ยูนิคอร์นทั่วโลก 1,191 บริษัท มี 2 บริษัทในประเทศไทย
สุดท้ายความยั่งยืนของบริษัทและรายได้อาจเป็นความสำเร็จที่แท้จริงมากกว่า
ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังมาแรง ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ โดยมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ให้คนในสังคมใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตดี ธุรกิจสตาร์ทอัพแทบทุกรายใฝ่ฝันที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและก้าวสู่การเป็นบริษัท “Startup Unicorn”
Unicorn (ยูนิคอร์น) หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือถูกควบรวมกิจการไป บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในโลกนี้หลายรายก็เคยเป็นสตาร์ทอัพและไต่ระดับขึ้นไปสู่ยูนิคอร์นก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังเช่น
- Facebook เคยถูกตีมูลค่าสูงสุดที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม ปี 2011 และได้เข้า IPO ในเดือนพฤษภาคม ปี 2012 ด้วยมูลค่า 1.04 แสนล้านดอลลาร์
- · Alibaba เคยถูกตีมูลค่าสูงสุดที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์และได้เข้าIPO ด้วยมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่2.38 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน ปี 2014
- Uber เคยถูกตีมูลค่าสูงสุดที่ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม ปี 2018 และได้เข้า IPO ในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ด้วยมูลค่า 8.24 หมื่นล้านดอลลาร์
- Grab เคยถูกตีมูลค่าสูงสุดที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ปี 2019 และได้จดทะเบียนนตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะคือการควบรวมกิจการ ในเดือนธันวาคม ปี 2021 ด้วยมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
จำนวนบริษัทยูนิคอร์นและมูลค่าโดยรวมในแต่ละประเทศ เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งด้านการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ หลายหน่วยงานในภาครัฐของบ้านเราพยายามส่งเสริมให้มีจำนวนบริษัทยูนิคอร์นที่มากขึ้น และทุกๆ ครั้งที่มีบริษัทยูนิคอร์นรายใหม่ๆ ก็จะเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจทำให้บริษัทอื่นๆ อยากเป็นรายต่อๆ ไปที่ก้าวเข้าสู่ยูนิคอร์น
การจัดอันดับจำนวนบริษัทยูนิคอร์นในโลกเริ่มมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ ปี 2015จากรายงานของบริษัทวิจัย CB Insights ซึ่งในตอนนั้นมีเพียง 82 บริษัท โดยจำนวนมีเพิ่มขึ้นมาทุกปี และมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2021 ถึง 468 บริษัท สำหรับข้อมูลล่าสุดเมื่อก.ค. ปี 2022 พบว่ามีจำนวนถึง 1,191 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 3.861 ล้านล้านดอลลาร์
ปัจจุบันบริษัทยูนิคอร์นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ByteDance ของประเทศจีนซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนบริษัทยูนิคอร์นใหญ่อันดับสองคือ SpaceX ของ Elon Mask เจ้าของ Tesla ที่มีมูลค่า 1.27 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยบริษัท SHEIN ของประเทศจีนทีทำทางด้านอีคอมเมริส์ซึ่งมีมูลค่า1 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ก็มีบริษัทยูนิคอร์นขนาดใหญ่อีกหลายรายที่ทำทางด้านซอฟต์แวร์หรือ FinTech ที่หลายคนอาจรู้จักกันดีอย่าง Canva Stripe หรือ Checkout.com
ประเทศที่มีจำนวนบริษัทยูนิคอร์นมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีจำนวน 615 บริษัท ตามด้วยประเทศจีน 174 บริษัท ประเทศอินเดีย 65 บริษัท และสหราชอาณาจักร 43 บริษัท ส่วนในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ประเทศที่มีบริษัทยูนิคอร์นมากที่สุดคือ สิงคโปร์ มีจำนวน 13 บริษัท ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 7 บริษัท ฟิลิปปินส์ 2 บริษัท เวียดนาม 2 บริษัท และมาเลเซีย 1 บริษัท โดยบริษัทยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงสุดในอาเซียน คือ J&T Express ที่ทำด้านการขนส่งโดยมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีบริษัทยูนิคอร์นมากที่สุดคือ กลุ่มของ FinTech โดยมีจำนวน 242 บริษัท ตามมาด้วยบริษัทด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จำนวน 217 บริษัท และบริษัทด้านอีคอมเมริส์จำนวน 115บริษัท นอกจากนี้ยังพบว่า มีบริษัททางด้านสุขภาพ และด้านเอไอเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของจำนวนบริษัทยูนิคอร์นมากในอันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลการติดตามจำนวนบริษัทยูนิคอร์นของแต่ละสำนักวิจัยอาจมีจำนวนและมูลค่าที่แตกต่างไปบ้าง เช่น Crunchbase อาจระบุว่ามีจำนวนบริษัทยูนิคอร์นทั่วโลกถึง 1,399 บริษัทโดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ และสามารถระดมทุนรวมกันได้ถึง 8.19 แสนล้านดอลลาร์ การติดตามข้อมูลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน
สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้ง CB Insights และ Crunchbase จะระบุเหมือนกันว่า มี 2 บริษัทคือ Ascend Money ที่ทำทางด้าน FinTech ซึ่งได้เป็นบริษัทยูนิคอร์นเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ และ Flash Express ที่ทำทางด้านการขนส่งซึ่งได้เป็นบริษัทยูนิคอร์นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ Crunchbase กลับระบุว่า บริษัทยูนิคอร์นเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนักลงทุนบางรายเริ่มให้ความสนใจกับรายได้ที่แท้จริงของบริษัทมากกว่าการวิเคราะห์มูลค่าของบริษัท
โดยล่าสุดกลุ่มด้านเทคโนโลยีคลาวด์เริ่มมีบัญญัติคำว่า บริษัท “เซนทอร์ (Centaur)” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ทำรายได้ต่อปีต่อเนื่อง (ARR หรือ annual recurring revenue) มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ โดยพบว่า บริษัทเหล่านี้มีความน่าจะเป็นในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ดีกว่า และทำรายได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าวันนี้กระแสของการสร้างบริษัทยูนิคอร์นยังมีความจำเป็นในการที่จะสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ การติดตามตัวเลขจำนวนบริษัทยูนิคอร์นยังมีความจำเป็นในด้านของการเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี แต่การเข้าสู่ยูนิคอร์นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นความสำเร็จทั้งหมด แต่สุดท้ายความยั่งยืนของบริษัทและรายได้ของบริษัท ที่อาจเป็นความสำเร็จที่แท้จริงเสียมากกว่า