'พริษฐ์' แจงหลังถกประธานศาล รธน. ประชามติ 2 ครั้ง ทำตามโรดแมปไร้ปัญหา

'พริษฐ์' แจงหลังถกประธานศาล รธน. ประชามติ 2 ครั้ง ทำตามโรดแมปไร้ปัญหา

'ไอติม พริษฐ์' แจงหลังถก 'ประธานศาลรัฐธรรมนูญ' ได้คำตอบทำประชามติแก้ รธน. 2 ครั้ง รอหาคิวถกประธานรัฐสภาต่อ หวังทบทวน 27 พ.ย. มั่นใจถ้ายึดตามโรดแมป ไร้ปัญหา

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. บริเวณหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ความเห็นที่ออกมาจึงไม่ใช่ความเห็นที่เป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้พบกับตุลาการทั้งคณะ แต่เข้าพบกับแค่ประธานศาลรัฐธรรมนูญฃและผู้เข้าร่วมประชุม สิ่งที่พูดคุยกันจึงเป็นความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่ความเห็นของทั้งองค์คณะ โดยจัดการหารือพบว่าเราได้มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งระบุไว้ชัดไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่ามีการพูดถึงประชามติ 2 ครั้ง คือ 1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง การหารือกันของความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแสดงความเห็นว่า จะมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการทำประชามติทั้งก่อนและหลัง ขั้นตอนจะเป็นเช่นไร เป็นสิ่งที่ทางรัฐสภาต้องตัดสินใจร่วมกัน แต่ข้อเสนอที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เคยพูดมาก่อนหน้านี้ คือให้ทำประชามติ 2 ครั้งโดยใช้วิธีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป หากผ่าน 3 วาระ ของรัฐสภาแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติครั้งแรก เพื่อถามว่าประชาชนเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ก่อนจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามว่าประชาชนจะเห็นชอบกับเนื้อหาที่ถูกจัดทำมาในฉบับใหม่หรือไม่

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า จากการหารือก็ดูแล้วเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ดังนั้น ก็จะนำแนวทางนี้ไปหารือกันประธานรัฐสภาในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหวังว่าประธานรัฐสภาจะได้มีการทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้มีการพิจารณามุมมองต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และถ้าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากทางรัฐสภามาได้ ก็จะมีการจัดทำประชามติหลังจากที่ผ่านวาระที่ 3

เมื่อถามว่าผลการหารือในครั้งนี้ทำให้มั่นใจมากขึ้นหรือไม่ว่า หากมีผู้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัย การวินิจฉัยก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ นายพริษฐ์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าการหารือไม่มีใครแสดงความคิดเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ก็พูดถึงการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง แต่ 2 ครั้งจะเกิดขึ้นตอนไหน อย่างที่บอกว่าพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เสนอไปก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าผลของการหารือดังกล่าวจะนำไปสู่การพูดคุยกับทางสภาให้ทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คิดว่าทางรัฐสภาก็จะเดินหน้าพิจารณาได้ แต่แน่นอนว่าเป็นสิทธิบางกลุ่ มอาจจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะไปคาดการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์คำวินิจฉัยที่จะออกมาคงไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าผลที่ออกมาจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

เมื่อถามว่า นอกจากเรื่องดังกล่าวได้มีการหารือเรื่องอื่นๆที่ยังติดใจอยู่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่หารือเป็นหลักคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และคิดว่าการที่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการที่จะทำให้เราสามารถจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทำต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สภาจะเสนอให้มีการตีความว่า กฎหมายประชามติเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องไปดูในรายละเอียดตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่นายชูศักดิ์เสนอ จึงขอไม่ให้ความเห็น แต่ถ้ามีการเสนอพรรคประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองในสภาก็ต้องมีความเห็นในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในภาพรวมขณะนี้หลายคนก็กังวลใจว่า เมื่อข้อสรุปของกมธ.ร่วมเห็นชอบร่างของส.ว. เมื่อส่งกลับมาที่ส.ส. สภาอาจยืนยันในหลักการเดิม คือใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นร่างพ.ร.บ.ประชามติจะต้องถูกชะลอไป 180 วัน ซึ่งถ้าจะยึดตามแผนเดิมให้มีประชามติ 3 ครั้ง และจะไม่จัดครั้งแรก จนกว่าพ.ร.บ.ประชามติจะแก้ไขเสร็จสิ้น แน่นอนว่าก็จะกระทบต่อกรอบเวลา

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า แต่ถ้าผลสรุปที่ได้จากวันนี้สามารถทำให้เราโน้มน้าวทุกฝ่าย หันมาใช้โรดแมปในการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็คิดว่าพ.ร.บ.ประชามติจะล่าช้า จะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว เพราะถ้าเราทำประชามติ 2 ครั้งขั้นตอนแรกไม่ใช่เป็นการจัดทำประชามติเลย แต่เป็นการรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับส.ส.ร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน 3 วาระของรัฐสภา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในระดับหนึ่ง แต่หากเราดำเนินการตามขั้นตอนแบบนี้ 6 เดือนที่ชะลอไปก็คงจะไม่กระทบไทม์ไลน์ตรงนี้ พูดง่าย ๆ คือถ้าเราไม่อยากให้ ให้ความล่าช้าของ พ.ร.บ.ประชามติเป็นปัญหา ก็หันมาใช้กลไกหรือโรดแมปประชามติ 2 ครั้งก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี