‘เอไอ’ เพิ่มศักยภาพ ระบบโทรคมนาคม

‘เอไอ’ เพิ่มศักยภาพ ระบบโทรคมนาคม

เอไอเปรียบเสมือนเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน พัฒนาระบบโทรคมนาคมให้ได้มาตรฐาน ก้าวผ่านข้อจำกัดการใช้งาน และมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจโทรคมนาคมคือ ตัวแปรชิ้นสำคัญที่เชื่อมต่อเราให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งรากฐานของเมืองในปัจจุบัน 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าในธุรกิจโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอยู่เสมอ เช่น มีการนำคลื่นไมโครเวฟ ใยแก้วนำแสง ดาวเทียม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาระบบการสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตให้รวดเร็วทันใจ และพัฒนาระบบภาพ และเสียงให้มีความคมชัดขึ้นกว่าเดิม

การพัฒนาดังกล่าวจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะในปัจจุบันบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมต่างๆ ได้ให้ความสำคัญ และลงทุนในการนำ "เอไอ" ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญของยุคนี้มาใช้พัฒนาระบบการสื่อสารด้วยเช่นกัน 

เพื่อเป้าหมายในการสร้างบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า รวมทั้งพัฒนากระบวนการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายๆ ด้าน ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำเอไอมาใช้ในระบบโทรคมนาคมในบทความนี้ 

เริ่มจาก การนำเอไอเข้ามาปรับปรุงเครือข่ายการใช้งาน (Network Optimization) โดยหลังจากวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการใช้งาน และการเข้าถึงเครือข่ายของผู้ใช้งานในแต่ละภูมิภาคและเขตเวลา เอไอจะแนะนำการเชื่อมต่อเครือข่ายที่เหมาะสมสำหรับระบบโทรคมนาคมในช่วงนั้นๆ รวมทั้งจับสัญญาณความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือแก้ปัญหา และสร้างความมั่นใจว่าระบบเครือข่ายจะสามารถให้บริการผู้ใช้งานได้อย่างมีคุณภาพตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ มีการนำเอไอเข้ามาใช้ในการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) โดยอาศัยความสามารถของแมชชีนเลิร์นนิงศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา เพื่อทำนายแนวโน้มปัญหาเครือข่ายล่มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมทั้งคาดการณ์การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สำคัญต่างๆ 

เช่น หอส่งสัญญาณ สายไฟ เซิร์ฟเวอร์ หรือแม้กระทั่งกล่องทีวีดิจิทัลที่บ้านของผู้ใช้บริการ เมื่อได้ข้อมูลการคาดการณ์เหล่านี้แล้ว เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนเข้าไปตรวจสอบแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุด ก่อนปัญหานั้นๆ จะเกิดขึ้นจริง และเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ในระยะยาว ผู้ประกอบการจะลดต้นทุนเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การสร้างผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) เพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มที่นิยมโต้ตอบกับระบบอัตโนมัติ โดยอาจพิจารณาเริ่มใช้กับการให้บริการในบางส่วนก่อน 

เช่น แนะนำวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง อย่างการติดตั้งอุปกรณ์ วิธีรีเซ็ตเครือข่ายสัญญาณ การตั้งค่าพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ช่วยเสมือนจริงจะทำหน้าที่ในการคัดกรองหัวข้อความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดูแลแก้ปัญหาต่อได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อีกส่วนสำคัญที่เอไอสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมได้คือ การป้องกันการทุจริตการใช้งานเครือข่าย (Fraud Prevention) ซึ่งเอไอสามารถเรียนรู้

และจับรูปแบบพฤติกรรมการใช้งานที่ต่างไปจากเดิม หรือพฤติกรรมน่าสงสัยที่จะนำไปสู่กระบวนการทุจริต 

เช่น การเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการสร้าง และใช้บัญชีปลอมเพื่อการทุจริต เอไอจะบล็อกการเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วในทันทีที่พบเจอ พร้อมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบป้องกันความเสียหายมหาศาลที่อาจจะตามมาได้

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีการนำเอไอเข้ามาใช้พัฒนาการบริการ และกระบวนการทำงานของธุรกิจคมนาคมมากขึ้นในหลายมิติ ซึ่งสร้างผลดีในระยะยาวทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะรายงานสถิติของผลสำรวจต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ใช้งานเครือข่ายต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์ และการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 

เอไอจึงเปรียบเสมือนเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน พัฒนาระบบโทรคมนาคมให้ได้มาตรฐาน ก้าวผ่านข้อจำกัดการใช้งานในด้านต่างๆ และมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์