“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

ฟื้นฟูแม่สาย “แพทองธาร” ลุยโคลนปลุกขวัญคนเชียงราย “ณัฐพงษ์” เพิ่งคิกออฟเท้งทั่วไทย รอไปเยือนหัวเมืองชายแดนไทย-เมียนมา

โฟกัสพื้นที่น้ำท่วมเชียงราย เขต 6 ที่มั่น “สส.สีส้ม” พิสูจน์ฝีมือผู้แทนชาวบ้าน สส.สีแดง-อบจ.สีน้ำเงิน ก็เคลื่อนไหวหนัก ฤดูเลือกตั้งท้องถิ่นมาถึงแล้ว

วันที่ 27-28 ก.ย.2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจราชการ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ โดยนอนพักค้างคืนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ภารกิจนายกฯแพทองธาร สุดสัปดาห์นี้วางน้ำหนักไว้ที่ อ.แม่สาย เพราะมีปัญหาใหญ่รออยู่เบื้องหน้าคือ การฝ่าวิกฤติโคลนถล่มเมือง และฟื้นฟูเมืองเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา

ในมิติการเมือง พื้นที่ อ.แม่สาย อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 6 ที่มี “ทนายหญิง” จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เป็น สส.สมัยแรก พรรคประชาชน 

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

หลัง อ.แม่สาย เจอโคลนถล่มเมือง สส.จุฬาลักษณ์ ได้ประสานกับเพื่อน สส.และมูลนิธิต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

สำหรับ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ยังไม่ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงรายช่วงหลังน้ำลด ซึ่งคาดว่า แผนฟื้นฟูแม่สาย คงอยู่ในแคมเปญ “เท้งทั่วไทย” ของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน

ยุคส้มครองชายแดน

สมรภูมิการเมืองเชียงราย มีการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคของทักษิณ ไม่ได้ยึดเก้าอี้ สส.ทั้งจังหวัด โดยพรรคอนาคตใหม่ ทะลวงที่มั่นสีแดง ได้ สส. 2 คน

เฉพาะเลือกตั้ง สส.เชียงราย ปี 2566 พรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) ได้ สส.เพิ่ม 2 คน เป็น 3 คน คือเขต 1 ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ,เขต 3 ฐากูร ยะแสง และเขต 6 จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม

ที่น่าสนใจคือ เขตเลือกตั้งที่ 6 อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่จัน “ทนายหญิง” จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม อดีตเอ็นจีโอเด็กและสตรี และทนายนักสู้เพื่อชาวบ้าน ได้ลงสนามแทน พีรเดช คำสมุทร อดีต สส.เชียงราย พรรคสีส้ม ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

ชัยชนะของพรรคสีส้มเหนือพรรคสีแดง ในสมรภูมิแม่สาย 2 สมัยติดต่อกัน สะท้อนทักษิณมนต์เสื่อม และคนชายแดนไทย-เมียนมา ไม่ได้ยึดติดแบรนด์เพื่อไทย

ทักษิณมนต์เสื่อม

เมื่อปี 2566 สนามเลือกตั้งเชียงราย พรรคเพื่อไทยก็เหลือ สส.แค่ 4 คนจากทั้งหมด 7 คน คือ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช, วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์, พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน และ เทอดชาติ ชัยพงษ์

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

เพื่อไทยเชียงราย มีบ้านใหญ่อยู่หลายซุ้ม ยงยุทธ ติยะไพรัช มี สส.อยู่ในซุ้ม 2 คนคือ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย เขต 2 ในเขตที่มั่นเดิม อ.แม่จัน และน้องสาว-ละออง ติยะไพรัช สส.บัญชีรายชื่อ 

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 4 ภรรยาเสี่ยหนิม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูลติยะไพรัช 

มีเพียง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย เขต 7 และ เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.เชียงราย เขต 5 ที่ไม่ได้สังกัดซุ้มไหน เฉพาะพิเชษฐ์ มีความใกล้ชิดกับตระกูลจงสุทธนามณี

ปลายเดือน ส.ค.2567 ยงยุทธ ติยะไพรัช เชื้อเชิญทักษิณ ชินวัตร มาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

นัยว่า ยงยุทธกำลังจะผลักดัน  สลักจิฤฏดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายก อบจ.เชียงราย ลงสนามนายก อบจ.เชียงราย ในนามพรรคเพื่อไทย

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

4 ปีที่แล้ว ยงยุทธ-วิสาร ผิดหวังจากสนาม อบจ.เชียงราย เมื่อ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ พ่ายแพ้ลูกสาวบ้านใหญ่ตระกูล “วันไชยธนวงศ์” ยงยุทธจึงหวังทำศึกล้างตากับตระกูลวันไชยธนวงศ์อีกครั้ง

อบจ.สีน้ำเงิน

ช่วงน้ำท่วมเชียงราย มีอาสาสมัคร มูลนิธิจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปข่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย รวมถึง “มูลนิธิประภัตร โพธสุธน” มาตั้งโรงครัวภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงราย 

ทำไมมูลนิธิดังเมืองสุพรรณ จึงเดินทางมาถึงเชียงราย คำตอบคือ กฤศ โพธสุธน รองนายก อบจ.เชียงราย เป็นหลานชายเฮียประภัตร

จริงๆแล้ว ตระกูลโพธสุธน โดยประสิทธิ์ โพธสุธน พี่ชายของประภัตร ได้มาทำธุรกิจกาสิโนที่ชายแดนไทย-เมียนมา มานานกว่า 30 ปีแล้ว หลายคนรู้จักอาณาจักรโกลเดน ไทร์แองเจิลเดอะพาราไดซ์ สามเหลี่ยมทองคำ เป็นอย่างดี

การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย สมัยที่แล้ว ตระกูลโพธสุธน สายเชียงรายได้เป็นพันธมิตรกับ “เสี่ยโป้ย” สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต สส.เชียงราย สนับสนุน “นก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ จนได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.เชียงราย

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง

นายกฯอทิตาธร จึงตั้ง กฤศ โพธสุธน หลานชายประภัตร เป็นรองนายก อบจ.เชียงราย และสมัยหน้า ตระกูลโพธสุธน-วันไชยธนวงศ์ ก็ยังจับมือกันสู้ศึกท้องถิ่นอีกสมัย

ตระกูลวันไชยธนวงศ์ มีฐานเสียงหลักอยู่ใน อ.เทิง, อ.พญาเม็งราย ,อ.เวียงชัย และ อ.ขุนตาล 

เลือกตั้งปีที่แล้ว รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ หลานชายเสี่ยโป้ย ย้ายจากเพื่อไทยไปสังกัดภูมิใจไทย แต่ก็สอบตก เพราะเจอกระแสเสื้อแดงไม่เอาบ้านใหญ่

สมัยรัฐบาลเศรษฐา อนุทิน จึงแต่งตั้ง รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต สส.เชียงราย เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

“แม่สาย” สะอื้น “แดง-ส้ม” ฝ่าโคลนการเมือง  

ช่วงน้ำท่วมเชียงรายรอบหลัง อนุทิน ในฐานะ รมว.มหาดไทย ได้ประสานกับ“นก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ผวจ.เชียงราย ใส่เกียร์ว่าง สร้างความไม่พอใจให้แก่ มท.หนู เป็นอย่างมาก

กลางเดือน ธ.ค.2567 ครบวาระการดำรงแหน่งนายก อบจ.เชียงราย และจะมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงต้น ก.พ.2568 จึงเป็นสมรภูมิท้องถิ่น วัดกระแสของพรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย ,ภูมิใจไทย และประชาชน 

แน่นอน วาระการฟื้นฟูเมืองเชียงราย หลังน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ จะเป็นประเด็นหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.เชียงราย ทุกพรรคทุกซุ้ม