ธุรกิจ FMCG โจทย์ใหญ่สู่ความยั่งยืน
ถ้าเทียบมูลค่าของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในโลก ธุรกิจ FMCG ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคถือว่าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ด้วยมูลค่าธุรกิจกว่าแสนล้านดอลลาร์ และยังเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3-5% ในแต่ละปี
บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพากันขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนด้วยการออกผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์สีเขียว รณรงค์เรื่องการรีไซเคิล หรือ สนับสนุนกิจกรรมต่อสู้กับโลกร้อนและภารกิจที่ด้านความยั่งยืน
บริษัท Commetric ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการวิเคราะห์การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลประชาสัมพันธ์กว่า 3,000 บทความของบริษัทชั้นนำในธุรกิจ FMCG พบว่าแทบจะทุกบริษัทตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 หรือ 2050 โดยเน้นประเด็นที่คล้ายกัน คือ การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์และการจัดการองค์กร การรีไซเคิล การกำจัดของเสีย และ บรรจุภัณฑ์สีเขียว
แต่สิ่งที่องค์กร NGO ภาคประชาชน หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ และ นักวิจัยกำลังตั้งคำถามกับธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็คือ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนจริงๆ หรือเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เพื่อฟอกเขียวองค์กร
ล่าสุดที่อังกฤษ บริษัท FMCG รายใหญ่ของโลกรายหนึ่งกำลังถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐว่า “ฟอกเขียว” ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยทำให้ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นหน่วยงานกรีนพีซยังออกมาระบุว่าบริษัทดังกล่าวจำหน่ายซองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งถึงกว่า 150 ล้านซองต่อวัน
การประชุม World Economic Forum ล่าสุด ยกประเด็นสำคัญเรื่องการเร่งพัฒนาโมเดลธุรกิจฟื้นฟูโลก โดยการทำให้องค์กรสามารถเติบโต สร้างผลกำไร โดยที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป
โดยเป้าหมายหลักมุ่งไปที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค FMCG เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนเชิงรุกในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและผลักดันเรื่องความยั่งยืน
เช่น เปลี่ยนแนวทางจากการลดความเสียหายไปสู่การใช้แนวทางฟื้นฟู หลายบริษัทในกลุ่มอาหารเช่น Nestlé, Danone, และ Pepsico ก็ใช้แนวทางการฟื้นฟูซึ่งครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในการฟื้นฟูที่ดินทางการเกษตร, การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรของชุมชน
อีกทั้งมีโอกาสในด้านอื่นๆ ที่ธุรกิจ FMCG สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงรุกได้ เช่น การสนับสนุนชุมชนในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ, การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อทำให้ชุมชนและสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบบโซ่อุปทาน สินค้าของธุรกิจ FMCG ที่นำเข้าวัตถุดิบ ผลิตสินค้า กระจายสินค้าไปยังร้านค้าและการจัดการหลังการบริโภค
การขับเคลื่อน Regenerative Supply chain เพื่อฟื้นฟูระบบโซ่อุปทานสามารถเน้นไปที่ เช่น การใช้วัตถุดิบจากแหล่งการเกษตรแบบฟื้นฟู การร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานมีระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ แนวทางเหล่านี้จะช่วยสร้างระบบซัพพลายเชนที่ยั่งยืนและโปร่งใส
ภาวะโลกเดือดที่กำลังเป็นอยู่ทำให้ผู้บริโภคมองหาความจริงใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ องค์กรธุรกิจที่มองเรื่องนี้เป็น “โอกาส” และลงมือทำจริง จะสามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค และสร้างโอกาสให้กลายเป็นยอดขายและผลกำไรได้ไม่ยาก