เกณฑ์จัดลำดับ สุดยอดมหาวิทยาลัยของโลก | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เป็นดราม่าใหญ่โตกรณีการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัย ตลอดจนคุณภาพการเรียนการสอน รวมไปถึงผลผลิตของมหาวิทยาลัย
ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นคลาสสิกและการถกเถียงเปรียบเทียบทำนองนี้ก็มีให้เห็นทั่วโลก เพราะคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบัน เพราะอุปทานคือ “ที่นั่งเรียน” ในมหาวิทยาลัยดี ๆ นั้นมีจำกัดไม่เพียงพอต่ออุปสงค์คือ “ความต้องการของผู้สมัครเรียน” จึงเกิดระบบสอบคัดเลือก ซึ่งถือเป็นระบบที่ดีเพราะยึดตามความสามารถมากกว่าเกณฑ์การคัดเลือกอื่น ๆ อาทิ จับสลาก หรือการบริจาคเป็นต้น
ทุกประเทศในโลก ทั้งเจริญแล้วและกำลังพัฒนาก็มีช่องว่างของคุณภาพการศึกษา และปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อแตกต่างนั้นก็มากมาย ตั้งแต่งบประมาณ ความอิสระและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย เนื้อหาการเรียนการสอน อุปกรณ์การสอน ความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจตลอดจนศิษย์เก่า คณาจารย์ และที่สำคัญที่สุดคือตัวนักเรียนนักศึกษาเอง
และเพราะข้อแตกต่างเหล่านี้เองทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นมีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งยังมีความสำคัญ เพราะทำเลที่ตั้งหมายถึงการรวมกลุ่มกันของธุรกิจหรือเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้จากภาคปฎิบัติสู่ห้องเรียน
ยกตัวอย่างเช่น หากอยากเรียนแฟชั่นหรือดีไซน์ จะต้องไปเรียนที่ปารีส (ฝรั่งเศส) หรือมิลาน (อิตาลี) หากอยากเรียนบริหารโรงแรมควรไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ หากอยากจะเรียนกฎหมายก็เลือกระหว่างอังกฤษหรือเยอรมนี หากอยากจะเรียนเกี่ยวกับ IT ก็ควรไปทางแถบซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ หากอยากจะเรียนเกี่ยวกับพลังงานทดแทนก็ควรไปแถบยุโรปเหนือ เป็นต้น
ดังนั้น การจะบอกว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกันนั้น จึงสามารถใช้ได้กับความรู้พื้นฐานเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้เฉพาะทาง
ในต่างประเทศมีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยทั้งในแง่ภาพรวม และในแง่จำเพาะเจาะจงไปในรายสาขาและสถาบันที่จัดลำดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกนั้นก็มี 2 ขั้ว คือ ฝั่งสหรัฐโดยสำนัก Times Higher Education และฝั่งอังกฤษโดยสำนัก QS - Quacquarelli Symonds ซึ่งทั่วโลกก็ต่างให้การยอมรับ
เกณฑ์สำคัญต่าง ๆ ที่สองสำนักนี้ใช้ เช่น 1) Peer review คือการที่มหาลัยได้รับการยอมรับจากวงวิชาการด้วยกัน 2) จำนวนบทความวิชาการของมหาลัยที่ถูกอ้างอิงถึง ซึ่งแปลได้ว่าบทความวิชาการที่ผลิตโดยบุคลากรของมหาลัยนั้นมีคุณภาพจนกระทั่งมีนักวิชาการคนอื่นสามารถอ้างถึงและต่อยอดความรู้ได้ 3) การเรียนการสอนและอัตราส่วนผู้เรียนต่อผู้สอน
4) อัตราของนักศึกษาและพนักงานมหาลัยนานาชาติ และ 5) ความพึงพอใจของนายจ้าง อย่างของ QS นั้นอ้างถึงฐานข้อมูลจากบทความวิชาการกว่า 13 ล้านบทความ นักวิชาการ 70,000 คน และ ผู้จ้างงาน 40,000 คน เพื่อคัดลำดับมหาลัยทั้งหมดกว่า 1,000 มหาลัยชั้นนำที่สุดของโลก
ดังนั้น จึงไม่ต้องมาเถียงกันมาก และหากจะถกเถียงกันก็สามารถทำได้ด้วยข้อมูลว่าที่ไหนมีความเชี่ยวชาญด้านอะไร และอยู่ในลำดับไหน ซึ่งก็สามารถช่วยเหลือผู้เลือกเรียนหรือผู้ปกครองในการเลือกมหาวิทยาลัยได้มากทีเดียว
ปัญหาถกเถียงทั้งหมดจะดูเป็นเรื่องเล็กมาก หากเราจะถอยหลังมาสักก้าวเพื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์จากค่านิยมในการศึกษาของไทยที่นิยมส่งลูกเรียนสายสามัญเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นปัญหาใหญ่ แรงงานมีฝีมือเหล่านี้ที่มาจากสถาบันเฉพาะทาง เช่น อาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศเช่นเดียวกันกับทุกสาขาอาชีพ