ผ่าแนวรบ 'อบจ.' 2568 ศึกวัดบารมี 'ผู้ช่วยหาเสียง'
ฤดูเลือกตั้งท้องถิ่น 2568 “ทักษิณ” ประชัน “พิธา-ธนาธร” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง วัดบารมีวัดพลังแดง-ส้ม
ตรวจแนวรบศึก เลือกตั้งท้องถิ่น 47 สนามทั่วไทย ธนาธร-พิธา แบกพรรคส้มหลังแอ่น ทักษิณ ขยันเดินสาย สกัด อบจ.บ้านใหญ่สีน้ำเงิน
ปลายปี 2563 “ทักษิณ ชินวัตร” รับบทผู้ช่วยหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการ ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่ปีนี้ ทักษิณได้แจ้งไว้ล่วงหน้าว่า จะมาเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ลงป้องกันแชมป์ ตั้งแต่ช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา
ที่คาดไม่ถึง ทักษิณจะไปเยือนอุดรธานี ช่วงวันที่ 13-14 พ.ย.2567 ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ “ศราวุธ เพชรพนมพร” ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย
อีกฟากฝั่งหนึ่ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็มาเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ คณิศร ขุริรัง ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี
คาดว่า ในการหาเสียง เลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศ ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทั้งธนาธร และพิธา คงเดินทางไปทุกจังหวัดที่ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคประชาชนลงสนาม ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง
เช่นเดียวกับทักษิณ น่าจะมีแผนเดินสายไปหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย เช่นเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ นครพนม มหาสารคาม ฯลฯ
ส้มแผ่วลุย 20 สนาม
ฤดูกาลเลือกตั้งท้องถิ่นระดับจังหวัดครั้งใหม่ ดูแปลกๆหน่อย เพราะเลือกตั้งไม่พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อเจอกลเกมชิงลาออกก่อนครบวาระของแชมป์เก่า
สำหรับสมาชิกสภาจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทั่วประเทศ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.2567 ทาง กกต.ได้กำหนดปฏิทินเลือกตั้งแล้วคือ รับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.2567 และกำหนดวันเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568
เฉพาะการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ปรากฏว่า มีนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ และโดนใบแดง รวม 29 จังหวัด จึงทำให้เหลือเพียง 47 จังหวัด ที่ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง
ในทั้งหมด 47 สนาม คาดหมายว่า พรรคประชาชน จะส่งผู้สมัครนายก อบจ.ไม่เกิน 20 จังหวัด อาทิ ภูเก็ต, ตราด,เชียงใหม่, ลำพูน, สมุทรปราการ,นนทบุรี,สมุทรสาคร ,นครปฐม,จันทบุรี เป็นต้น
เนื่องจากความไม่พร้อมของทีมงานท้องถิ่นสีส้ม และหาตัวผู้สมัครนายก อบจ.ที่โดดเด่นไม่ได้ จึงไม่อยากใช้วิธีส่งผู้สมัครแบบหว่านแห มากกว่า 40 จังหวัดเหมือนปี 2563 จึงพ่ายแพ้ทุกสนาม
ในวันที่ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เรตติ้งไม่ดี จึงต้องเป็นภาระของ “ธนาธร-พิธา” ที่ต้องออกแรงแบกพรรคประชาชน ลุยสมรภูมิท้องถิ่น หากยึดได้ 2-3 อบจ.ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว
สนามที่แกนนำส้มคาดหวังสูง ก็น่าจะมี อบจ.ภูเก็ต และ อบจ.สมุทรปราการ ส่วนที่เชียงใหม่ คงไม่ง่ายเมื่อเจอผู้ช่วยหาเสียงที่ชื่อ ทักษิณ
วัดพลังแดง-ส้มส่งท้ายปี
หากไม่นับที่โดนใบเหลืองและใบแดง กกต.จัดเลือกตั้งก่อนครบวาระไปแล้ว 18 จังหวัด และช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2567 จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. 9 จังหวัด แต่มีเพียง 2 สนามที่เป็นการต่อสู้ระหว่างเพื่อไทย-ประชาชน
สนามแรก วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2567 สนามเมืองอุดรฯ ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรฯ พรรคเพื่อไทย ชิงดำ คณิศร ขุริรัง พรรคประชาชน
สนามที่สอง วันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค.2567 สนามเมืองอุบลฯ กานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย เจอผู้ท้าชิงสายแข็งคือ สิทธิพล เลาหะวณิช พรรคประชาชน และ จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล พรรคไทรวมพลัง
น่าลุ้นว่า ทักษิณ ชินวัตร จะบินไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ กานต์ กัลป์ตินันท์ น้องชายเสี่ยเกรียง เหมือนสนามอุดรธานีหรือไม่
ชัยชนะระบอบบ้านใหญ่
นับตั้งแต่ 23 มิ.ย.2565 จนถึง 29 ต.ค.2567 พบข้อมูลว่า มี นายก อบจ. พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระรวม 29 จังหวัด โดย 27 จังหวัดเป็นการลาออกก่อนครบวาระ ส่วนอีก 2 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สั่งให้เลือกตั้งใหม่
นายก อบจ. ที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว 18 จังหวัด ผู้คว้าชัยส่วนใหญ่เป็นอดีตนายก อบจ.สายบ้านใหญ่ และนายก อบจ.หน้าใหม่ ก็มาจากบ้านใหญ่เหมือนกัน
1.นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายก อบจ.กาญจนบุรี กลุ่มพลังกาญจน์ ได้รับการสนับสนุนจาก สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พรรคเพื่อไทย
2.ชัยธวัช เนียมศิริ นายก อบจ.เลย ตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย พรรคภูมิใจไทย
3.ฐานิสร์ เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว ทายาท ขวัญเรือน เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคพลังประชารัฐ
4.พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ กลุ่มนครสวรรค์บ้านเรา และตัวแทน ชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
5.สุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทองกลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด ตัวแทน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย
6.พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานีกลุ่มคนรักปทุม สายพรรคภูมิใจไทย
7.สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา และมารดา สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย
8.จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายก อบจ.ชัยนาท พี่สาว อนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ
9.ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา พรรคเพื่อไทย มือทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
10.มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลก แนวร่วมพรรคเพื่อไทย
11.วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี กลุ่มพัฒนาราชบุรี สังกัดกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
12.นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร สายตรง “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ
13.สุรีวรรณ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยภูมิ ภรรยา “มิสเตอร์เกษตร” สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
14.เผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี กลุ่มคุณธรรม สายตรงชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
15.วิเชียร สมวงษ์ อดีตนายก อบจ.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เครือข่ายบ้านใหญ่เมืองบั้งไฟ
16.สีหราช สรรพกุล นายก อบจ.ระนอง ทีมระนองก้าวหน้า สายตรง คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย
17.วัฒนา ช่างเหลา นายก อบจ.ขอนแก่น สมาชิกพรรคเพื่อไทย และลูกชายของเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น
18.มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย และพี่ชาย อนงค์วรรณ เทพสุทิน
บทพิสูจน์จากการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนครบวาระ 18 สนาม สะท้อนว่า ระบอบบ้านใหญ่ยังแกร่ง ไม่มีที่ยืนให้พรรคประชาชน และเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ยังครองยึดสนามท้องถิ่น