พลิกความเสียใจเป็นการเรียนรู้ถอดบทเรียนยุบพรรคการเมือง

พลิกความเสียใจเป็นการเรียนรู้ถอดบทเรียนยุบพรรคการเมือง

คอการเมืองลุ้นหนักมากกับคดียุบพรรคก้าวไกลเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) ผลออกมาเป็นไปตามที่หลายคนคาด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกลเนื่องจากมีพฤติการณ์อันอาจเชื่อได้ว่าปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ

สมัยเรียนวิชาพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน อาจารย์สอนว่า พรรคการเมืองเมื่อไม่มีใครเลือกก็ฝ่อไปเอง แต่สมัยนี้ไม่ใช่และการยุบพรรคก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เป็นกลไกที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ 

ผลลัพธ์แบบนี้แน่นอนว่าแฟนคลับมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ความเจ็บแค้น เสียอกเสียใจนั้นมีแน่ แต่จะแสดงออกมามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับอีคิวของแต่ละคน บางคนเลือกที่จะเกรี้ยวกราดกับคนที่เลือกต่างพรรค อันนี้เข้าใจได้เพราะประชาชนเลือกพรรคใดมาย่อมรู้สึกรัก หวงแหน  พรรคการเมืองและนักการเมืองนั้นคือตัวแทนของตน โหวตเตอร์ก็ไม่อยากให้โดนรังแก ถ้าเอาความรู้สึกนี้เข้าไปจับคาดว่า ประชาชนไทยคงเสียใจกันค่อนประเทศ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคการเมืองไทยถูกยุบ 

นับตั้งแต่การประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ถึง 7 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญยุบไปแล้ว 111 พรรค รวมก้าวไกลด้วย ถ้าจะไล่ชื่อที่เด่นๆ มีทั้งไทยรักไทย ชาติไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ

หากนับเฉพาะพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดนไปแล้วสามพรรค อนาคตใหม่/ก้าวไกลโดนไปแล้วสองพรรค กรรมการบริหารพรรคโดนตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วมากมาย คนที่ควรจะเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันมากที่สุดคือแฟนคลับพรรคเพื่อไทยและแฟนคลับก้าวไกล ทั้งสองกลุ่มนี้เคยเป็นแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยกันมาก่อน 

ลองนึกภาพสมัยรัฐบาลรัฐประหารจัดกิจกรรมทางการเมืองที่ไหนป้าๆ ไปกันพรึ่บ ช่วงหลังเด็กๆ ออกมามีบทบาทป้าๆ ก็ไปสนับสนุนกันเต็มที่ แต่พอมีการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งเด็กทั้งป้าแตกกันไปคนละทาง การเมืองสร้างความแตกแยกสุดๆ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่เว้น คนอเมริกันแตกกันในทุกเรื่อง  ไม่เช่นนั้นแล้วมือปืนหนุ่มคงไม่มาลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์กลางเวทีหาเสียง  น่าจะมีเรื่องเล่นงานจีนเรื่องเดียวที่ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นตรงกัน 

การเสียใจเมื่อพรรคการเมืองที่เราเลือกถูกยุบนั้นเป็นเรื่องที่ธรรมชาติ แต่ไม่ควรมีใครดีใจที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งถูกยุบ การเยาะเย้ยหรือเกรี้ยวกราดใส่คนคิดต่างไม่ใช่เรื่องพึงทำภายใต้สถานการณ์ที่ไทยเริ่มกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การติดตามการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะ

ถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากอะไรแก้ไขที่ตรงนั้น พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พลิกความเสียใจเป็นการเรียนรู้ ขออย่างเดียวโหวตเตอร์ทุกพรรคการเมืองอย่าเพิ่งถอดใจแล้วไปทะเลาะกันเสียก่อน