เอไอกับข่าวปลอม
บทบาทของมนุษย์ในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีทำให้เรามีสถานะที่ “เหนือกว่า” เทคโนโลยีมาโดยตลอด แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอาจมีบางสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล
แต่สุดท้ายมนุษย์ก็จะปรับตัวและหาทางนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองเสมอ
ความก้าวหน้าในด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เรามีฐานะเป็นผู้ใช้ มิใช่ผู้ผลิตหรือผู้พัฒนาซึ่งอาจทำให้เราได้รับผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเอไออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะความสามารถในการก้าวข้ามมาสู่การเป็นผู้ผลิตและผู้พัฒนาจะสร้างความได้เปรียบในฐานะการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลปริมาณมหาศาลที่สามารถนำมาต่อยอดได้ในอนาคต
ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นแล้วจากความชาญฉลาดในการเลือกเส้นทางของแผนที่ในระบบออนไลน์ที่ล้วนได้ข้อมูลจากผู้ใช้ทั่วโลก แต่คนไทยเรากลับเป็นได้เพียงผู้ใช้งานไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มใดๆ จากข้อมูลดังกล่าวได้เลย
เช่นเดียวกับพัฒนาการของระบบเอไอที่แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาระบบเอไอของไทยขึ้นมาควบคู่กัน แต่งบประมาณและการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของเราเทียบไม่ได้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน
ผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจึงส่งผลเป็นทวีคูณในบ้านเรา ทั้งในแง่ของการติดอยู่ในสถานะผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้พัฒนา กับผลกระทบจากเทคโนโลยีเอไอที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่คนในหลากหลายสาขาอาชีพ และอาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ประเด็นแรกที่ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีเอไอจะสร้างผลกระทบต่อสังคม คือ การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพราะในโลกยุคปัจจุบันก็เชื่อถือข้อมูลข่าวสารได้ยากมากอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น กรณีความสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เราแทบจะไม่รู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเลย
เพราะข่าวที่เสนอมาจากฝ่ายรัสเซีย ก็แทบจะชี้ขาดว่ารัสเซียกำลังชนะสงครามเพราะยึดเมืองสำคัญๆ ไว้ได้เกือบทั้งหมด ขณะที่ยูเครนกำลังอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
ตรงกันข้ามกับข่าวที่ได้จากผ่ายยูเครนและนาโต้ที่เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากนานาประเทศส่งเข้าไปสนับสนุน และสื่อฝั่งตะวันตกก็บอกว่ารัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำ
ในประเทศที่เป็นกลางจึงแทบจะไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะการกระหน่ำของข่าวสารในโลกออนไลน์ที่ต่างฝ่ายต่างโฆษณาชวนเชื่อกันอย่างเต็มที่ และกรณีแบบนี้เทคโนโลยีเอไอจะมีส่วนในการกระหน่ำซ้ำเติมให้แย่ลงได้อีก
เพราะในโลกของข้อมูลข่าวสาร “ปริมาณและความเร็ว” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะจูงใจให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อข่าวลวงหรือ Fake News ได้โดยง่าย
เหมือนกรณีโควิด-19 ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ข่าวลือแพร่สะพัดได้ง่ายและเร็วด้วยจำนวนข่าวปลอมจำนวนมหาศาลและคนที่หลงเชื่อก็พร้อมจะส่งต่อกันจนระบาดได้เร็วเสียยิ่งกว่าเชื้อไวรัสเสียอีก
ด้วยความเฉลียวฉลาดของเทคโนโลยีเอไอในแง่ของการสร้างสรรค์เนื้อหาแปลกๆ ใหม่ๆ จึงอาจถูกผู้ใช้ที่ตั้งใจจะสร้างข่าวปลอมใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดด้วยการถล่มโลกออนไลน์ด้วยข่าวปลอมจำนวนมหาศาลที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันและเป็นไปในทิศทางที่ผู้ปล่อยข่าวต้องการ
และด้วยการประมวลผลอย่างรวดเร็ว ข้อมูลทั้งหมดก็พร้อมจะถูกส่งผ่านช่องทางต่างๆ ไปถึงเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ที่บิดเบือน เพื่อหวังผลบางอย่าง เช่นกรณีของเคมบริดจ์อนาไลติกาที่เคยใช้ข่าวปลอมเพื่อหวังผลทางการเมือง จนอาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 มาแล้ว
เอไอจึงมีโอกาสถูกนำมาใช้เพื่อกรณีแบบนี้มากขึ้นในอนาคตเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
หากไม่มีการคิดป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นเราคงต้องเผชิญกับวิกฤติข้อมูลข่าวสารในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ...ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ