1,000 ล้านบาท-พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ Pride Parade
เดือน มิ.ย. นอกจากจะเป็นเดือนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเฉลิมฉลองสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศแล้ว เดือน มิ.ย. 2565 อาจจะถูกบันทึกว่า ไทยเรานั้นได้ยกระดับให้ความสำคัญกับสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ หากรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ที่รับรองสิทธิของคู่ชีวิตต่างเพศเข้าสภาและคลอดออกมาเป็นกฎหมายสำเร็จ
เหตุผลที่กลุ่ม LGBTQ+ ผู้ที่มีหัวก้าวหน้าและกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งหลายในประเทศต่างตะโกนสนับสนุนการยกระดับสิทธิของคู่รักเพศเดียว ก็เพราะกฎหมายจะรับรองสถานะ ตั้งแต่การแต่งงาน รับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินและร่างกาย(ยามเจ็บป่วย)หรือศพ ตลอดจนสิทธิทางกฎหมายเกี่ยวกับผลประโยชน์และอำนาจในการดำเนินการแทน เช่นเดียวกับการเป็นคู่สมรสชายหญิง
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายที่สุด หากคุณรักใครสักคนจนกระทั่งลงหลักปักฐานด้วยกัน แต่มีลูกไม่ได้ จะรับบุตรบุญธรรมก็ลำบาก ยามป่วยก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาตามสิทธิจากองค์กรที่คู่ชีวิตทำงานอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งการจัดการดูแลคู่ชีวิตยามป่วย การจัดการทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งศพ ที่ไม่สามารถทำได้เลยเพราะกฎหมายไม่รองรับสิทธิ ถึงแม้ว่าโดยพฤตินัยจะอยู่กินกันฉันคู่ชีวิต นี่คือเรื่องน่าเศร้าที่สุดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย
หากรัฐสภาสามารถคลอด พ.ร.บ.ที่จะมาอุดช่องว่างตรงนี้ได้ในที่สุดหลังจากพิจารณาตีกลับไปกลับมาจนกินเวลามากกว่า 3 ปี ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็สมควรดูที่เนื้อหา ถึงแม้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อาจจะไม่เท่ากับการสมรสเท่าเทียม แต่ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดี เป็นอีกหนึ่งก้าวที่มั่นคงที่จะพัฒนาต่อยอดเพิ่มพูนสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมากต่อการผ่านร่างกฎหมายหัวก้าวหน้านี้ ไทยจะถูกยกชั้นเทียบเท่าอีก 30 ประเทศที่ยอมรับการสมรสเท่าเทียมในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ กลุ่มประเทศที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยสูง อาทิ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ไทยจะเป็นแห่งที่ 2 ในเอเชียที่ยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เช่นเดียวกับไต้หวัน ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าจะใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด เพราะถึงแม้ไต้หวันเองจะยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ถือว่ามากหรือเปิดกว้างที่สุดในเอเชียแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่าง หากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วในยุโรป ดังนั้น การต่อสู้เพื่อสิทธิที่มากขึ้นจึงดำเนินต่อไป เฉกเช่นกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว
เศรษฐกิจของไทยจะโดดเด่นยิ่งขึ้นในสายตาของกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กระเป๋าหนักที่มีค่าเฉลี่ยในการจับจ่ายใช้สอยสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ ภาพลักษณ์ของไทยซึ่งแต่เดิมก็เป็นประเทศที่อิสระเสรีมีความสนุกสนานน่าเที่ยวอยู่แล้ว ก็จะเปล่งรัศมีมากขึ้น กฎหมายนี้จะเป็นต้นน้ำที่นักการตลาดทั้งในเอกชนและรัฐ อย่าง ททท. นำมาใช้เพื่อต่อยอดดึงเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น
ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในไทยแต่เดิมที่ 40,000-50,000 บาทต่อหัวจะเพิ่มขึ้น เม็ดเงินรวมจากการท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้านบาทจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย นักการตลาดที่ชาญฉลาดย่อมรู้ดีกว่า กิจกรรมที่จะมาเติมเต็มการท่องเที่ยวในช่วงหน้าฝน อาทิ ไพรด์ พาเหรด (Pride parade) นั้นจะดึงเม็ดเงินอย่างมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งเมืองใหญ่และเมืองรองที่จัดงาน Pride parade นี้เรียกได้ว่ารับทรัพย์กันสนั่น อาทิ ไบรท์ตัน เมืองตากอากาศริมทะเลของอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งชุมนุมแห่งความสนุกสนานทั้งของคนทั่วไปและกลุ่ม LGBTQ+ นั้นมีรายได้ในช่วงการจัดงานเกือบ 900 ล้านบาท อย่างมหานครลอสแองเจลิสของสหรัฐก็มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบสูงแตะ 2,600 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับมหานครนิวยอร์กหรือนครรีโอเดอจาเนโรของบราซิล ที่ได้ชื่อว่า Pride parade อลังการที่สุดในโลก
เงินพันล้านบาทคือขวัญถุงของกฎหมายใหม่นี้ ไม่ว่าจะชื่ออะไรขอให้เนื้อหาดี และหากมีความฉลาดในการต่อยอด น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันล้านแน่นอน