อนาคตพรรคประชาชน บนจุดอ่อนเดิม 'ก้าวไกล'

อนาคตพรรคประชาชน บนจุดอ่อนเดิม 'ก้าวไกล'

ชั่วเวลาอันรวดเร็ว ทันใจสาวกพรรคส้ม ส.ส.ทั้งหมดของอดีตพรรคก้าวไกล 143 คน ก็ย้ายเข้ารัง“พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน” ซึ่งถูกใช้ชื่อนี้ในการเมืองไทยมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ก่อนถูกยุบในสถานการณ์การเมืองที่แตกต่างกัน จนที่สุด มาเป็นสังกัดใหม่ของ สส.อดีตพรรคก้าวไกล

เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัย ยุบพรรคก้าวไกล และเว้นวรรคทางการเมือง หรือ ตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งและตั้งพรรคใหม่ของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี คดีมีความพยายามแก้ไข ป.อาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของ พรรคประชาชน ในปัจจุบัน ยังมีแค่ 5 คน ประกอบด้วย

  • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค,
  • ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค,
  • ชุติมา คชพันธ์ เหรัญญิกพรรค,
  • ณัฐวุฒิ บัวประทุม นายทะเบียนพรรค,
  • พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค

ไม่ปรากฏชื่อคนเด่น คนดัง ตามที่คาดเดา แม้แต่ “ใหม่” ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่มีชื่อในกรรมการบริหารพรรคชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ในคณะกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว มี 2 คนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เพราะมีความใกล้ชิด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 

คนแรก “ส.ส.เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ซึ่งขณะฟอร์มรัฐบาลก้าวไกล ถูกคาดหมายจะได้นั่งรัฐมนตรี “ดีอีเอส” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นเจ้าของวลีติดปากในสภาฯ “ไอ้เท้งเอาตายแน่!”

“ณัฐพงษ์” ปัจจุบันอายุ 37 ปี อดีตเป็นรองเลขาธิการ ฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล พรรคก้าวไกล ผู้ประกาศนโยบาย “เทคโนโลยีเปลี่ยนประเทศ” เป็นหัวเรือใหญ่ชุมชน “ก้าว Geek” ผู้สร้างคอมมูนิตี้บนแพลตฟอร์ม Discord สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดจากพรรคการเมือง และไอเดียพัฒนาวงการเทคโนโลยีไทย 

ด้าน การศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนทวีธาภิเศก จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนเข้าสู่การเมือง เคยเป็นผู้บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท เมเนจเม้นท์ โซลูชั่นส์ จำกัด

เข้าสู่การเมือง จากการได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. กทม. เขตเลือกตั้งที่ 28 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ “ณัฐพงษ์” ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล และได้เป็นกรรมาธิการงบประมาณ ในปี 2562 ถึง 2566

 

ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 “ณัฐพงษ์” ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็น ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ ด้วย 

อีกคนคือ “ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก เพื่อนสนิทสมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาของ “ธนาธร” ที่เป็น เลขาธิการพรรค หรือ “แม่บ้านพรรค” เพื่อบริหารจัดการงบฯ เจรจา ต่อรองทางการเมือง และแน่นอนเขาคือคนที่จะเชื่อมต่อกับ “ธนาธร” นั่นเอง 

เมื่อผ่านขั้นตอนย้ายสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 60 วันของส.ส.พรรคก้าวไกล หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

ประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ อนาคตอดีตพรรคก้าวไกลในสีเสื้อพรรคประชาชน จะยังคงอุดมการณ์เดิมในการต่อสู้กับอำนาจอนุรักษ์ และมีหมุดหมายเดิมในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และเปลี่ยนแปลงประเทศอยู่หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ “ณัฐพงษ์” ซึ่งถ้าดูจากการแถลงข่าว ภารกิจของเขาและพรรค คือ สร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2570 โดยมีเป้าหมายที่สูงยิ่งขึ้น คือ ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และยังมีหลายงานต้องทำตั้งแต่สร้างพรรค ปรับปรุงโครงสร้างพรรค หาเงินบริจาค และหานโยบายมัดใจประชาชน

“เป้าหมายขั้นต่ำของพวกเรา เราจะชนะเลือกตั้งโดยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว”

สำหรับเรื่องการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 “ณัฐพงษ์” กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้พวกเขาต้องเซ็นเซอร์หรือปิดปากตัวเอง เพราะเสนอตามหลักการ “ไม่ได้ต้องการเซาะกร่อน บ่อนทำลายแต่อย่างใด” ดังนั้น ทางพรรคจะเดินหน้าทุกอย่างต่อโดยไม่ประมาท

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยสื่อสารว่าเรามีการลดเพดานอะไร เรายืนยันแน่ชัดที่สุดว่า เราเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม. 112 เพื่อปรับปรุงกฎหมายนี้ไม่ให้มีปัญหา ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่ได้มีการสั่งห้ามการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แน่นอนที่สุดเราต้องไม่ประมาท ทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แทบไม่ต้องสงสัยว่า “ปม” แก้ไข ป.อาญา ม.112 จะยังคงเป็น “อุปสรรค” ในทางการเมืองของพรรคประชาชน ไม่ต่างจากอดีตพรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ยิ่งการส่งไม้ต่อ “ผู้นำพรรค” ยังอยู่ใต้เงาของ “ธนาธร” ต่อให้พรรคใหม่ชื่ออะไร ผู้คนก็ยังคงเห็นภาพ “ธนาธร” อยู่เบื้องหลังอยู่ดี  

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์อยู่ที่ พรรคประชาชน ร่างใหม่ของพรรคก้าวไกล จะเดินหน้าทางการเมืองอย่างไร หลังศาลรัฐธรรมนูญ ตีเส้นให้สามารถแก้ไข ป.อาญา ม.112 แคบลง และต้องตีความอย่างรอบคอบว่า ทำได้แค่ไหนด้วย 

โดยเฉพาะในคำวินิจฉัย คดีล้มล้างการปกครองฯตอนหนึ่งที่อาจแก้ได้ “ผ่านกระบวนการโดยชอบในรัฐสภา” และนี่เอง ที่หลายคน รวมทั้งผู้บริหารพรรคประชาชน ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไข เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้อง 

พูดง่ายๆ ก็คือ การเสนอแก้กฎหมาย สามารถทำได้เท่าที่การบังคับใช้มีปัญหา และผ่านกระบวนการรัฐสภาเท่านั้น ไม่มีการเคลื่อนไหวปลุกมวลชนกดดัน หรือ มีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ด้อยค่าต่างๆนานา อย่างที่ผ่านมา 

กระนั้น ประเด็นที่น่าตั้งคำถามก็คือ ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลในอดีต จนมาถึงพรรคประชาชนในขณะนี้ ต้องการแก้ไข ป.อาญา ม.112 เพราะเป็นปัญหาการบังคับใช้จริงหรือไม่ หรือ เพราะเป็นปราการด่านสำคัญ ในการปกป้องสถาบันฯ

กรณีเป็นปัญหาการบังคับใช้ ก็คือ มีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจัดการกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อย่างที่มีการอ้าง ประเด็นก็คือ ถ้าไม่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย จะใช้กลั่นแกล้งได้หรือไม่? หรือไม่มีมูลเหตุอะไรเลย ถ้ากลั่นแกล้งไม่ได้ แสดงว่า ตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหาหรือไม่?

ประเด็นต่อมา ต้องการแก้ ป.อาญา ม.112เพราะเป็นปราการด่านสำคัญ ในการปกป้องสถาบันฯ กรณีนี้ต้องมีคน กลุ่มบุคคล หรือ นักการเมือง ต้องการ “พาดพิง” หรือ ถ้าพูดในภาษาของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ก็คือ จ้องจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ จึงต้องการทำลายล้างปราการด่านสำคัญนี้ลง เพื่อให้สามารถ “พาดพิง” จนเข้าข่ายจาบจ้วงล่วงละเมิดได้ง่ายหรือไม่?  

มาถึงตรงนี้ คงต้องย้อนไปดู อะไรที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง ของความต้องการแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งริเริ่มมาจากนักวิชาการบางกลุ่ม ต่อมานักวิชาการกลุ่มนี้บางคนร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกันขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางขานรับนอกสภาฯ สู่การแก้ไขในสภาฯ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการเคลื่อนไหวปลุกมวลชนลงถนน โดยหนุนนักศึกษาเป็นแกนนำ และสาวกทางการเมืองเป็นแนวร่วมในการชุมนุมประท้วง 

ยิ่งเมื่อมีประเด็น “แหลมคม” ทางการเมือง อย่างกรณี “ยุบพรรค” ไม่ว่า สาเหตุจะเป็นการทำผิดกฎหมายของพรรคการเมืองเอง แต่สิ่งที่กล่าวอ้าง ก็คือ มี “ใบสั่ง” โดยพุ่งเป้าไปที่เผด็จการ เพื่อชี้เป้าให้เป็นเป้าโจมตี แล้วเมื่อแกนนำมวลชนล้ำเส้นทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ ป.อาญา ม.112 จึงมาเข้าทางสิ่งที่เตรียมเอาไว้ตั้งแต่ต้น 

คำถามคือ อยู่ดีๆ จะมีใครกลั่นแกล้งหรือไม่?

สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อเท็จจริงทางสื่อมวลชน และประชาชนคนไทยที่ติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิดต่างรู้เห็นมาตลอด จะมีก็แต่นักวิชาการบางกลุ่ม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สาวกทางการเมือง เท่านั้น ที่เอียงข้างเพื่อผลทาง “ยุทธศาสตร์” หรือ บรรลุเป้าหมายเดียวกัน 

ดังนั้นไม่แปลก พรรคประชาชน จะยังคงผลักดันแก้ไข ป.อาญา ม.112 แม้ได้บทเรียนมาแล้วจากกรณียุบพรรคก้าวไกล นั่นไม่ใช่ยืนหยัดเพื่อแก้ปัญหาแต่อย่างใด หากแต่มันคือ “รากที่มา” ก่อเกิดเป็นพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล จนถึง ประชาชน นั่นเอง 

เมื่ออดีต ปัจจุบัน เป็นอย่างนี้ อนาคตของพรรคประชาชน ก็คงไม่ต่างกัน ไม่ต่างตรงที่มี “จุดอ่อน” เดิม คือ ปมแก้ไข ป.อาญา ม.112 และหมกมุ่นอยู่กับการหาทางแก้ไข จนไม่เป็นอันหันไปมองปัญหาประชาชน ทำหน้าที่เพื่อให้สมกับที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา 

เพราะอย่าลืม ถ้าหมุดหมายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ใช่ความทุกข์ร้อนของประชาชน แต่เป็นความต้องการแก้ไข ป.อาญา ม.112 ก็ลองคิดดูว่า อะไรสำคัญกว่ากัน แล้วถ้าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ประชาชนจะอยู่อย่างไร? เพราะปัญหาเร่งด่วนไม่ใช่ความเดือดร้อนของประชาชน แต่หลอกเอาเสียงประชาชนมาต่อสู้เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเท่านั้น

ที่สุด แม้ว่าเลือกตั้งครั้งหน้า สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ รัฐบาลก็คงวุ่นวายอยู่กับแก้ไข ป.อาญา ม.112 หรือไม่ เพราะแม้ในรัฐสภา จะมีเสียงข้างมาก จนไม่อาจขวางได้ แต่อย่าลืมในประเทศนี้ ยังมีกลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ เขาจะปล่อยไปอย่างง่ายดายหรือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?