
3. วิเคราะห์การเมืองว่าใครเป็นแกนนำ ใครย้ายพรรค สนุกกว่าเยอะ ดราม่ากว่าเยอะ สื่อสารง่ายกว่าเยอะ ไม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายยากๆ
4. ทำข่าวง่ายดี แค่เอาไมโครโฟนไปไล่ถาม ส.ส.พรรคก้าวไกล แล้วไม่ต้องมาเสี่ยงเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เสี่ยงโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล
ถ้าปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังคงดำเนินต่อไป อาวุธที่ชื่อ “ยุบพรรค” ก็ยังคงมีอานุภาพต่อ....
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า “ปิยบุตร” มีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรคก้าวไกลอย่างสูง โดยเฉพาะประเด็นเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112
ทั้งหลายทั้งปวงเห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกล เทหมดหน้าตักเพื่อสู้คดียุบพรรคครั้งนี้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร คำแถลงปิดคดี และการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ต้นจนวินาทีสุดท้ายจะมีผลหรือไม่ อีกไม่นานจะได้รู้กัน