ปมยุบ 'เพื่อไทย-6 พรรค' ด่านฟอกขาวรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง
พลัน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม
จากเหตุ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค มีการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
พูดง่ายๆก็คือ เป็นการรับคำร้องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่า ผลเป็นอย่างไร ทั้งยังเหลืออีกหลายขั้นตอน ก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ รวมทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
และอ้างอิงถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อกกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3)ของกฎหมายเดียวกันได้
เรื่องนี้ ในมุมของแกนนำพรรคเพื่อไทย และ6 พรรคร่วมรัฐบาล กลับเห็นเป็นเรื่อง ไร้สาระ ไม่มีอะไรให้น่ากังวล
โดย “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามกลับว่า คนเราก็สามารถไปมาหาสู่กันได้ คนเราไปทานข้าวกัน เพราะนอกจากจะเป็นบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังเป็นบ้านของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย และเวลารองนายกรัฐมนตรีหรือใครไปเจอจะมีปัญหาอะไร
“ไม่กังวล ให้ทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการ ไม่มีปัญหาอะไร มิเช่นนั้นคนเราก็มีความสัมพันธ์กันไม่ได้สิ” บิ๊กอ้วน กล่าว เมื่อถูกถามมีความกังวลหรือไม่
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันเช่นกันว่า “ไม่กังวล”
ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เห็นว่า ไม่เป็นไร ก็ชี้แจงไป ซึ่งก็ทราบว่า ร้องถึง 6 พรรค ดังนั้นไม่เป็นไรก็ชี้แจงกันไป และตนเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ว่าถ้าอ้างว่าครอบงำ ในวันนั้นที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีการคุยกันและเห็นร่วมกันว่าอย่างไรจำได้หรือไม่ และวันรุ่งขึ้นพรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมก็เห็นของเราอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะมีอะไรมาครอบงำ ตนยืนยันว่า ไม่มี
ประเด็นของ “ชูศักดิ์” ก็คือ กระแสข่าว เสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แทน นายเศรษฐา ทวีสิน หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี คือ ข้อยืนยันที่เห็นชัดว่า ไม่ถูก “ทักษิณ” ครอบงำ หรือ ยอมให้ “ทักษิณ” ครองงำ
เนื่องจากที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ส.ส.ส่วนใหญ่เสนอชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 31
ขณะที่ก่อนหน้านั้น มีรายงานว่า การหารือของพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯคนที่ 31
นี่อาจเพียงตัวอย่างเดียว ที่มีการหยิบยกให้เห็นโดยฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
ความจริง ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากผลของคดีแล้ว ผลในทางการเมือง ก็นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน
เพราะอย่าลืมว่า ในทางการเมือง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ถูกโจมตีถูกครอบงำ ให้ “ตระบัดสัตย์” มาตั้งแต่ช่วงพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แลกกลับ การเดินทางกลับไทยของ “ทักษิณ” และการมาเป็นแกนนำขั้วอนุรักษนิยมใหม่ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน(ปชน.)ในวันนี้
แต่นั่นก็เป็นเพียงกระแสข่าว และแง่มุมวิเคราะห์การเมือง ที่มีการนำมาขยายผล แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นจริงตามนั้น
ความจริง การพลิกขั้ว ข้ามฟาก จัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก พรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ไม่ผ่านการโหวตลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากรัฐสภา โดยเฉพาะส.ว.ส่วนใหญ่ ต่อต้านแนวคิด และนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 ของพรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่มีส.ส.จำนวนมาก ก็ไม่สนับสนุนรัฐบาลพรรคก้าวไกลด้วย
ขณะเดียวกัน หากพรรคเพื่อไทย ยังคงยืนยันร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ชะตากรรม ก็จะไม่ต่างจากพรรคก้าวไกล คือ ไม่ผ่านการโหวตลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเสนอชื่อใคร ตราบใดที่มีพรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากส.ว.สายอนุรักษ์ จำนวนมาก ตั้งป้อมสกัดพรรคก้าวไกล และรัฐบาลที่มีก้าวไกลรวมอยู่ด้วย
โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล ระบุว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ส.ว.มีสิทธิ์ร่วมกับส.ส.ลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐสภา จะต้องผ่านการโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ซึ่งถือว่า ใช้เสียงส.ส.และส.ว.จำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทย จึงตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสายสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับ ส.ว.สายอนุรักษ์ส่วนใหญ่ จนนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นผลสำเร็จ
ส่วนการเดินทางกลับไทยของ ทักษิณ ชินวัตร สิ่งที่คนไทยรับรู้กันดี ก็คือ การยอมเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย คือ ยอมรับคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนถูกตัดสินจำคุก(3คดี) 8 ปี หลังจากนั้น ได้ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี โดยถูกคุมขังอยู่บนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุผลของอาการป่วยหนัก และเข้าหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ก่อนจะได้รับการ “พักโทษ” เมื่อครบกำหนดตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์
เพียงแต่ประเด็นของ “ทักษิณ” มีบางฝ่าย เห็นว่า “ป่วยทิพย์” เพื่อให้ได้คุมขังในโรงพยาบาล แทนที่จะถูกจำคุกในเรือนจำเหมือนนักโทษทั่วไป จึงมองว่า ใช้ “อภิสิทธิ์” เหนือนักโทษคนอื่น หรือที่ใช้คำว่า “นักโทษเทวดา” ขณะที่กรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่า ทำตามระเบียบ และโรงพยาบาลตำรวจ ก็ยืนยันในความเจ็บป่วย เข้าข่ายที่จะได้รับการรักษาโรงพยาบาลภายนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์
แน่นอน, เรื่องนี้ใครผิดใครถูก จะต้องไปว่ากันในขั้นตอนของกฎหมาย และไม่แน่ว่าจะเกี่ยวโยงกับรัฐบาลเพื่อไทย หรือไม่
อย่าลืม ว่า มีคนจำนวนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยที่ “ทักษิณ” ได้รับโทษสถานเบา เพราะเห็นว่า มีคดีใหญ่ติดตัวหลายคดี ยิ่งเมื่อ “ทักษิณ” ไม่ต้องจำคุกในเรือนจำ ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนเหล่านั้น
มาถึงการแต่งตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้ว่า จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่ด้วยความเป็น “บุตรสาวคนเล็ก” ของ “ทักษิณ” และได้รับการสนับสนุนจาก “ทักษิณ” ให้เข้าสู่การเมือง จึงหนีไม่พ้นถูกโยงระหว่าง “ทักษิณ” กับ “อุ๊งอิ๊ง” ในทางการเมืองตามไปด้วย โดยเฉพาะความพยายามที่จะทำให้หลุดพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และประเด็นที่แหลมคมเพียงพอ ก็คือ “ครอบงำ” ซึ่ง “อุ๊งอิ๊ง”น.ส.แพทองธาร เป็นทั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี จึงง่ายที่จะเชื่อมโยง
อีกอย่างที่ไม่อาจมองข้าม ด้วยความที่ “ทักษิณ” เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน และการได้ “ไฟเขียว” กลับไทยครั้งนี้ ก็มีนัยสำคัญว่า จะต้องทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ดังนั้นการแสดงออกจึงเสี่ยงที่จะถูกโยงได้ง่ายอยู่แล้ว
เหนืออื่นใด ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ ด่าน “ครอบงำ” พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล โดยที่พรรคร่วมรัฐบาลยอมให้ “ทักษิณ” ครอบงำ... จะเป็น “ด่านฟอกขาว” ที่สำคัญ ให้กับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เป็นอย่างดี
เพราะถ้าผ่านด่านนี้ไปได้ ข้อกล่าวหา “ทักษิณ” ครอบงำ พรรคเพื่อไทย และครอบงำ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็จะหมดไป และไม่อาจหยิบโยงได้อีก เพียงแต่ที่ต้องลุ้น ก็คือ กกต.จะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าส่งศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร เท่านั้นเอง