ผ่ายุทธศาสตร์ ‘ส้ม’ รบ ‘แดง’ เดินเกม ‘3 ขา’ รุกกลับรัฐบาลเพื่อไทย
"...ทั้งหมดคือ แผนการเดินเกมยุทธศาสตร์ “3 ขา” ของ “ค่ายส้ม” หลังสะบั้นสัมพันธ์พันธมิตรชั่วคราวจาก “ค่ายแดง” เพราะถูกล่มทั้งการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา..."
KEY
POINTS
- พลันที่ “ธนาธร-ทักษิณ” เปิดฉาก ท้ารบกันระหว่าง “ค่ายส้ม-แดง” อย่างเป็นทางการ
- ว่ากันว่า “ค่ายส้ม” จัดแผนยุทธศาสตร์ “3 ขา” ชิงกระแสการเมือง
- “ขามั่นคง” ชำแหละ “คดีตากใบ” เจาะแผล “ลายพราง-สีกากี-ปัญหาเมียนมา”
- “ขาเศรษฐกิจ” โฟกัสจุดตาย “แจกเงินดิจิทัล-มาตรการกระตุ้น”
- “ขาการเมือง” กรุยทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ตรากฎหมายนิรโทษกรรม
นับตั้งผลการศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ถูกตีตกจากสภาฯ โดยมี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำหลักเสียงข้างมาก “โหวตคว่ำ” ญัตตินี้ ทั้งที่ตัวเองเป็นแกนนำขับเคลื่อนมาโดยตลอด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “ค่ายส้ม” และ “ค่ายแดง” ขาดสะบั้นลงอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ มีความพยายาม “พักรบ” มาเป็น “พันธมิตรชั่วคราว” เพื่อหวังผลักดันร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” พร้อมด้วยแพ็กเกจการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่บางมาตรา เพื่อหวังเปิดประตูไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร และมรดกของ คสช.ทุกรูปแบบ ก็ตาม
ทว่า อิทธิฤทธิ์ของ “คนหลังม่าน-มือมืดหลังฉาก” ส่งสัญญาณเตือนแรงๆ ไปยัง “ค่ายสีแดง-นายใหญ่” ทั้งประเด็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำเอาเกิดอาการขวัญผวา หวั่นพรรคจะถูกยุบอีกเป็น ครั้งที่ 3 จึงทำให้ “ค่ายแดง” ยอมถอย ล้มทั้งการศึกษานิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “ค่ายส้ม” กลับมาเป็นฝ่ายรุก วิพากษ์วิจารณ์ และโจมตี “รัฐบาลเพื่อไทย” อย่างหนักอีกครั้ง โดยจำแนกยุทธวิธีออกมาได้ 3 ขา ได้แก่
ขาแรก ด้านความมั่นคง เริ่มจากการชำแหละ “คดีตากใบ” ที่มีอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในจำเลยสำคัญ แต่กลับไม่มาฟังคำพิพากษา แม้ว่าศาลจะออกหมายจับ ก็ตามจับไม่ทันตามอายุความ ส่งผลให้ “คดีตากใบ” ต้องรูดม่านปิดฉากลง โดยจับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดไม่ได้แม้แต่คนเดียว
ผลพลอยได้ของเรื่องนี้ นอกจากจะได้ใจมวลชน-แฟนคลับแล้ว ยังมีสิทธิลุ้นคะแนนเสียง “สวิงโหวต” และแย่งฐานเสียงจากพรรคอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นของตัวเองได้เพิ่มขึ้นอีก ต้องไม่ลืมว่าในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส “พรรคก้าวไกล” (ชื่อขณะนั้น) เก็บคะแนน “ปาร์ตี้ลิสต์” รวมเกิน 2 แสนเสียง และอยู่ลำดับ 2 ในทุกเขตของ 3 จังหวัดดังกล่าว
นอกจากเรื่องนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ “สีกากี-ลายพราง” โดยเฉพาะ “ทหารเกณฑ์” ที่บรรดา สส.พรรคส้ม พยายามเก็บหลักฐาน ทั้งเรื่องการซ้อม ทำร้ายร่างกาย หรือสั่งการผิดวัตถุประสงค์ นำมาขยายผล ออกสื่อ หวังดิสเครดิต “กองทัพ-รัฐบาล” ให้มาใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงฝั่ง “ตำรวจ” ที่มุ่งเน้นนโยบายด้านปฏิบัติการ โดยเฉพาะกลุ่ม “จีนเทา” ที่ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปหลายครั้งก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันยังโฟกัสถึงปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ เช่น นโยบายระหว่างเมียนมา ซึ่งนำโดยรัฐบาลทหาร กับรัฐบาลไทย เป็นต้น โดย สส.พรรคส้ม กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สายความมั่นคง นำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม และรอมฎอน ปันจอร์ เป็นต้น
ขาต่อมา นโยบายเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา ผ่านนายกฯ มา 2 คน ทั้ง “เศรษฐา ทวีสิน” มาสู่ “แพทองธาร ชินวัตร” แต่รัฐบาลที่นำโดย “เพื่อไทย” ก็ยังไม่มีนโยบายทางเศรษฐกิจใดๆ ที่จะโดนใจประชาชนได้ แม้แต่นโยบายเรือธงอย่าง “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ก็มีการปรับเปลี่ยน แบ่งจ่าย 2 ล็อต ซึ่งล็อตแรกเบิกจ่ายให้แก่กลุ่มเปราะบาง คนพิการ ไปแล้ว แต่ล็อต 2 นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะจ่ายได้เมื่อไหร่ และใครเข้าเงื่อนไขบ้าง
โดย สส.พรรคส้ม ที่นำประเด็นเศรษฐกิจมา “ขยายผล-ขยายแผล” อย่างต่อเนื่อง นำโดย “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ซึ่งเธอคือหนึ่งใน “สัญลักษณ์” พรรคส้มโฉมใหม่ และยังได้รับคะแนนความนิยมสูงสุด จากโพลหลายสำนักที่ผ่านมา แซงหน้า “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. อย่างไม่เห็นฝุ่น นั่นจึงทำให้การขยับตัว หรือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลจากปากเธอ บรรดาแฟนคลับสีส้ม ย่อมขบคิด และเชื่อตาม
ขาสุดท้าย ด้านการเมือง นำโดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรค ปชน. หัวหอก “ดาวโรจน์สีส้ม” ที่กำลังเติบโต ได้รับความไว้วางใจจาก “กลุ่มเพื่อนเอก” และมีอิทธิพลพอสมควรภายในพรรค กำลังเดินเกมการเมืองต่อยอด “ปักธงความคิด” อย่างต่อเนื่อง
ทั้งประเด็นการต่อยอดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการตราร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ที่ยังมีอดีตแกนนำพรรคส้มสนับสนุนทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชัยธวัช ตุลาธน เป็นต้น
สงครามครั้งนี้ถูกเปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ พลันที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้นำทางจิตวิญญาณค่ายแดง วิจารณ์ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ศาสดาสีส้ม บนเวทีปราศรัยหาเสียงนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อสัปดาห์ก่อน นำไปสู่การตอบโต้อย่างตรงไปตรงมาจาก “ธนาธร” และบรรดา “แกนนำค่ายส้ม” เช่นกัน หลังจากนั้นเกิด “ข่าวปิงปอง” ตอบโต้กันไปมาระหว่าง 2 ฝ่ายจนถึงปัจจุบัน
ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบัน ปชน.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “สอบตก” กับผลงานการเป็น “ฝ่ายค้าน” เห็นได้จากผลโพลหลายสำนักที่ผ่านมา นั่นจึงทำให้การเดินเกมครั้งนี้ มีเดิมพันค่อนข้างสูงว่า จะสามารถเรียกกระแส ชิงเรตติ้งกลับมาได้เปรียบในทางการเมืองอีกหรือไม่
นอกจากนี้ พรรคส้มยังมีคดีเขย่าเสถียรภาพภายในอยู่ กรณี “44 สส.” ลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังต้องรอลุ้นว่าจะถูกชี้ถูกผิดอย่างไร หากผลลัพธ์ออกมาในทางร้าย อาจทำให้สรรพกำลังต้องหายไปอีกมากโขเช่นกัน
ทั้งหมดคือแผนการเดินเกมยุทธศาสตร์ “3 ขา” ของ “ค่ายส้ม” หลังสะบั้นสัมพันธ์พันธมิตรชั่วคราวจาก “ค่ายแดง” เพราะถูกล่มทั้งการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา
หมากต่อไปบนกระดานการเมืองของทั้ง 2 ค่ายหลังจากนี้ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะเดินหมากอย่างไรต่อ เพื่อหวังผล “แลนด์สไลด์” เลือกตั้งครั้งหน้าให้สำเร็จ ปูทางจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ตามที่หวังเอาไว้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์