World Pulse: ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้ ทรงพลังถึงระดับรากหญ้า
วันนี้การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ได้เข้ามาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย คนที่เป็นคอบอลล้วนมีทีมในดวงใจให้เชียร์อยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่ใช่แฟนกีฬาอย่างผู้เขียนรวมถึงคนไทยอีกหลายๆ คน ก่อนหน้านี้คงจะเชียร์ทีมเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย เคยถามตัวเองกันบ้างมั้ยว่าทำไมถึงเชียร์ทีมโสมขาว คำตอบง่ายๆ ก็ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไงล่ะ!
ในวันที่รัฐบาลไทยพร่ำพูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่โจเซฟ ไน (Joseph Nye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันให้นิยามไว้ในปลายทศวรรษ 1980 ว่าหมายถึง อำนาจในการโน้มน้าวสร้างการนิยมยอมรับแทนการบีบบังคับหรือใช้เงินซื้อใจ ตัวอย่างมีให้เห็นคือความสำเร็จของเกาหลีใต้ที่อุตสาหกรรมบันเทิงดังระเบิดไปทั่วโลก และเชื่อหรือไม่ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ที่ได้จากอุตสาหกรรมบันเทิงหรือการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้นี้นอกจากทำเงินเข้าประเทศได้มหาศาลแล้วยังส่งผลถึงประชาชนคนธรรมดาชาวโสมขาวด้วย เรื่องนี้ผู้เขียนเพิ่งประสบมากับตัวเองจึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง
ผู้เขียนได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย ให้ไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่กรุงอัสตานา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปฏิรูปการเมือง รัฐบาลเชิญผู้สื่อข่าวจาก 46 ประเทศทั่วโลก เหนือสุดทางฝั่งอเมริกาคือแคนาดา เหนือสุดทางฝั่งยุโรปคือนอร์เวย์ ใต้สุดคือประเทศไทย เพื่อนๆ ละแวกนี้ใกล้สุดคืออินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีใต้ การเดินทางไกลไปคนเดียวไร้เพื่อนฝูงหลังจากไม่ได้เดินทางมานานเพราะโควิดสร้างความหวาดหวั่นให้กับนักข่าวได้เหมือนกัน
ก้าวออกจากอาคารผู้โดยสาร กระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานจัดคนขับรถมารอรับ พร้อมชูป้ายชื่อสามผู้โดยสารที่มาเครื่องบินลำเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ คิม มียัง หรือ มียา ผู้สื่อข่าวสาวจากเกาหลีใต้ เราทั้งคู่เดินมาเจอคนขับรถพร้อมๆ กัน เมื่อสอบถามที่มาที่ไปกันแล้วต่างฝ่ายก็ต่างกรี๊ด เพราะทั้งนักข่าวไทยและเกาหลีใต้ต่างคุ้นเคยกันและกันเป็นอย่างดี มียาไม่เคยมาเมืองไทยแต่ก็ชอบต้มยำกุ้ง เช่นเดียวกับผู้เขียนที่ไม่เคยไปเกาหลีใต้ แต่ก็ได้ดูซีรีส์และภาพยนตร์มาบ้างแม้ไม่ถึงขนาดเป็นแฟนคลับเกาหลีตัวยงก็พอจะเอ่ยชื่อ ฮยอน บิน และ ซน เยจิน ได้ ท่ามกลางทุกคนที่ล้วนเป็นคนแปลกหน้าต่อกันเจอมียาก็เหมือนได้เจอเพื่อนเก่า อีกทั้งใบหน้าของเธอยังละม้ายคล้ายคลึงอดีตประธานาธิบดีมุน แจอิน ถ้าบอกว่าเป็นญาติก็เชื่อ
เช้าวันรุ่งขึ้นคณะสื่อมวลชนนานาชาติปฏิบัติงานตามตารางอันแน่นเอี้ยด จนกระทั่งเย็นย่ำในงานเลี้ยงอาหารเย็นของกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน จึงเป็นเวลาที่คณะทั้งหมดได้ทำความรู้จักกันแบบสบายๆ ผู้เขียนสังเกตว่า เมื่อมียาแนะนำตัวเองว่ามาจากเกาหลีใต้ หลายคนจะชื่นชมประเทศนี้ผ่านการรับชมซีรีส์และภาพยนตร์ ส่วนประเทศไทยนั้นเพื่อนๆ ต่างแดนมักพูดถึงแหล่งท่องเที่ยว อาหาร สปา เรียกได้ว่านับเฉพาะสถานการณ์นี้เราก็ได้รับคำชมเหมือนกันแต่ยังไม่มากเท่าเกาหลีใต้
“ใครคือคนไทยที่ดังที่สุดในโลก” แดน นักข่าวอาวุโสจากแคนาดาตั้งคำถาม เมื่อได้รับการแนะนำตัวจากนักข่าวไทย ซึ่งคนถูกถามก็มัวแต่งงจนตอบไม่ถูก
“ลิซ่า แบล็กพิงค์” รัสเซลล์ นักข่าวอเมริกันโพล่งขึ้นมาทันทีแล้วปรี่เข้ามาร่วมวง เน้นการสนทนากับมียาเป็นหลัก รัสเซลล์คุยอย่างเปิดเผยว่า เขาเกิดที่โคลอมเบีย พ่อแม่อเมริกันรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และยังมีลูกพี่ลูกน้องชาวเกาหลีที่ญาติอเมริกันรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงคุ้นเคยกับคนเกาหลีเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะรัสเซลล์รู้จักศิลปินดังเกาหลีมากมายคุยกับมียาอย่างออกรส ส่วนคำตอบของรัสเซลล์ที่ว่า ลิซ่า แบล็กพิงค์ คือคนไทยที่โด่งดังที่สุดในโลกก็ชวนให้คิด เธอเป็นคนไทยก็จริง แต่ที่โด่งดังระดับโลกได้เพราะผ่านระบบการทำงานของเกาหลีใต้มิใช่หรือ เพราะฉะนั้นความดังของลิซ่าก็ต้องยกเครดิตให้ประเทศผู้ปลุกปั้น จะมามัวหลงชาติปลาบปลื้มว่าลิซ่าเป็นคนไทยอย่างเดียวไม่ได้
อิทธิพลของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้ที่มีต่อประชาชนคนธรรดาอย่างมียาเห็นได้ชัดในวันต่อๆ มา คณะสื่อมวลชนนานาชาติมีกำหนดเยือนสำนักงานใหญ่ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี 6 คน ซึ่งรวมถึงสำนักงานของประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ และในวันเลือกตั้ง 20 พ.ย.พวกเราต้องไปสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติในกรุงอัสตานาและที่หมู่บ้าน Karaotket ภูมิภาคอัคโมลา ห่างจากใจกลางกรุงอัสตานาราว 10 กิโลเมตรเศษ ทุกที่ที่ไปเมื่อมีการแนะนำตัวคนส่วนใหญ่จะรู้จักเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสาวๆ แสดงออกอย่างชัดเจนว่าชอบซีรีส์เกาหลีมาก ณ จุดนี้ตัวแทนจากไทยต้องขอยอมแพ้ไปก่อน เพราะยังไม่เจอชาวคาซัคสถานรู้จักประเทศไทยสักเท่าไหร่
ที่เล่ามาทั้งหมดแม้เป็นกรณีศึกษาเพียงกรณีเดียวแต่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาด้วยตนเอง ซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้นจากการชมภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรีส่งผลให้คนต่างชาติรักใคร่ผู้คนจากประเทศนั้นได้จริงๆ หากมองย้อนไปในอดีตช่วงทศวรรษ 1960-1980 เกาหลีใต้เคยปกครองโดยเผด็จการทหารมาก่อน ยุคประธานาธิบดีปัก จุงฮี และชุน ดูฮวาน เคยปราบปรามภาพยนตร์ ดนตรี และวรรณกรรมที่ถูกมองว่าไม่รักชาติ ทศวรรษ 1960 และ 1970 บ่อยครั้งที่ปัก จุงฮีเล่นงานศิลปินผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลยกเลิกคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางไปต่างประเทศ ชาวเกาหลีที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกนำมุมมองใหม่ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจ ตีความศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี และรูปแบบนวัตกรรมในการแสดงความรู้สึกเสียใหม่ เปิดโอกาสให้คนเก่งอายุน้อยผู้มากความสามารถ
ปี 1996 ศาลรัฐธรรมนูญห้ามการเซ็นเซอร์ เปิดให้ศิลปินทำงานในหัวข้อใหม่ๆ ได้ คนหนุ่มสาวยยุคใหม่มีโอกาสแสดงแนวคิดอันโดดเด่นผ่านภาพยนตร์และดนตรี ผู้สร้างภาพยนตร์ดังๆ เติบโตขึ้นในยุคนี้ นอกจากนี้รัฐบาลโซลยังทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไฮเทค เพื่อให้ประชาชนได้เชื่อมต่อกับโลก
ถึงวันนี้ความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลโซลเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก แม้แต่คนเล็กๆ อย่างมียาก็ได้รับผลพวงจากความสำเร็จนั้น สำหรับคนที่อยากถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งออกด้านวัฒนธรรมอย่างเปิดกว้าง ไม่ตีความวัฒนธรรมภายใต้กรอบอนุรักษนิยมแบบเดิมๆ เปิดโอกาสให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ไม่มีข้อหาชังชาติ เสรีภาพเท่านั้นที่จะปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกไปไม่สิ้นสุด แล้ว “ซอฟต์พาวเวอร์” จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องร้องแรกแหกกระเชอ และประชาชนรากหญ้าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้น