ความสุขยุคดิจิทัล (2)

ความสุขยุคดิจิทัล (2)

ประเด็นสำคัญของคนทำงานที่เป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัยคือเรื่องของ “เงินเดือน” ที่ดูเหมือนจะหาจุดสมดุลได้ยากยิ่ง

แม้ว่าหลายคนจะพอใจในเงินเดือนที่ตัวเองได้รับแต่หากรับรู้เงินเดือนของเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็มักจะเกิดการเปรียบเทียบแล้วบานปลายกลายเป็นความไม่พอใจจนไม่มีความสุขกับเงินเดือนของตัวเอง

อีกต่อไป

ความสุขที่เราควรจะได้รับแต่เดิมเพราะเราพอใจกับเงินเดือนของเราแล้วจึงกลับกลายเป็นความทุกข์เมื่อรู้ว่าคนอื่นได้เงินเดือนมากกว่า หรือแม้แต่คนอื่นที่ได้เงินเดือนใกล้เคียงกันแต่เรารู้สึกว่าเขาทำงานน้อยกว่าเราจึงรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเกิดความทุกข์ใจขึ้นอย่างฉับพลัน

ความสุขจากภายในของเราจึงสร้างได้ด้วยการไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่นและต้องตระหนักว่าความสุขอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทองหรือตำแหน่งหน้าที่การงานเสมอไป ซึ่งเป็นเคล็ดลับสร้างความสุข 2 ข้อแรกที่เกริ่นไว้ในครั้งที่แล้ว

ต่อในข้อที่ 3 คือ อย่าตั้งความหวังไว้จนเกินความเป็นจริง เช่นเรื่องเงินเดือนที่เราจะพบว่ามากเท่าไรก็ไม่เคยพอเสียที จากเงินเดือนหลักหมื่นเราอาจเคยคิดว่าได้เพิ่มขึ้นใกล้ๆ แสนก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อถึงจุดนั้นจริงๆ เราก็อยากได้มากกว่าแสน ไปจนถึงหลายแสน

ความคาดหวังจึงก่อให้เกิดความไม่รู้จักพอและไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และท้ายที่สุดก็อาจทำให้เราหลงลืมความสุขที่อยู่ตรงหน้า เช่นเรามีเงินเดือนเหมาะสมกับความสามารถและเอื้อให้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ครอบครัวทำให้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่พี่น้องมากขึ้น ซึ่งพี่น้องทุกคนก็รักใคร่กันดี นับเป็นความสุขพื้นฐานที่ตีค่าเป็นเงินไม่ได้

ข้อที่ 4 ความสุขไม่ได้เกิดจากตัวเราเท่านั้นแต่เป็นสิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบข้าง เช่นการมีลูกๆ ที่ตั้งใจเรียนรับผิดชอบชีวิตได้เป็นอย่างดีจนทำให้ทุกคนชื่นชม หรือลูกหลานที่เล่นกีฬาเก่งจนได้รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันมากมายก็เป็นความสุขที่เราสัมผัสได้ทันที

ไม่ว่าจะเป็นลูก คนรัก หรือเพื่อนฝูงที่อยู่รอบข้างจึงล้วนทำให้เรามีความสุขได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรามีต่อโลกภายนอกว่าเรารู้จักความพึงพอใจกับผู้คนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เพราะบางคนก็คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจนคิดว่าความสุขต้องเกิดขึ้นจากตัวเองเท่านั้น ทำให้เขาขาดโอกาสในการหาความสุขจากคนรอบข้างไปทันที

ข้อ 5 ความสุขที่ได้จากการใฝ่รู้ ไม่ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และการยอมรับว่าเรื่องบางเรื่องเรายังไม่รู้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแยกแยะว่าเรื่องบางเรื่องไม่มีสาระใดๆ ในชีวิต แต่เป็นความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

เพราะบางครั้งเราอาจพบว่ากำลังเสียเวลาในชีวิตไปกับความอยากรู้บางเรื่องบางราวจนเกินความจำเป็นซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดและไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น มีแต่สร้างความวุ่นวายให้เราต้องดิ้นรนหาข้อมูล

ข้อ 6 อยากมีความสุขต้องไม่กลัวภาวะที่ไม่มีความสุข เพราะบางคนหนีปัญหาหรือหนีงานยากเพราะกลัวจะไม่มีความสุข ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยิ่งหนี หรือยิ่งไม่กล้าเผชิญหน้าก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดเกินขึ้นในใจจนไม่มีความสุข

บางครั้งเราไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาจนก่อให้เกิดผลเชิงลบตามมามากมายกลายเป็นความทุกข์

ที่เราต้องเผชิญในท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเผชิญหน้ากับอุปสรรคทันทีจึงอาจทำให้เรามีความสุขในระยะยาวได้มากกว่า

อีกปัญหาหนึ่งก็คือการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเพราะกลัวที่จะทำให้คนอื่นไม่มีความสุข ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาได้มากไม่แพ้กัน เพราะก่อนที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขได้นั้นจำเป็นต้องให้ตัวเราเองมีความสุขได้เสียก่อน

..ยังมีข้อคิดอื่นๆอีก ติดตามต่อไปในฉบับหน้าครับ