'ปชน.' ปฏิวัติVSปฏิรูป 'ปิยบุตร' ชิงลดเพดาน
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันควัน กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ (16 ก.ย. 2567) พร้อมแสดงทัศนว่า “พรรคประชาชน(ปชน.)” มีแนวคิดเป็นพรรคปฏิวัติ ส่วน “พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคปฏิรูป
เนื่องจากกระแสความไม่พอใจต่อคำตัดสินของ “จักรภพ” ในหมู่แกนนำที่อยู่เบื้องหลัง และ “ติ่งส้ม” อย่างกว้างขวาง
จนต่อมา “โบว์” น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ปฏิรูป VS ปฏิวัติ
โดยระบุว่า “กำลังงงว่าเขาโมโหอะไรกัน ในบทสัมภาษณ์คุณจักรภพก็พูดตามเนื้อผ้า พรรคที่ถูกพูดถึงก็นำเสนอแนวทางและตัวตนแบบนี้มาตลอดอย่างภาคภูมิใจ
ในการชุมนุมปี 63 ที่พรรคก้าวไกลเชิดชู ฉากเวทีใหญ่โตก็เขียนชัดเจนว่า “เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ” ซึ่งปฏิวัติก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ต้องการอะไรที่ค่อยเป็นค่อยไป
หรืออาจเป็นได้ว่า วันนี้แนวทางของพรรคประชาชนไม่เหมือนก้าวไกลแล้ว กองเชียร์จึงไม่พอใจที่ถูกพูดถึงแบบนี้”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และเคยเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง ปี 2566 โพสต์ข้อความตอบโต้ “จักรภพ” เช่นกัน ที่น่าสนใจ คือ ตอนที่ 2 หัวข้อ [กรณีความเห็นของจักรภพ เพ็ญแข (2)]
โดยระบุว่า “ผมศึกษาเรื่องการปฏิวัติมาเกือบครึ่งชีวิต
การบอกว่า พรรคอนาคตใหม่- ก้าวไกล-ประชาชน เป็น “พรรคปฏิวัติ” น่าจะให้ราคาพวกเขามากเกินความเป็นจริงไปเสียหน่อย
พวกเขาไปได้ไกลที่สุด ก็คือ พรรคที่ต้องการปฏิรูป รักษาสิ่งที่มีอยู่ พัฒนา ปรับปรุงให้เท่าทันยุคสมัย พร้อมเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ๆ
เช่นกัน การบอกว่า พรรคเพื่อไทย คือ พรรคปฏิรูป ก็เป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะจนถึงวันนี้ สิ่งที่คนจำนวนมากเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยกล้าหาญปฏิรูป ตั้งแต่ 2554 ตั้งแต่ ปฏิรูปกองทัพ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร การกระจายอำนาจ ทลายทุนผูกขาด ปฏิรูปที่ดินทำกิน หรือ การเอาคนฆ่าประชาชนมารับผิด ก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพรรคเพื่อไทยมีข้ออ้างที่ทำให้พวกเราหลงเชื่อ ตั้งแต่ปี 2554 ว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังทำไม่ได้ กินข้าวทีละคำ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ฯลฯ
การแปะป้ายว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคปฏิรูป เพื่อจะอ้างว่า วันนี้ กูไม่ทำ เพราะกูต้องเคลียร์เรื่องอื่นก่อน จึงเป็นการโฆษณาเกินจริง
การบอกว่า พรรคประชาชนเป็นพวกปฏิวัติ คือ การโฆษณาให้เครดิตเกินจริง พอๆ กับบอกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคปฏิรูป”
อะไรไม่สำคัญเท่ากับกระแสดังกล่าว เกิดขึ้นในท่ามกลางพรรคประชาชนเตรียมปรับทัพใหม่ เพื่อรับมือกับการต่อสู้ทางการเมืองที่ยากลำบาก และถูกโดดเดี่ยว เพราะการไม่ยอมลดเพดานแก้ไขป.อาญา ม.112 รวมถึงการที่กลุ่มคนเบื้องหลังต้องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ด้วย
ทั้งนี้มีข่าวว่า ในการประชุมสัมมนาพรรคประชาชนเป็นการภายใน (21-22 ก.ย.) วาระสำคัญเป็นการจัดกระบวนทัพในการต่อสู้ทางการเมืองใหม่ หลังจากอดีตพรรคก้าวไกลเดิมถูกยุบ และมาสังกัดพรรคถิ่นกาขาว จนเปลี่ยนชื่อพรรคมาเป็นพรรคประชาชน
ความจริง มีการปรับทัพใหม่มาแล้วตั้งแต่เริ่มเป็นพรรคประชาชน จากเดิมที่โครงสร้างกรรมการบริหาร 10 คน ซึ่งทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ ถูกลดทอนลงเหลือ 5 คน เพื่อลดช่องว่าง หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ตอนนี้ได้เวลาจัดเพิ่มเติมอีกครั้ง ด้วยการตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น รองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค และทีมโฆษกพรรค
นอกจากนี้ มีรายงานว่าพรรคประชาชนจะตั้งรองหัวหน้าพรรค จำนวน 10 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและเพื่อเกลี่ยตำแหน่งให้ดาวเด่น อย่าง
- นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ,
- นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนที่เหลือมาจากสายเทคโนแครต ที่เคยอยู่ในทีมวิชาการของพรรค เช่น นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เป็นต้น
ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคอีกจำนวน 12 คน มาจากการเลือกตั้งภายใน มีบทบาทสำคัญ เปรียบเสมือนแม่ทัพภาค ในการคัดเลือกผู้สมัครท้องถิ่น และผู้สมัคร ส.ส. สนามเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งรองเลขาธิการพรรคทั้ง 12 คนนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ 12 โซน
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน จากการจัดทัพใหม่ดังกล่าว ได้เกิดคลื่นใต้น้ำภายในพรรคอยู่ไม่น้อย รวมทั้งมีการเดินเกมล็อบบี้เพื่อน ส.ส. ด้วย จึงนับว่าน่าจับตามอง และคงไม่เป็นข่าว จนกว่าจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการประชุมภายในพรรคนั่นเอง
ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาชน มีการลงมติเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ดังนี้
1.“ส.ส.เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค
2.นายศรายุทธ ใจหลัก เพื่อนสนิทสมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษา ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นเลขาธิการพรรค
3.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายทะเบียนพรรค
4.น.ส.ชุติมา คชพันธ์ เหรัญญิกพรรค
5.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค
โดยว่างเว้นตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค และโฆษกพรรค เอาไว้ลงมติในการประชุมครั้งต่อไป
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ตามมา หลังจากมีการปรับกระบวนทัพใหม่ของพรรคประชาชน หนีไม่พ้น “เป้าหมาย” ที่เคยประกาศไว้ ว่าจะเอาชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย(แลนด์สไลด์” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะทำได้หรือไม่ อย่างไร
และประเด็นที่โดดเดี่ยวทางการเมืองพรรคก้าวไกล อย่าง การแก้ไข ป.อาญา ม.112 จะยังคงเดินหน้า ไม่ลดเพดานลงได้หรือไม่ อย่างไร
เริ่มจากประเด็นเอาชนะเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เรื่องนี้ ถ้าเป็นสมัยที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับว่าเป็นไปได้สูง เพราะถ้าย้อนดูกระแสความนิยมของ “พิธา” ประกอบกับกระแสความนิยมพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสิน “ยุบพรรค” ใครก็คิดว่า ชนะเลือกตั้งถล่มทลายแน่ เพราะแม้ว่า พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังไม่ทำให้กระแสตกลงแต่อย่างใด ขณะที่ “พิธา” แม้ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่กระแสก็ยังคงพุ่งสูง
ช่วงนั้น เป็นช่วงที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง เนื่องจาก “เบื่อ” สิ้นหวังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ถูกปลุกขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก่อนจะขยายวงกว้างไปยังประชาชนกลุ่มอื่น อีกอย่างเป็นผลจากการใช้ “โซเชียล” เป็นเครื่องทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ซึ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างได้ผล จึงเป็น “พลังบวก” ที่อุ้มพรรคก้าวไกลให้ลอยติดลมบน ทั้งที่จะว่าไปแล้ว พรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเสนอเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่เป็นฐานอำนาจฝ่ายอนุรักษ์เท่านั้นเอง
แต่ปัจจุบัน หลังจากยุบพรรคก้าวไกล มาถึงยุคของพรรคประชาชน อะไรหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป “พิธา” ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 10 ปี ทั้งไม่แน่ว่าจะมีโอกาสกลับสู่การเมืองได้อีกหรือไม่ กรณีป.ป.ช.กำลังพิจารณา ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พิพากษา ปมผิดจริยธรรมร้ายแรง โทษหนักถึงถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต กรณีร่วมกับส.ส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยถึงสองครั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ และนำมาสู่การยุบพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ส.ส.อดีตพรรคก้าวไกล จำนวนหนึ่งที่ย้ายมาอยู่พรรคประชาชน ก็อาจโดนคดีนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่จะถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่ หรือขึ้นอยู่กับเจตนา อย่างที่ผู้ใหญ่ในป.ป.ช.บางคน ออกมาชี้แจง
นั่นเท่ากับเป็นการตัดกำลังพรรคประชาชน ผ่านการยุบพรรคก้าวไกล และเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง ที่เชื่อว่าจะมีการตัดสินตามมาในอีกไม่นาน
นี่ยังไม่นับความเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดกระแสนิยมให้กับพรรคของ “พิธา” ซึ่งก็จะขาดหาย หรือลดทอนไป เพราะไม่มีบทบาทเป็นตัวจริงทางการเมืองอีกแล้ว
ดังนั้น ถ้าคาดหวังการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาชนจะต้องชนะอย่างถล่มทลาย และสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคประชาชน จะต้องออกแรงหนักกว่าอดีตพรรคก้าวไกลหลายเท่า จะแค่อิงกระแสคนรุ่นใหม่ หวังพึ่ง “แม่เหล็กของพรรค” และกระแสโซเชียลอย่างที่พรรคก้าวไกลเคยทำสำเร็จมาก่อนไม่ได้
นี่คือ สิ่งที่น่าจับตามองว่า พรรคประชาชนจะปรับทัพเพื่อรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
มาถึงประเด็นแก้ไข ป.อาญา ม.112 การไม่ยอมลดเพดานที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ ก็อาจเป็นข้อจำกัดให้เข้าถึงกลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย รวมถึงหลายคนที่ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วน
นี่ยังไม่นับเรื่องการยังขืนดันทุรังต่อไปไม่ลดเพดาน แทนที่คำว่า “แก้ไข ไม่เท่ากับ ล้มล้าง” อาจทำให้คนคิดไปไกลกว่าที่สร้างวาทกรรมเอาไว้ก็ได้
น่าคิดหรือไม่? สิ่งที่ “ปิยบุตร” ออกมาแสดงความไม่พอใจ “จักรภพ” และไม่เห็นด้วยที่โยนความเป็น “พรรคปฏิวัติ” ให้กับ “พรรคประชาชน” ก็อาจด้วยอันตรายทางการเมืองนี้เอง
เพราะเอาแค่ “พรรคปฏิรูป” ก็จะไม่รอดแล้ว!?