ความผันผวนแบบสุดโต่ง

ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์จะมาถึงนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงที่ทั่วโลกเกิดความโกลาหลจนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
โดยเฉพาะอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐทำให้มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
ประเมินเบื้องต้นว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และแนสแด็คกระทบมูลค่าตลาดถึง 86 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าการลดลงในช่วงการระบาดของโควิด 19 เสียอีก แต่เพียงไม่กี่วันประธานาธิบดีทรัมป์ก็ประกาศระงับการใช้อัตราภาษีใหม่เป็นเวลา 90 วัน มูลค่าตลาดก็ฟื้นตัวขึ้นมาทันที
เช่นเดียวกับบ้านเราที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงทันที 51 จุดในวันที่ 8 เมษายน ก่อนจะดีดกลับมา 59 จุดในช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนเทศกาลสงกรานต์ สภาวะจิตใจของนักลงทุนทั่วโลกจึงไม่ต่างอะไรกับการขึ้นรถไฟเหาะที่ขึ้นและลงอย่างควบคุมไม่ได้ และขึ้นเร็วลงเร็วจนปรับตัวตามไม่ทัน
ประเด็นที่เราต้องทำความเข้าใจคือมาตรการภาษีของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้เป็นเพียงการใช้กลไกภาษี เพื่อจำกัดการนำเข้าเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งใจใช้มันเพื่อเป็นการควบคุมดุลการค้าของประเทศเป็นหลัก
ด้วยความเป็นประเทศผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้กับหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มาตลอดโดยเฉพาะ 3 ปีล่าสุดนี้คิดเป็นมูลค่าเกือบ
3 ล้านล้านบาท แม้กระทั่งประเทศจีนที่ถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญและแม้จะถูกมาตรการกีดกันทางการค้ามากมายก็ยังได้ดุลจากสหรัฐฯ ในปี 2567 เพียงปีเดียวกว่า 10 ล้านล้านบาท
เมื่อเกิดความไม่สมดุล รัฐบาลทรัมป์จึงต้องหาทางตอบโต้ทุกประเทศที่ได้เปรียบการค้าต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีนที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรง จึงพุ่งเป้าใช้มาตรการภาษีตอบโต้กับจีนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ 34% แต่เมื่อจีนโต้ตอบจึงเพิ่มเป็น 84% และสูงสุดถึง 125% ในครั้งล่าสุด โดยจีนยังเป็นประเทศเดียวที่ไม่ถูกชะลอการบังคับใช้ 90 วันเหมือนประเทศอื่นๆ
ด้วยความโผงผางและสุดโต่งของทรัมป์จึงทำให้เราเห็นมาตรการที่แข็งกร้าวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผ่านการประกาศของ Stephen Miran ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ที่ระบุชัดเจนว่าภาษีศุลกากรนั้นเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ และคาดหวังการตอบรับจากนานาประเทศใน 5 รูปแบบนั่นคือ
อย่างแรก คือการยอมรับภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไม่ตอบโต้ เพราะการตอบโต้จะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลง
อย่างที่สอง ประเทศต่างๆ สามารถหยุดการค้าที่ไม่เป็นธรรมได้โดยการเปิดตลาดและซื้อสินค้าจากอเมริกามากให้ขึ้น
อย่างที่สาม ประเทศต่างๆ สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศและการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ รวมถึงซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ให้มากขึ้นกว่าในอดีต
อย่างที่สี่ ประเทศต่างๆ สามารถลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ต้องเผชิญภาษีศุลกากรหากผลิตสินค้าในสหรัฐโดยตรง
และอย่างที่ห้า ที่ถือว่าสุดโต่งที่สุดคือ ประเทศต่าง ๆ สามารถเขียนเช็คเพื่อจ่ายเงินให้กับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยตรงเพื่อสนับสนุนภารกิจของสหรัฐฯ ในการดูแลประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งสหรัฐฯ รับภาระดังกล่าวมาหลายสิบปี
การปรับตัวของทั่วโลก และประเทศไทยเองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในภาวะที่ผันผวนและก่อให้เกิดความไม่แน่นอนเช่นนี้
เทศกาลปีใหม่ของไทยจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้หยุดพักจากความวุ่นวายทั้งปวงและได้พบญาติผู้ใหญ่เพื่อขอพรและกลับมารับศึกหนักหลังจากนี้
...สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ 2568 ครับ...