นวัตกรรมและการเติบโตของ Uniqlo | พสุ เดชะรินทร์
ยูนิโคล่ (Uniqlo) เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย และก็รุกไปในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทแม่ได้แถลงผลประกอบการออกมา และจากกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากก็ฉุดตลาดหุ้นนิกเกอิของญี่ปุ่นพุ่งทะยานไปสู่จุดสูงสุดในรอบหลายปีด้วย
Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ อีก 9 แบรนด์ โดยมียูนิโคล่เป็นเรือธงใหญ่ บริษัทได้ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาสสิ้นสุด พ.ย.2566 โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ที่เติบโตมาจากทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศที่เติบโตดีนั้นก็มาจากทั้งจีนและสหรัฐ
ความสำเร็จของ Fast Retailing โดยเฉพาะผ่านทางยูนิโคล่ ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบเสื้อผ้าและผลิตออกมาอย่างรวดเร็วเหมือนกับบริษัทที่เป็น Fast Fashion อื่น แต่จุดเด่นคือนวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะผ่านทางเส้นใยและวัตถุดิบทั้ง Heattech, Airism, BlockTech, DryEx เป็นต้น หรือผ่านทางการตัดเย็บ และล่าสุดที่สนใจในผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาโลกมากขึ้น
ปัจจุบัน เมื่อนึกถึงบริษัทที่เติบโตด้วยนวัตกรรม ชื่อของบริษัทจากญี่ปุ่นจะไม่ค่อยติดโผมากเหมือนในอดีต โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริษัทจากประเทศในเอเชีย แต่ Fast Retailing และ Uniqlo ก็ยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของญี่ปุ่นที่สามารถเป็นหนึ่งกรณีศึกษาของการเติบโตด้วยนวัตกรรมได้
ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Fast Retailing ชื่อ Tadashi Yanai ปัจจุบันอายุ 74 ปี ได้รับมอบธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าผู้ชายมาจากคุณพ่อ ในปี 2527 ก็เปิดสาขาแรกที่ฮิโรชิมา โดยตั้งชื่อว่า Unique Clothing Warehouse ซึ่งตอนแรกก็จะเรียกสั้นๆ ว่า Uni-Clo แต่จากความผิดพลาดในการจดทะเบียนลิขสิทธิ์จึงได้กลายมาเป็น Uniqlo ในปัจจุบัน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Fast Retailing
ในระยะแรกยูนิโคล่จะเน้นที่เสื้อผ้าคุณภาพดีด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับลูกค้าทุกคน ที่ต้องการเสื้อผ้าสำหรับใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ต่อมา Yanai และ Uniqlo ก็ให้ความสนใจต่อเรื่องของนวัตกรรมมากขึ้น ตัวอย่างที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีได้แก่ Heattech
ในช่วงทศวรรษที่ 2530 Yanai มองเห็นว่าถึงเสื้อหนาวทำไมจะต้องหนา ดังนั้น ยูนิโคล่จึงร่วมมือกับ Toray Industries ซึ่งเป็นบริษัททางด้านเคมีภัณฑ์และวัสดุชื่อดังของญี่ปุ่นในการค้นคว้าและวิจัย เพื่อหาวัสดุสำหรับกันหนาวที่ไม่หนา มีการทดลองและสร้างต้นแบบมากว่า 10,000 ตัว
กระทั่งค้นพบโดยบังเอิญว่าเถ้าจากภูเขาไฟสามารถดูดซับความร้อนและเก็บไว้ได้ตลอดทั้งคืน ดังนั้น จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาสร้างวัสดุที่เก็บรักษาความร้อนจากร่างกาย และนำไปสู่ Heattech ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เป็นหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จ นอกเหนือจากร่วมมือเรื่องนวัตกรรมแล้ว ยังมีความร่วมมือในเรื่องของการออกแบบด้วย จากที่ในช่วงแรกที่เน้นเสื้อผ้าที่เรียบง่าย มาในช่วงหลังยูนิโคล่ก็พยายามหันมาสร้างความแตกต่างด้วยการร่วมมือกับนักออกแบบและบริษัทต่างๆ ยูนิโคล่จะมีคอลเลกชันพิเศษที่เป็นความร่วมมือระหว่างแบรนด์ออกมาเป็นระยะ เช่น ร่วมมือกับ Kaws หรือ Marimekko เป็นต้น
อย่างไรก็ดี Fast Retailing และ Uniqlo ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายหนึ่งที่สำคัญ นั้นคือการส่งไม้ต่อของผู้บริหารสูงสุด Yanai เป็นผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ที่ไม่ได้เหมือนกับผู้บริหารญี่ปุ่นทั่วไป แต่เป็นผู้นำที่กล้าที่จะคิด กล้าที่จะตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นผู้สั่งการอยู่มากพอสมควร แต่ทั้งหมดก็เพื่อการเติบโตของบริษัท ดังนั้น ความยากคือการหาคนมาแทน Yanai
Yanai เคยพยายามส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารคนใหม่ (ที่เลือกมาเอง) แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปกุมบังเหียนอีกครั้ง คนใหม่ต้องการที่จะเติบโตอย่างมั่นคง แต่ตัวเขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและเติบโต
ก็ต้องดูกันต่อว่าสุดท้ายแล้ว บุคคลที่ได้ชื่อว่ารวยที่สุดในญี่ปุ่นจะสามารถวางมือจากธุรกิจที่ตัวเองสร้างมากับมือได้จริงหรือไม่ และ Fast Retailing ในยุคหลัง Yanai จะเป็นอย่างไร