'เพื่อไทย' โชว์เก๋าการเมือง ดับฝันซ่อนแอบนิรโทษ 112

'เพื่อไทย' โชว์เก๋าการเมือง ดับฝันซ่อนแอบนิรโทษ 112

แม้การเดินหน้าออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง ยังดำเนินต่อไป หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นชอบข้อสังเกตในรายงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม(กมธ.นิรโทษกรรม) ด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 270 เสียง เห็นชอบ 152 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

เพราะมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการ “นิรโทษกรรม” อยู่ถึง 4 ร่าง ประกอบด้วย ของพรรคการเมือง 3 พรรคคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกลเดิม พรรคครูไทย และร่างของภาคประชาชน

ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เชื่อว่าจะเข้าที่ประชุมสภาฯสมัยหน้าที่จะเปิด วันที่ 12 ธันวาคม2567

แต่อย่าลืมว่า หากพิจารณาข้อสังเกตอย่างลึกซึ้ง จะพบว่า มีเกมการเมือง “ผลได้-ผลเสีย” ที่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างมากแอบแฝง แม้ว่า วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่ตั้งเอาไว้ จะเพื่อลดความขัดแย้งแตกแยกสร้างความปรองดองในสังคมไทยก็ตาม

เพราะตามข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 105 กำหนดว่า กรณีที่กมธ. มีข้อสังเกตที่หน่วยงานรัฐควรทราบหรือควรปฏิบัติ ก็ให้บันทึกไว้ในรายงานของกมธ. เพื่อให้สภาพิจารณา โดยสภาจะต้องลงมติว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อสังเกตของ กมธ.

หากสภาลงมติ “เห็นด้วย” ประธานสภาก็จะส่งรายงานและข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี ศาล หรือหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ และหน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่ ประการใด ประธานสภาก็จะมาแจ้งในที่ประชุมสภาฯ หลังจากพ้น 60 วัน นับแต่วันที่ส่งข้อสังเกต ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย”

เท่ากับว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่ เพื่อที่จะให้ประธานสภานำไปแจ้งในที่ประชุม

สำหรับข้อสังเกตของกมธ.นิรโทษกรรม สรุปได้ว่า 

1.สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะสร้างความปรองดองและทำให้สังคมคืนสู่สภาพปกติ

 “กมธ.นิรโทษกรรม”เห็นว่า คณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณารายงานเพื่อนำไปเป็นแนวทาง ตราพ.ร.บ.นิรโทษโดยเร็ว

2.ตัวเลขของคดีความของแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้องกัน ควรใช้ข้อมูลสถิติคดีจากสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหลักและต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานมาประกอบการพิจารณาว่า คดีใดเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองบ้าง

3.ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือรัชทายาท) มาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวและเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ

4.ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น) มาตรา 289 (ฆ่าผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรจ์) ไม่ถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ควรให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบต่อการกระทำ

คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการดังต่อไปนี้

 1.กรณีคดีใดอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งรัดคดีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยให้จำแนกว่าคดีดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ หรือ เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ

2.กรณีคดีอยู่ในชั้นสั่งฟ้องหรือไม่ ให้อัยการพิจารณาว่าคดีนั้นเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือประเทศหรือไม่ เฉพาะในคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ความผิดอาญาในฐานอื่น เช่น ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ก่อการร้าย ยาเสพติดให้โทษ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และจัดหาทนายให้แก่ผู้ต้องหา

3.กรณีที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการเลื่อนคดีหรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อคู่ความยื่นคำร้องว่า ฐานความผิดของจำเลยอาจได้รับการนิรโทษกรรมตามรายงานฉบับนี้ และศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างที่ยังไม่มีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมา

เห็นได้ชัดว่า ข้อสังเกตของ กมธ.นิรโทษกรรม มีความเกี่ยวพันกับคดีทางการเมือง และคดี ม.112 ในช่วงการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทราบกันดีว่า มีความใกล้ชิดพรรคการเมืองบางพรรค ที่ฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือ “กลุ่ม 3 นิ้ว” นั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลก ที่นายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการฯ จะแสดงความผิดหวังอย่างมาก

 “ชัยธวัช” กล่าวถึง สาเหตุของการลงมติไม่เห็นชอบ มาจากการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ใช่หรือไม่ ว่า

สาเหตุหลักไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะรายงานไม่ได้เป็นการผูกมัดว่า คณะรัฐมนตรี ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบใด เพียงแต่ข้อสังเกตให้รับไปพิจารณา ซึ่งมีหลายทางเลือก สาเหตุน่าจะมาจากปัญหาเอกภาพภายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนว่า มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะไม่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยื่นเข้ามา โดยเมื่อไม่กี่วันก่อน นายกรัฐมนตรีก็พูดในทำนองว่า เรื่องนิรโทษกรรมให้เป็นเรื่องของสภา

“ผมคิดว่า มีนักการเมืองจำนวนหนึ่ง หากอ้างคำพูดของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่า แข่งกันแสดงความจงรักภักดี ผมขอเติมไปด้วยว่า แข่งกันแสดงความจงรักภักดีแบบล้นเกินในทางที่ผิด 

ผมอยากให้นักการเมือง รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่จงรักภักดี และปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองพิจารณาอีกมุมหนึ่งว่า ควรใช้โอกาสนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งรวมมาตรา 112 เข้ามาด้วย แต่จะเป็นแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร จะเป็นโอกาสคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา” ชัยธวัช กล่าวย้ำ

 ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดกับ อดีตพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่อง “มูลเหตุของการจัดตั้งรัฐบาล ลักษณะการกำเนิดของรัฐบาล นิติสงคราม” สะท้อนความผิดหวังต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า

 “การให้น้ำหนักกับความต้องการส่วนบุคคล/ส่วนครอบครัว มากกว่าเรื่องส่วนรวม / ความกังวลว่าจะถูกยึด “ใบอนุญาตใบที่ 2”

ทั้งหมดนี้ ส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ใน 2 ประการ

1. ความกลัวจนไม่กล้าทำอะไร แม้แค่เรื่องง่ายที่สุดอย่างรายงานนิรโทษกรรม ก็ยังไม่สำเร็จ

 2. โดนพรรคร่วมรัฐบาลขี่คอ กดดัน ต่อรอง เพราะ ต้องง้อเสียงพรรคเหล่านี้ในการร่วมรัฐบาล

เราไม่รู้หรอกว่า ความกลัว และการยอมโดนขี่คอ แบบนี้ จะมีจุดสิ้นสุดเมื่อไร

หากในท้ายที่สุด ยังคงกลัวไปหมดทุกเรื่อง ยอมโดนขี่คอต่อไปเรื่อยๆเพื่อลากให้ครบ 4 ปี

 เราก็จะได้คำตอบว่า “ข้ามขั้ว” แล้ว ได้อะไร? คุณทักษิณได้กลับบ้าน พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล คุณเศรษฐา คุณแพทองธารได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายๆคนได้เป็นรัฐมนตรี ได้ตำแหน่งการเมือง

อาจได้ผลงานทางเศรษฐกิจเล็กๆน้อยๆ ชนิดที่เทียบกับสมัยรัฐบาลไทยรักไทย 44-49 และรัฐบาลเพื่อไทย 54-56 ไม่ได้เลย ต้องขยี้ตาหลายๆครั้งว่า นี่ใช่กลุ่มก้อนที่เคยแสดงผลงานที่ดีในช่วง 44-49 และ 54-56 จริงหรือ?

ส่วนนโยบายที่หาเสียงไว้ เพื่อจะใช้โฆษณาต่อไปว่าเป็นพรรคปฏิรูป ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

 สุดท้าย คนที่ได้มากที่สุด คือ ผู้กำกับระบอบ กลุ่มที่เป็นเจ้าของ “ใบอนุญาตใบที่ 2”

 ทุกพรรคการเมืองควรร่วมกันหยุด “ใบอนุญาตใบที่ 2” ให้เหลือใบอนุญาตจากประชาชนเพียงใบเดียว”

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ ความต้องการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง แท้จริงแล้ว มีวาระซ่อนเร้น หวังช่วยเหลือ “มวลชน” ของตัวเอง ที่ทำผิดกฎหมาย หรือไม่

โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมาย ป.อาญา ม.112 ซึ่งมีความพยายามอาศัยมูลเหตุทางการเมือง เพื่อทำผิด? แล้วอ้างความผิดมาจาก “มูลเหตุทางการเมือง” เพื่อให้อยู่ในข่ายการพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ “นิรโทษกรรม”?

แล้วอย่างนี้ ถ้านิรโทษกรรม จะมีการทำผิดซ้ำหรือไม่ หากทำผิดซ้ำ ก็จะยังคงสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ถือว่า สร้างความปรองดองได้หรือไม่? เป็นเรื่องที่ส.ส.ในสภาฯต้องคิดหนักอยู่เหมือนกัน

 ในทางการเมือง จริงอยู่, ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย อย่าง “ทักษิณ” ที่ต้องคดี ม.112 อาจต้องการ “นิรโทษ” ม.112 ด้วย ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่ละเอียดรอบคอบ ข้อหาใหญ่ที่จะถูกตอกย้ำ ก็คือ “ทำเพื่อทักษิณ” ยิ่งไปกว่านั้น เสถียรภาพรัฐบาลก็จะสั่นคลอนตามไปด้วย เนื่องเพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว และที่สำคัญ คือ จุดยืน “นิรโทษกรรม ไม่รวมคดี ม.112”

การลงมติไม่เห็นชอบของพรรคเพื่อไทย แม้จะขัดแย้งกับรัฐมนตรีและส.ส. “เสื้อแดง” แต่ก็อย่าลืมว่า มีส่วนสำคัญในการ “ดับฝัน” พรรคประชาชน ซึ่งถ้าหากพรรคเพื่อไทยเห็นชอบ ไม่เพียงเข้าทางพรรคประชาชน หากแต่รัฐบาลก็จะต้องรับแรงกดดัน นำเอาข้อสังเกตในรายงานไปสู่การปฏิบัติตามหรือไม่ด้วย ซึ่งก็จะ “เปิดช่อง” ให้ฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองกดดันรัฐบาลอย่างหนักต่อไป

 เหนืออื่นใด นี่คือ การโชว์เก๋าทางการเมือง ที่ทำอย่างไรจะไม่เสียเพื่อน(พรรคร่วมรัฐบาล) และไม่ยื่นดาบให้กับ “ศัตรู”(พรรคประชาชน) เอามาห้ำหั่นตัวเองในภายหลัง ทั้งยังไม่เล่น “เกมเสี่ยง” ที่ใครก็รู้ว่า คืออะไร!

แค่นี้เป็นคำตอบของการไม่เห็นชอบข้อสังเกตในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม ได้หรือยัง?