ยูเครนฉลองวันสันติภาพ ศิลปินหญิงสร้างงานที่จุฬาฯ
ในช่วงที่บ้านเมืองลุกโชนด้วยไฟสงคราม ผู้คนสังเวยชีวิตให้กับสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อ อีกมากมายต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ความสิ้นหวังสาดซัดไปทั่วแผ่นดิน สงครามข่าวสารเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่ต่างฝ่ายต่างระดมเผยแพร่สู่โลก งานศิลปะดูเหมือนเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารแบบ “น้อยแต่มาก” หนึ่งภาพสื่อความหมายได้ลึกล้ำ
สัปดาห์นี้ Tetiana Cherevan ศิลปินหญิงชาวยูเครนนำหนึ่งในผลงานศิลปะชุด “Berehyni” มาอวดโฉมบนกำแพงตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“Berehyni” (เบเรฮิเนีย) หมายถึง เทพธิดาของชาวยูเครน ผู้ช่วยปกปักรักษาประชาชนผู้ดำเนินชีวิตตามหลักสัจธรรมและความเคารพ งานศิลปะชิ้นนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2557 และยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในวันนี้ที่ยูเครนถูกรัสเซียรุกราน ส่งผลกระทบต่อหลายล้านชีวิตทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงศิลปินหญิงรายนี้ เธอและครอบครัวมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2556 หลังจากนั้นก็มาเมืองไทยแทบทุกปี ใช้เวลาราว 2-4 เดือน เทเทียนาสร้างสรรค์งานศิลปะหลายชิ้นที่นี่จากแรงบันดาลใจมากมายในไทย เช่น ดอกไม้
แต่ปีนี้หลังจากครอบครัวมาเมืองไทยเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ก็ไม่สามารถกลับยูเครนได้อีกเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. เทเทียนาและครอบครัวต้องพักพิงอยู่ในไทย เธอจึงมีความคิดอยากวาดภาพบนฝาผนังในกรุงเทพฯ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อประเทศไทย แสดงกำลังใจอันเข้มแข็งของประชาชนยูเครน และส่งเสริมมิตรภาพระหว่างสองประเทศ โชคดีที่่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิและส่งเสริมประชาธิปไตย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำให้ฝันของเทเทียนาเป็นจริง เปิดพื้นที่ให้ศิลปินชาวยูเครนแสดงออกเพื่อสันติภาพ และเสรีภาพ ของชาวยูเครนและชาวโลก
"เราทุกคนต่างมีเทพธิดาคอยคุ้มครอง แม่, ยาย, บุคคลผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนต่างมีที่พึ่งทางจิตใจไว้ขอคำแนะนำเรื่องงานและเส้นทางชีวิต วีรสตรีในโครงการของดิฉันคือผู้หญิงที่มีพลังอำนาจจากคำพูดและการกระทำ ด้วยการทำหน้าที่ต่อประชาชนของพวกเธอโดยไม่เคยคิดถึงตัวเอง พวกเธอทิ้งร่องรอยเอาไว้ในงานศิลปะ การเมือง แพทย์ จิตอาสา หรือความรักที่มีต่อครอบครัว เพราะพวกเธอเราจึงยืนหยัด ชีวิตเราจะไม่หยุดนิ่ง" ศิลปินกล่าวถึงงานของเธอ
ระหว่างที่เทเทียนากำลังขมักเขม้นอยู่กับงานศิลปะบนกำแพง Serhii Polishchuk สามีซึ่งถือเป็นคนใกล้ชิดศิลปินที่สุด เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของงานศิลปะในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของยูเครน
“ศิลปินหลายคนจากทั่วโลกพยายามบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในยูเครน เพราะคนเราอาจได้ยินถ้อยคำที่ปราศจากความหมาย แต่ถ้ามีภาพจะเข้าใจความหมายมากขึ้น เราจึงอยากให้คนไทยเริ่มคิดถึงความเจ็บปวด ค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและประเทศที่สวยงามนี้” Polishchuk กล่าว เช่นเดียวกับโอเล็กซานเดอร์ ไลซัค อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย
"ศิลปะคือภาษาแห่งมวลมนุษยชาติ ศิลปะช่วยให้มนุษย์เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อมองเข้าไปให้ลึกถึงจิตวิญญาณของยูเครนรวมถึงประชาชนและงานศิลปะ จะช่วยให้คนไทยเข้าใจว่าทำไมคนยูเครนยังคงยืนหยัด ไม่ยอมแพ้"
สำหรับการวาดภาพที่ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เทเทียนาทำมาหลายวันแล้ว จนกระทั่งมาเสร็จสมบูรณ์ในวันนี้ (8 พ.ค.) ก่อนที่เธอและครอบครัวจะออกจากประเทศไทยไปบาร์เซโลนาในเย็นวันเดียวกัน ไม่ใช่การกลับยูเครนเหมือนครั้งก่อนๆ ซึ่งวันที่ 8 พ.ค.เป็นวันเปี่ยมความหมายสำหรับประเทศยูเครน อุปทูตอธิบายว่า วันนี้เป็นวันแห่งสันติภาพและเอกภาพ ส่วนวันที่ 9 พ.ค.เป็นวันที่รัสเซียเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2
“ตอนนี้รัสเซียใช้วันที่ 9 พ.ค.ไปในทางที่ผิด บิดเบือนความจริง เรียกยูเครนว่านาซี เราไม่เคยรำลึกถึงนาซี เราสู้เพื่อแผ่นดินและดินแดนของเรา”
ตามที่สื่อตะวันตกรายงานกันมากว่าในวันที่ 9 พ.ค. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียจะทำอะไรสักอย่างในวันสำคัญนี้ เช่น อาจประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับยูเครน (ที่ผ่านมารัสเซียเรียกสิ่งที่ทำกับยูเครนเป็นปฏิบัติการพิิเศษทางทหาร) อุปทูตยูเครนกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้
“แต่ผมคิดว่า อะไรก็ตามที่ปูตินและรัฐบาลของเขาพูดล้วนบิดเบือนสถานการณ์และข้อเท็จจริง”
นั่นคือความเห็นของอุปทูตยูเครนซึ่งก่อนหน้านั้นหนึี่งวัน ในวันที่ 7 พ.ค. ไลซัคได้ไปร่วมงานวันยุโรปปี 2565 กับคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทยที่มิวเซียมสยาม ในจังหวะหนึ่ง เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปกล่าวเชิญเขาขึ้นเวทีกับคณะตัวแทนอียูทั้งหมด ร่วม “Toast to Europe Day” วงดนตรีบรรเลงเพลงประจำสหภาพยุโรป “Ode to Joy” ราวกับเป็นสัญลักษณ์การต้อนรับยูเครนเข้าสู่อียูหากพิจารณาด้วยสายตาคนนอก
"เป็นเรื่องปกติมากครับ เป็นวิถีปกติ ยูเครนกำลังเข้าสู่แวดวงประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป เราเป็นสมาชิกของแวดวงนี้ เราทราบอยู่แล้วว่าเขาต้องเชิญเราขึ้นเวที แน่นอนผมขอขอบคุณสหภาพยุโรปที่เชิญ ผมคิดว่าเป็นสัญญาณดี เราพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป ไม่ได้เป็นความพยายามเพื่อยูเครนฝ่ายเดียวแต่เพื่อยุโรปและโลกทั้งหมด ผมหวังว่านั่นน่าจะเป็นสัญญาณให้เราได้เข้าเป็นสมาชิกอียูเร็วๆ นี้" อุปทูตยูเครนกล่าวทิ้งท้าย