ทะลวง ‘โผทหาร’ ไม่สะเด็ด ‘การเมือง’แก้ลำ ‘บังคับโหวต’

ทะลวง ‘โผทหาร’ ไม่สะเด็ด  ‘การเมือง’แก้ลำ ‘บังคับโหวต’

เปิดเหตุผล “บอร์ดปรับย้ายกลาโหม” ไม่เคยโหวตแม้แต่ครั้งเดียว ในช่วง17 ปี ทั้งที่บางเหล่าทัพ บางตำแหน่งมีปัญหา แต่ยอมปล่อยผ่าน

KEY

POINTS

  • กระทรวงกลาโหมใช้เวลา 2 เดือนเศษ พูดคุยกับ “ผบ.เหล่าทัพ”และหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับแก้ร่างพ.ร.บ.กลาโหม
  • บอร์ด 7 เสือกลาโหม พิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหาร ยังคงยืนตามตัวเลขเดิมไม่มีการปรับเพิ่ม

 

 

ความคืบหน้า การปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับกระทรวงกลาโหม ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างส่งให้เหล่าทัพ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูรายละเอียดให้แล้วเสร็จ ภายใน15วัน

คาดว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหม ซึ่งมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อขออนุมัติประมาณกลางเดือน ก.พ.

จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย

ราวๆ ปลายเดือน ก.พ. ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติ ก็จะกลายเป็น ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับของรัฐบาล ส่งประกบคู่กับร่าง พ.ร.บ.ของพรรคประชาชน ในการเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาของรัฐสภา

เป็นที่รู้กันว่า ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับล่าสุดนี้ ปรับแก้มาจากร่างเดิมที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม คนก่อนเสนอ ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.พรรคเพื่อไทย ได้ขอถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯทั้งฉบับ หลังสังคมและพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย เหตุเพราะมีเนื้อหาสาระเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิง “โครงสร้างอำนาจ”อย่างชัดเจน 

เช่น มาตรา 35 ที่ระบุว่า ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการ เช่น ยึดอำนาจจากรัฐบาล ก่อกบฏ ขัดขวางการปฏิบัติราชการ เพื่อธุรกิจ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

อีกทั้ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใด ได้กระทำการ หรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1)ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราว ในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

การกำหนดให้ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหาร หรือกฎหมายอาญาทหาร

มาตรา 42 ในส่วนของ “สภากลาโหม” จากเดิมที่ให้ “รมว.กลาโหม”เป็นประธานสภากลาโหม เปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานสภากลาโหม

นอกจากนี้ ยังมีกรณี การปรับย้ายทหารชั้นนายพล ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ และครม.สามารถสั่งทบทวนรายชื่อใหม่ได้ทั้งหมด

ขณะนั้น สุทิน คลังแสง ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนั้น เข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหม ขอความเห็นชอบไปแล้ว เมื่อ 15 ส.ค.2567 ก่อนพ้นจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม

มาถึงยุค ภูมิธรรม เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม พ้นจากสภากลาโหม ก็นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ก่อนที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ส่งคืนกระทรวงกลาโหม กลับไปทบทวน ปรับแก้ ดังนี้

1.ไม่ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบสภากลาโหม โผทหารไม่ต้องผ่าน ครม.

2.ปรับเปลี่ยนบอร์ด 7 เสือกลาโหม เพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง นายกฯ และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รวมเป็น 9 คน

3.ตัดมาตรา 35 ทิ้ง

ต่อมา กระทรวงกลาโหมใช้เวลา 2 เดือนเศษ พูดคุยกับ “ผบ.เหล่าทัพ”และหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะจากทหารเกษียณอายุราชการไปแล้วหลายราย ก่อนจะเป็นที่มา ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับล่าสุดนี้

โดยสาระสำคัญ ยืนตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายให้ไว้ในครั้งแรก

ยกเว้นข้อ 2 คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” พิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหาร ยังคงยืนตามตัวเลขเดิมไม่มีการปรับเพิ่ม

ทำให้บอร์ด 7 เสือกลาโหม ยังคงประกอบด้วย รมว.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ 

แต่ ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับนี้ ได้ติดดาบ “รมว.กลาโหม” เพิ่ม กรณีการปรับย้ายของเหล่าทัพใดมีปัญหา ให้เป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม สั่งการลงมติโหวตได้ทันที

แม้ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ฉบับบังคับใช้อยู่นี้ จะเปิดช่องให้มีการโหวต ไม่ต่างกับ ร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฉบับใหม่ แต่ผ่านมา 17 ปี ไม่เคยมีการโหวตแม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากไม่ได้บังคับ

"ผมได้เข้าประชุมสภากลาโหมหลายครั้ง รู้ว่าทหารไม่ได้ชอบโหวต แต่ชอบคุยกันให้เข้าใจ แม้กระทั่งการแต่งตั้ง ผบ.ทร. ครั้งที่แล้ว ให้โหวตอย่างไรก็ไม่โหวต แต่เห็นว่า ควรเป็นการเห็นพ้องกัน”  ภูมิธรรม กล่าว

ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับใหม่สะท้อนให้เห็น เมื่อฝ่ายการเมืองยอมถอยเกือบสุดซอย ฝ่ายกองทัพต้องถอย 1 ก้าวด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้จุดสมดุล

ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า หาก ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับใหม่นี้ ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน นำไปสู่การบังคับใช้ โดยไม่ถูกปรับแก้ในประเด็นใดระหว่างทางเสียก่อน

หากถึงคราต้องบังคับโหวต “ผบ.เหล่าทัพ” คนใดจะกล้าโหวตสวน “รมว.กลาโหม” เพราะทหารยึดระเบียบวินัยเคร่งครัด ต้องปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยไม่มีข้อแม้

จึงเป็นเหตุผลว่า ตลอด 17 ปี “บอร์ดปรับย้ายกลาโหม”ไม่เคยโหวตแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่บางเหล่าทัพ บางตำแหน่งมีปัญหา แต่ยอมปล่อยผ่าน ไม่แทรกแซง ก้าวล่วงเรื่องเหล่าทัพอื่น

ดังนั้นคงได้เห็น “ผบ.เหล่าทัพ” ขอใช้สิทธิ์ งดออกเสียง ซึ่งจะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองชนะ แม้ในบอร์ดปรับย้ายจะมีเพียง 2 เสียงก็ตาม