จับตา 'พปชร.' โฉมใหม่ 'ฝ่ายค้าน(แค้น)' ที่น่ากลัว?

จับตา 'พปชร.' โฉมใหม่ 'ฝ่ายค้าน(แค้น)' ที่น่ากลัว?

ในที่สุด โฉมหน้ารัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนเสียที ท่ามกลางกระแสข่าวมีการตรวจสอบคุณสมบัติคนที่จะมาเป็น “รัฐมนตรี” อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง โดยเฉพาะใครที่มีประวัติอาจขัดรัฐธรรมนูญ

จนทำให้บางคนที่มีชื่ออยู่ในโผรัฐมนตรีของแต่ละพรรคมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ก็ยังเป็นทายาททางการเมืองอยู่ดี และที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ มีรัฐมนตรีที่เป็น “คนรุ่นใหม่” เพิ่มขึ้น 

นับแต่นี้ จึงอยู่ที่รัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” จะบริหารประเทศเข้าตาประชาชนมากน้อยแค่ไหน ลบคำปรามาสก่อนหน้านี้ได้หรือไม่?

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้าน ที่เพิ่งถูกขับออกจากการร่วมรัฐบาลเพื่อไทย อย่าง พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ก็มีการจัดทัพรองรับบทบาทใหม่เช่นกัน  

อันเป็นผลมามาจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2567 เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังส.ส. กลุ่มผู้กองธรรมนัส ประกอบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา, ไผ่ ลิกค์ ส.ส. กำแพงเพชร, สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส. นราธิวาส, อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส. ฉะเชิงเทรา, บุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส. ราชบุรี และ บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ยื่นลาออกจากกรรมการบริหารพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

แล้วก็ได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เรียบร้อยเช่นกัน ประกอบด้วย

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(เหมือนเดิม)

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3

นายอุตตมะ สาวนายน รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 5

นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 6

นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 7

นายอภิชัย เตชะอุบล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 8

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค 

พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ กรรมการและเหรัญญิกพรรค 

นายสมโภชน์ แพงแก้ว นายทะเบียนสมาชิกพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรค 12 คน ประกอบด้วย 

นายยงยุทธ สุวรรณบุตร 

นายอัครวัฒน์ อัศวเหม 

นายธรรม จริตงาม ส.ส. นครศรีธรรมราช 

นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ส.ส. หนองคาย (ใหม่) 

น.ส.กาญจนา จังหวะ ส.ส. ชัยภูมิ 

นายคอซีย์ มามุ ส.ส. ปัตตานี (ใหม่) 

นายทวี สุระบาล ส.ส. ตรัง (ใหม่) 

นายวัน อยู่บำรุง (ใหม่) 

นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส. กำแพงเพชร 

พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี

กรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วย

นายสันติ พร้อมพัฒน์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

พล.อ. กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์

หลังได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พล.อ.ประวิตร ประกาศว่า พรรคพลังประชารัฐต่อไปนี้เป็นหนึ่งเดียว จะไม่มีการกลั่นแกล้งกันอีกแล้ว วิธีการบริหารจะปรับใหม่ โดยให้รองหัวหน้าพรรคเป็นผู้คุมพื้นที่ เลขาธิการพรรคเป็นฝ่ายสนับสนุน พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำเศรษฐกิจที่ทันสมัย ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชีวิตที่สดใสขึ้น ช่วยกันทำให้พรรคมีความเข้มแข็งต่อไป ประเทศชาติจะได้อยู่ดีมีสุข

ด้าน “ไพบูลย์” กล่าวถึงการทำงานในฐานะ “เลขาธิการพรรค” ว่า จะเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่เลขาธิการพรรคจะเข้าไปดูผู้สมัครเลือกตั้งทั่วประเทศ มาสนับสนุนรองหัวหน้าพรรคที่ดูแลการเลือกตั้งแต่ละส่วน โดยจะทำงานขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรค

 “การที่มีกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 24 คน จะสร้างความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น จะเดินก้าวไป ย้ำว่าชุดใหม่มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง นอกจากมีส.ส. อดีตรัฐมนตรีจำนวนมาก และยังมีนักวิชาการที่มีความรู้ในสาขาต่างๆ ได้เข้าร่วมในจำนวนนี้ด้วย ส่วนแนวทางการดำเนินงาน เมื่อมีการประชุมครั้งต่อไปจะแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง”

แน่นอน, พลันรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคพลังประชารัฐออกมา คนที่ถูกจับตามองอย่างสูง ดูเหมือนจะเป็น “ไพบูลย์ นิติตะวัน” นั่นเอง เพราะถ้าดูจากประวัติทางการเมืองที่ผ่านมา ถือว่า ไม่ธรรมดา แม้ว่าจะไม่ใช่ประเภทนักการเมืองผู้กว้างขวางก็ตาม แต่พูดถึงการเดินเกมทางการเมือง และลำหักลำโค่นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ใครก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะความเก๋าในด้านกฎหมาย เนื่องจากเป็นนักกฎหมายก่อนหันมาทำงานการเมือง  

“ไพบูลย์” นอกจากเคยเป็นส.ส.ชุดที่ 25 ยังเคยเป็นส.ว. ระหว่างพ.ศ.2551 - 2557 บทบาทที่โดดเด่นคือ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นผู้ประสานงาน กลุ่ม 40 ส.ว. ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยอาศัยความช่ำชองด้านกฎหมาย

ที่สำคัญ ยังเป็น “นักร้อง” ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าร้อง หรือร้องทุกเรื่อง หากแต่ทุกเรื่องที่ร้องต้องมีน้ำหนัก และมีผลได้-เสียทางการเมือง จนฝ่ายตรงข้าม ต้องจดจำไม่รู้ลืมเลยทีเดียว   

ตัวอย่าง กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อปี 2562 ขณะ “ไพบูลย์” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เนื่องจาก ถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมฯ จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้วตั้งแต่ปี 2515 แต่ทูลกระหม่อมฯ ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นทูลกระหม่อมฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเป็นการเข้าข่ายความผิดตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. หมวด 4 ข้อ 17 ‘ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง’ ต่อมา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 18/2562 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

และ วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 วรรคสอง

และ ยังเป็น “นักร้อง” ที่ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี อีกด้วย 

กล่าวคือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 ตามคำร้องที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ขณะดำรงตำแหน่งส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 (2) และ (3) หรือไม่

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยมติเอกฉันท์ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะและตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ไปด้วย คำวินิจฉัยมีผลให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 10 คน...

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ ขณะนี้ มี 2 คำร้อง ที่น่าสนใจ และเกี่ยวโยงถึง “ฝ่ายแค้น” ต้องการใช้องค์กรอิสระ เล่นงานรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” หรือไม่

กรณีบุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคเพื่อไทย ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า นายทักษิณชี้นำนายเศรษฐาให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี เท่ากับพรรคเพื่อไทยยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค

และกรณีบุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง สั่งให้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ (รวมน.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคด้วย) เพราะยอมให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ครอบงำพรรค

คำถามก็คือ “บุคคลนิรนาม” เป็นใคร ใช่ “ฝ่ายแค้น” ของรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร และพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หลายคนฟันธงไปแล้ว!