ธันวา.. องศาเดือด ตรวจแนวรบ '5 อบจ.'
เดือนสุดท้ายของปี 2567 ยังมีเลือกตั้งนายก อบจ. 5 สนาม คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร
KEY
POINTS
- เดือนสุดท้ายของปี 2567 ยังมีเลือกตั้งนายก อบจ. 5 สนาม
- วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม เลือก อบจ.กำแพงเพชร การแข่งขันค่อนข้างเงียบ เพราะบ้านใหญ่หลีกทางให้กัน
- วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม มีเลือก 2 จังหวัด เพชรบูรณ์ และตาก ที่คู่ชิงดำต่างมีกองหนุน มีฐานเสียงสนามใหญ่
- วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม เลือก 2 สนามคือ อุตรดิตถ์ โดยสมรภูมิเมืองพิชัยดาบหัก ไม่ต้องลุ้น
- ส่วน อบจ.อุบลราชธานี สนามสุดท้าย กลายเป็นศึกสามเส้า ระหว่าง เพื่อไทย ประชาชน และไทรวมพลัง
เดือนสุดท้ายของปี 2567 ยังมีเลือกตั้งนายก อบจ. 5 สนาม คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
เริ่มจากวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567 มีการเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร การแข่งขันค่อนข้างเงียบ เพราะบ้านใหญ่ เรืองวิทย์ ลิกค์ หลีกทางให้ซุ้มรัตนากร
สุนทร รัตนากร อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร 3 สมัย พี่ชาย วราเทพ รัตนากร ผอ.พรรคพลังประชารัฐ เพราะ ธานันท์ หล่าวเจริญ ในนามทีมประชาชน (ไม่ใช่พรรคประชาชน) ยังสู้ไม่ได้
วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 มีเลือกตั้ง 2 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์ และตาก สนามใหญ่โซนเหนือตอนล่าง
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ อัครเดช ทองใจสด อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย กลุ่มสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ค่อนข้างชัดว่า นั่งนายก อบจ.สมัยที่ 7
ส่วนคู่แข่งอีก 3 คน ไม่มีใครขึ้นป้ายหาเสียง ไม่มีรถแห่หาเสียง ขณะที่ทีมเพื่อไทยเมืองมะขามหวาน ไม่พร้อมลุย อบจ. ขอรอลงสนามใหญ่
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.ตาก สมรภูมิองศาเดือด เพราะคู่ชิงดำ ต่างมีกองหนุน มีฐานเสียง
อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ ภรรยาของธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ อดีต สส.ตาก และลูกสะใภ้ของ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ลุยหาเสียงหนัก
บ้านใหญ่เมืองตาก พ่ายแพ้ในสนามผู้แทนฯ เพราะย้ายไปสังกัดภูมิใจไทย ขอแก้มือในสนามท้องถิ่น
ส่วนผู้ท้าชิง พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) ไม่ใช่คนหน้าใสกิ๊ก มีเพื่อนต่างพรรคเยอะ
พ.ต.ท.อนุรักษ์ ยังได้รับการสนับสนุนจาก คริษฐ์ ปานเนียม และรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ 2 สส.ตาก พรรคประชาชน
สส.คริษฐ์ ปานเนียม ต้องการสางแค้นเก่า สมัยที่แล้ว แพ้บ้านใหญ่เมืองตากในสนามนายก อบจ. จึงยอมมาช่วยคนของพลังประชารัฐ
วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2567 มีการเลือกตั้ง 2 สนามคือ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
โดยสมรภูมิเมืองพิชัยดาบหัก ไม่ต้องลุ้น ส่วนสมรภูมิเมืองพระวอ พระตา รับประกันสู้กันเลือดเดือด
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ 4 สมัย มีความใกล้ชิด สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 คน
เซียนการเมืองฟันธง ชัยศิริ นั่งนายก อบจ.สมัยที่ 5 แน่ๆ เพราะฐาน สจ.แน่น แถม สส.เพื่อไทยหนุน
ส่วน สหวิช อภิชัยวิศรุตกุล อดีตรองผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ สนับสนุนโดยปัณณวัฒน์ นาคมูล อดีตผู้ประสานงานพรรคก้าวไกล ยังเป็นรองเยอะ
สนามสุดท้ายของปีนี้ การเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี กลายเป็นศึกสามเส้า ระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และพรรคไทรวมพลัง
กานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี 2 สมัย พรรคเพื่อไทย น้องชายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย
กานต์ได้รับการสนับสนุนจาก สส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย 4 คน จาก สส.อุบลฯทั้งหมด 10 คน แถม สส.อุบลฯ พรรค ปชป. 1 คน
เวลานี้ เสี่ยเกรียง กำลังปั่นกระแสท้องถิ่นนิยม “เลือกคนอุบล” เพราะคู่แข่งคนสำคัญเป็นคนโคราช
ส่วนสิทธิพล เลาหะวนิช อดีตรองนายก อบจ.อุบลราชธานี พรรคประชาชน มีธุรกิจส่งออก “พริกขี้หนู” ไปขายต่างประเทศ
สมัยที่แล้ว “เสี่ยน้อย” สิทธิพล เลาหะวนิช เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย สนับสนุนกานต์ กัลป์ตินันท์ ชิงนายก อบจ.อุบลฯ
ตัวเต็งที่คนเมืองดอกบัวบานโจษขาน ตั้งแต่พรรคไทรวมพลัง ล้มช้าง 2 เขตเมื่อเลือกตั้ง สส.ปีที่แล้ว จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ประธานที่ปรึกษาพรรคไทรวมพลัง น้องสาวยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา และน้องสะใภ้ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล แกนนำเพื่อไทยโคราช
“มาดามกบ” จิตรวรรณ ได้รับการสนับสนุนจาก สส.อุบลฯ 6 คน แยกเป็นพรรคไทรวมพลัง 2 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน และพรรคไทยสร้างไทย 1 คน
กลยุทธ์การหาเสียงของทีมมาดามกบ ในเวลานี้ใช้แนวทาง “ป่าล้อมเมือง” โดยเปิดเวทีปราศรัยย่อยในโซนอำเภอรอบนอก ไล่มาตั้งแต่เดชอุดม น้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ ฯลฯ
เสี่ยเกรียงคงต้องลุ้น “พ่อใหญ่ทักษิณ” ไปหาเสียงช่วยเสี่ยกานต์ และหากพ่อใหญ่ไปจริง จะไปพูดยังไงบนเวที เพราะกำนันป้อ ก็เป็นแกนนำเพื่อไทยโคราช
โค้งสุดท้าย สนามอุบลฯ จะกลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อพรรคประชาชน ขนขุนพลแถวหน้าไปหาเสียง เสี่ยเกรียงก็ต้องสร้างกระแสเอาชนะกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองของมาดามกบให้ได้