ปลดแอก 'บ้านใหญ่' โจทย์ยาก 'เอก-ทิม-เท้ง'

ปลดแอก 'บ้านใหญ่' โจทย์ยาก 'เอก-ทิม-เท้ง'

ปลดแอกบ้านใหญ่ โจทย์ยากจาก “ธนาธร” ส่งต่อ “พิธา” ถึง “ณัฐพงษ์” ตรวจแนวรบท้องถิ่น อบจ. ค่ายส้มยังห่างไกลชัยชนะ

บ้านใหญ่ไม่ยอมตาย ปรับตัวเพื่ออยู่รอด กรณี อบจ.อุดรฯ ทุนแดง-เหลือง รวมพลังสกัดพรรคประชาชน 

บทเรียนการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี พิสูจน์พลังศรัทธามวลชนสีส้มมีอยู่จริง แต่ยังเอาชนะกลยุทธ์ ทั้งบนดิน-ใต้ดินของ “บ้านใหญ่” ไม่ได้

ย้อนไปเมื่อ 9 ต.ค.2563 “เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้แถลงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ในนามคณะก้าวหน้า จำนวนหนึ่ง ซึ่งวันนั้น ธนาธรพูดคำโตๆ ว่า 

“ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง ยุติการซื้อเสียง ยุติบ้านใหญ่ ยุติผู้มีอิทธิพล การเลือกตั้งคือ การใช้ต้นทุนเปลี่ยนแปลงต่ำที่สุด”

การเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2563 เอก ธนาธร ประสบความแพ้ในทุกสนามที่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. และยังปลดแอกระบอบบ้านใหญ่ไม่ได้

ปลายปี 2566 ธนาธร ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ได้ไม้ต่อให้พรรคก้าวไกล (เวลานั้น) รับภารกิจท้องถิ่นสีส้มส่งผู้สมัคร นายก อบจ.แทนคณะก้าวหน้า ซึ่งช่วงต้นปี 2567 “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงได้เดินสายเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. 4-5 จังหวัด

กระทั่ง “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ตัดสินใจส่งผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี เป็นสนามแรก แต่ก็ปราชัยแบบได้ใจด้อมส้ม

แม้ “บ้านใหญ่ไม่ล้ม ส้มไม่ชนะ” แต่ก็ได้เห็นปรากฏการณ์ความตื่นกลัวพลังส้มของนักการเมืองท้องถิ่นที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” จึงงัดกลยุทธ์ออกมาสกัดทุกรูปแบบ

การชิงลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.ก่อนครบวาระสกัดผู้สมัครค่ายส้ม ไม่ให้ทันตั้งตัว รวมถึงการรวมตัวของบ้านใหญ่ให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่แข่งกันเอง ไม่ตัดแต้มกันเอง ก็ใช้ยุทธศาสตร์เอาชนะในสนามท้องถิ่น

เกมฮั้วบ้านใหญ่

เบื้องหลังชัยชนะของ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา ที่กลับมานั่งเก้าอี้นายก อบจ.ราชบุรี สมัยที่ 2 มาจากเกมรวมพลังของบ้านใหญ่เมืองโอ่ง 4 ซุ้มคือ ซุ้มกำนันตุ้ย,ซุ้มโพธาราม (ตระกูลกมลพันธ์ทิพย์), ซุ้ม สส.กุลวลี นพอมรบดี และซุ้ม สส.อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ 

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คนไม่ได้พูดถึงมากนัก กรณี “วันชัย ธีระสัตยกุล” อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ถอนตัว ไม่ลงแข่งกับกำนันตุ้ย

เดิมทีซุ้มดำเนินสะดวก สรอรรถ กลิ่นประทุม และบุญลือ ประเสริฐโสภา อดีต สส.ราชบุรี 5 สมัย ค่ายภูมิใจไทย วางแผนสางแค้น กำนันตุ้ย วิวัฒน์ โดยการไปชักชวนให้ วันชัย ธีระสัตยกุล กลับมาลงสนามอีกครั้ง

เนื่องจากช่วงเลือกตั้ง สส.ราชบุรี กำนันตุ้ย ในฐานะแม่ทัพพลังประชารัฐ ส่งเสี่ยเส็ง-ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ข้ามฟากจากโพธาราม ไปล้มบุญลือ ค่ายสีน้ำเงินคาถิ่นดำเนินสะดวก

ในที่สุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เปิดการเจรจากับ วันชัย ธีระสัตยกุล จึงยอมถอยไม่ลงสมัครนายก อบจ.ราชบุรี

สามัคคีแดง-เหลือง

กรณีนายก อบจ.อุดรธานี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มท้องถิ่นได้ผนึกกำลังกันสู้ค่ายสีส้ม

ปลดแอก \'บ้านใหญ่\' โจทย์ยาก \'เอก-ทิม-เท้ง\'

สัปดาห์ที่แล้ว พรรคเพื่อไทย ได้เปิดตัว “ป๊อบ” ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรธานี ลงสมัครนายก อบจ.อุดรธานี เป็นการรับไม้ต่อจาก วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี คนปัจจุบัน

ปลดแอก \'บ้านใหญ่\' โจทย์ยาก \'เอก-ทิม-เท้ง\'

สำหรับพรรคประชาชน ได้เปิดตัว คณิศร ขุริรัง อดีตรองนายก อบจ.อุดรธานี เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรฯ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 

ทนายแห้ว คณิศร เคยเป็นรองนายก อบจ.อุดรฯ สมัยที่ตระกูลทีฆธนานนท์ ยึดการเมืองท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและ อบจ.

เมื่อเจอคู่แข่งอย่างพรรคประชาชน เสี่ยป๊อบ-ศราวุธ เพชรพนมพร จึงเปิดการเจรจากับกลุ่มทุนท้องถิ่นหรือบ้านใหญ่เมืองอุดรฯ อย่างตระกูลชัยรัตน์ และทีฆธนานนท์ ให้มาเป็นกองหนุนสู้ค่ายส้ม

เฉพาะพันธมิตรการเมืองท้องถิ่น ศราวุธ เพชรพนมพร ตัวแทนเพื่อไทยอุดรฯ และ “กลุ่มนครหมากแข้ง” นำโดย กิตติกร ฑีฆธนานนท์ เป็นการยุติศึกสีเสื้อแดง-เหลือง ที่ทั้งสองขั้วเคยต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2555

กลุ่มนครหมากแข้ง เป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่มาจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ ทั้งกลุ่มอุดรเจริญศรี และกลุ่มศรีรุ่ง ทุนท้องถิ่นเมืองอุดรฯ

ทายาทกลุ่มอุดรเจริญศรี ที่เข้าสู่งานด้านการเมืองทั้งระดับชาติ และท้องถิ่นหลายคน เช่น หาญชัย ฑีฆธนานนท์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดร อดีตนายก อบจ.อุดรฯ, โกมุท ฑีฆธนานนท์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสกลนคร และโกเมศ ฑีฆธนานนท์ อดีต สว.ขอนแก่น

ยุคสมัยการเมืองเสื้อสี คนอุดรฯทราบดีว่า ตระกูลฑีฆธนานนท์-กลุ่มนครหมากแข้ง มีจุดยืนทางการเมืองอยู่ตรงข้ามเพื่อไทย

ปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยน ทุนสีแดง-ทุนสีเหลือง จึงหันมาร่วมมือกันสกัดค่ายสีส้ม ทั้งสนามนายก อบจ.อุดรฯ และเทศบาลนครอุดรฯ 

ชุมพรเมืองชุมพล

วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย. 2567 จะเป็นวันเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร ที่มีผู้สมัครคนเดียวคือ “นายกโต้ง” นพพร อุสิทธิ์ อดีตนายก อบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร

ปลดแอก \'บ้านใหญ่\' โจทย์ยาก \'เอก-ทิม-เท้ง\'

นพพร อุสิทธิ์ เป็นเขยบ้านใหญ่ชุมพร “จุลใสแฟมิลี่” มีภรรยาชื่อ “นายกเปี้ยว”สุจิตรา อุสิทธิ์ นายก อบต.นาสัก อ.สวี หลายสมัย ซึ่งเป็นพี่สาวของ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร

กลุ่มพลังชุมพร เป็นองค์กรการเมืองท้องถิ่นของบ้านใหญ่จุลใสแฟมิลี่ ที่มี “นายกโต้ง” เป็นหัวหน้าทีม โดยมีสองพี่น้อง ลูกช้าง-สุพล และลูกหมี-ชุมพลเป็นที่ปรึกษาใหญ่

ปลดแอก \'บ้านใหญ่\' โจทย์ยาก \'เอก-ทิม-เท้ง\'

ปีที่แล้ว ลูกหมี-ชุมพล เล่นบทแม่ทัพวางแผนให้พรรครวมไทยสร้างชาติ กวาด สส.ชุมพร 3 ที่นั่ง และการเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร เที่ยวนี้ไม่มีนักการเมืองท้องถิ่นไหน มาท้าชนค่ายลูกหมี

สภากาแฟแถว อ.สวี จึงพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ประตูภาคใต้ จังหวัดชุมพร กลายเป็น “เมืองชุมพล” ไปโดยปริยาย

บ้านใหญ่เมืองบั้งไฟ

วิเชียร สมวงศ์ นายก อบจ.ยโสธร ได้ลาออกก่อนครบวาระเป็นคนแรกของภาคอีสาน และจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ในวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค.2567 

สนาม อบจ.เมืองบั้งไฟ วิเชียร น้องชาย บุญแก้ว สมวงศ์ สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย มีคู่แข่งอีก 3 คน ล้วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แถมไม่ออกหาเสียง

ปลดแอก \'บ้านใหญ่\' โจทย์ยาก \'เอก-ทิม-เท้ง\'

จะว่าไปแล้ว วิเชียร สมวงศ์ ก็อยู่ในเครือข่ายบ้านใหญ่ยโสธร ที่นำโดย นายกป้อม-สถิรพร นาคสุข อดีตนายก อบจ.ยโสธร ซึ่งอยู่ในซุ้มบ้านริมน้ำ ของสุชาติ ตันเจริญ 

นอกจากนี้ กลุ่มนายกฯป้อม ก็มี เสี่ยเดี่ยว-ผดุงเกียรติ สลับศรี สามี สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร พรรคไทยสร้างไทย

การเลือกตั้งนายก อบจ.ยโสธร ปี 2563 วิเชียร ชนะสฤษดิ์ ประดับศรี อดีต สส.ยโสธร ที่ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้า

ครั้งนี้ พรรคประชาชนไม่มีความพร้อม จึงไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ส่งผลให้บ้านใหญ่เมืองบั้งไฟ ยึด อบจ.ต่อไปอีกสมัย 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์