ถอดรหัส 200 เสียง 'นายใหญ่' ฝันไกล(อาจ)ไปไม่ถึง
กลับมาอีกแล้ว วาทกรรม 200 เสียง “ทักษิณ” ฝันไกลแต่อาจไปถึงยาก ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยน สู่ศึกสามก๊ก ชิงอำนาจ ชิงธงอุดมการณ์
ผ่าสมรภูมิสีแดง เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ที่มั่นลูกข้าวนึ่งกลายเป็นส้ม ที่ราบสูงสีน้ำเงินรุกคืบ ลุ่มเจ้าพระยา-บูรพาทิศเพื่อไทยหายเกลี้ยง
เหมือนแคมเปญหาเสียงที่มาก่อนเวลา เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศบนเวทีปราศรัยช่วยศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อเย็นวันที่ 14 พ.ย.2567
“เลือกตั้งทีไรก็ชนะ รับรองคราวหน้าไม่มีแพ้ ประเมินแบบผู้สันทัดกรณีเลือกตั้งคราวหน้า เพื่อไทยไม่มีต่ำกว่า 200 เสียง”
จะว่าไปแล้ว ตัวเลข “200 เสียง” เป็นสิ่งที่คนในพรรคเพื่อไทยพูดถึงกันมาหลายเดือนแล้ว
ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 การประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ที่อาคารชินวัตร 3 ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำทางจิตวิญญาณเดินทางเข้าไปพูดคุยกับ สส. และอดีต สส.
วันนั้น นายใหญ่ปลุกเร้าลูกพรรคให้มีความฮึกเหิม พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า “....หลักร้อยจะอยู่แค่สมัยนี้ ถ้าเราทำอีก 3 ปี พรรคเพื่อไทยจะได้ 200 ขึ้น..”
ก่อนจะพูดถึง “200 เสียง” ในการเลือกตั้งปี 2570 ลองไปค้นหาข้อมูลการเลือกตั้งเก่าๆ ก็พอจะคาดเดาอนาคตของเพื่อไทยได้ โดยไม่ต้องให้กูรูการเมืองคนใดมาฟันธง
2 ทศวรรษที่เปลี่ยนไป
การเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2567 พรรคของทักษิณ (ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย) กลายเป็นพรรคอันดับสอง หยุดสถิติพรรคอันดับหนึ่ง ที่ไม่เคยเสียแชมป์ในรอบ 22 ปี ทำให้นายใหญ่เสียศูนย์กับความปราชัยหนนี้
- เลือกตั้ง 2544 พรรคไทยรักไทย ได้ 11.6 ล้านเสียง ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 48 คน
- เลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทย ได้ 18.9 ล้านเสียง ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 67 คน
- เลือกตั้ง 2550 พรรคพลังประชาชน ได้ 12.3 เสียง ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 34 คน (กติกาเลือกตั้งแบ่งเขตพวงใหญ่)
- เลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทย ได้ 15.7 ล้านเสียง ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 61 คน
- เลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทย ได้ 7.8 ล้านเสียง ไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อ (กติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว)
- เลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทย ได้ 10.8 ล้านเสียง ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 29 คน
นี่เป็นพัฒนาการของพรรคของทักษิณ ที่เคยได้คะแนนมหาชนสูงสุด 18 ล้านเสียง เมื่อปี 2548 และลดเหลือ 10 ล้านเสียงในการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว
ล้านนาไม่เหมือนเดิม
สมรภูมิภาคเหนือ เป็นที่มั่นบ้านเกิดของตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน เพื่อไทยชนะยกจังหวัดมาโดยตลอด
หลังเลือกตั้งปี 2566 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคเหนือ พรรคประชาชน สามารถปักธงสีส้มได้เกือบเต็มแผ่นดินล้านนา
เพื่อไทยชนะยกจังหวัดเพียง 3 จังหวัดคือ น่าน,แพร่ และอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก มี สส. 3 คน
สนามใหญ่อย่างเชียงใหม่ ประชาชน (ก้าวไกล) ได้ 7 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง เพื่อไทย 2 ที่นั่ง และพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง ส่วนเชียงราย เพื่อไทยได้ 5 ที่นั่ง และประชาชนได้ 3 ที่นั่ง
ส่วนลำปาง ประชาชนกวาด 3 ที่นั่ง เพื่อไทยเหลือ 1 ที่นั่ง และลำพูน ประชาชนกับเพื่อไทย แบ่งกันไปพรรคละ 1 ที่นั่ง
ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อไทยชนะยกจังหวัดแค่สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ส่วนพิษณุโลก ได้ 3 ที่นั่ง และนครสวรรค์ ได้ 1 ที่นั่ง
ที่เหลืออีก 4 จังหวัดคือ ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร และเพชรบูรณ์ เพื่อไทยไม่ได้ สส.แม้แต่ที่นั่งเดียว
สนามชี้ขาด 200 เสียง
การเลือกตั้งสมัยที่แล้ว ถ้าพรรคของทักษิณไม่พลาดท่าเสียที่นั่งในอีสานไปมากถึง 58 ที่นั่ง ก็คงเป็นพรรคอันดับหนึ่ง รักษาสถิติพรรคไม่เคยปราชัยต่อไป
ปี 2562 ภาคอีสานตอนบน-ตอนกลาง เพื่อไทยชนะยกจังหวัด 10 จังหวัด แต่ปี 2566 เหลือแค่ 2 จังหวัดคือ เลย และหนองบัวลำภู
ส่วนสนาม ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ถูกพรรคคู่แข่งเจาะได้หมด จังหวัดละ 1-2 เขต
เฉพาะสนามบุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ พรรคภูมิใจไทยชนะยกจังหวัด โดยภาพรวมภาคอีสาน ค่ายสีน้ำเงินที่เคยได้ 10 กว่าที่นั่ง เมื่อปี 2562 ก็ขยับเป็น 35 ที่นั่ง
ไม่น่าแปลกใจที่นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า เลือกสมรภูมิ อบจ.อุดรธานี เป็นจุดเปลี่ยนแรก ที่จะทวงคืนแชมป์อีสานตัวจริงคือ ต้องได้ 120 ที่นั่งเหมือนปี 2554
โจทย์ยากของนายใหญ่
อีกโจทย์ใหญ่โจทย์ยากของทักษิณ และแกนนำพรรคเพื่อไทย หากต้องการ 200 เสียงในการเลือกตั้งสมัยหน้า ต้องแก้ไขจุดอ่อน 3 สมรภูมิเป็นการเร่งด่วน
สมรภูมิแรก กรุงเทพมหานคร ที่เหลือ สส.เพียง 1 ที่นั่ง ซึ่งสนามนี้เป็นโจทย์ยาก เพราะผลแพ้ชนะว่าด้วยเรื่องกระแสล้วนๆ
สมรภูมิที่สอง ภาคกลาง รวมทั้งลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก แม่กลองและสุดเขตแดนประจิมทิศ
สมัยไทยรักไทย ทักษิณเคยใช้บริการ “บ้านใหญ่” ยึดครองพื้นที่เหล่านี้ ปัจจุบัน เพื่อไทย เหลือแค่กาญจนบุรี ที่ได้ 4 ที่นั่ง ,ปทุมธานี 1 ที่นั่ง,สระบุรี 1 ที่นั่ง และลพบุรี 1 ที่นั่ง
สมรภูมิที่สาม ภาคตะวันออก พรรคประชาชน (ก้าวไกล) กวาดยกภาค ขณะที่เพื่อไทยก็แพ้ย่อยยับ สอดแทรกได้แค่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา 1 ที่นั่ง ชลบุรี 1 ที่นั่ง และสระแก้ว 1 ที่นั่ง
ดังนั้น สมรภูมิเลือกตั้งไล่มาตั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และเมืองหลวง เป็นการบ้านเร่งด่วนของนายใหญ่ต้องเร่งแก้ไข หากทำไม่ได้ แคมเปญ “200 เสียง” ก็แค่ฝันลมๆแล้งๆ