มองการปฏิรูปอาร์เจนตินาล่าสุด

มองการปฏิรูปอาร์เจนตินาล่าสุด

อาร์เจนตินา เข้ากระบวนการปฏิรูปหลายครั้ง หลังล้มละลายเพราะนโยบายประชานิยม ก่อนการเริ่มใช้นโยบายอันแสนเลวร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อาร์เจนตินาพัฒนาไปไกลถึงกับได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุด

เนื่องจากความมั่งคั่งดังกล่าวไม่ถูกแบ่งปันแบบเป็นธรรม เพราะภาคเศรษฐกิจและการเมืองถูกผูกขาดโดยกลุ่มมหาเศรษฐี จึงมีนักการเมืองหัวใสชื่อ ฮิโปลิโต อิริโกเยน เสนอนโยบายประชานิยมแบบแจกสิ่งต่างๆ เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนทั่วไป และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ตอนนั้นไม่มีใครสงสัยว่าประชานิยมแนวนั้นจะเป็นยาเสพติดที่รัฐบาลทุกสมัยต้องใช้เพื่อเอาใจประชาชน ความมั่งคั่งตั้งแต่ต้นส่งผลให้อาร์เจนตินาอยู่มาได้ 40 ปี ก่อนที่จะล้มละลายตามด้วยภาวะล้มลุกคลุกคลานและการปฏิรูปหลายครั้ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชาวอาร์เจนตินาเลือกนายฮับวิแอร์ มีเล ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายมีเลเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ซึ่งมีภูมิหลังทางเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีแบบตกขอบ

เขาเสนอนโยบายหลายอย่างซึ่งแตกต่างแบบคนละขั้วกับแนวที่ชาวอาร์เจนตินาคุ้นเคยมานาน จึงมีผลเท่ากับการปฏิรูปประเทศอีกครั้ง

ผู้สันทัดกรณีลงความเห็นว่า ชาวอาร์เจนตินาเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี มิใช่เพราะชอบนโยบายที่เขาเสนอ หากเพราะหมดความอดทนกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ตนต้องเผชิญอยู่ หลังนายมีเลบริหารประเทศมา 6 เดือน สื่อหลายสำนักเข้าไปประเมินความคืบหน้า ปรากฏว่าเขาได้เริ่มดำเนินนโยบายบางอย่างตามคำมั่นสัญญาในระหว่างการหาเสียง แต่หลายอย่างยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่ม

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง นายมีเลลดค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาลงกว่า 50% ลดจำนวนกระทรวงลงครึ่งหนึ่ง พร้อมกับลดพนักงานรัฐลงราว 70,000 คน หยุดการก่อสร้างโครงการของรัฐ พร้อมกับตัดเงินสนับสนุนราคาพลังงาน ผลปรากฏว่างบประมาณของรัฐบาลเปลี่ยนจากการขาดดุลอย่างต่อเนื่องมานาน เป็นการเกินดุลมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ดี มีผลที่รัฐบาลไม่ต้องการตามมา เช่น อัตราเงินเฟ้อใกล้ 300% ต่อปี ทั้งที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ส่งผลให้อัตราคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 55% จาก 45% ของจำนวนประชากรเมื่อตอนก่อนเขาเข้ารับตำแหน่ง

ในบรรดาคำมั่นสัญญาที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มทำเมื่อไร ได้แก่ การยุบธนาคารกลางและเงินเปโซ พร้อมกับนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาใช้เป็นเงินตราของประเทศ เป็นไปได้สูงว่านายมีเลจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะนโยบายดังกล่าวมีค่าเท่ากับการหมดอิสรภาพในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ แต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะได้ผลดีตามที่ต้องการ 

ด้านการขายรัฐวิสาหกิจกว่า 20 แห่งให้แก่เอกชน รวมทั้งสายการบิน การรถไฟ การไปรษณีย์ และการประปา ถูกต่อต้านอย่างหนักจากรัฐสภา ร่างกฎหมายเพื่อขายกิจการเหล่านั้นไม่ผ่านวาระที่ 2 ของรัฐสภาเมื่อเดือน ก.พ. รัฐบาลปรับเปลี่ยนข้อเสนอเมื่อเดือน เม.ย. โดยลดขอบเขตของการขายจนได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภายังไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอใหม่นั้น

ไม่เฉพาะรัฐสภาเท่านั้นที่ต่อต้านมาตรการปฏิรูปของนายมีเล สหภาพแรงงานก็ต่อต้านอย่างหนักด้วย การต่อต้านของสหภาพแรงงานมีทั้งการแสดงออกทางการรวมตัวกันประท้วงตามท้องถนน จริงอยู่การประท้วงแนวนั้นมิใช่ของใหม่ในอาร์เจนตินา แต่การเริ่มออกมาลงถนนของชนชั้นแรงงานหลังรัฐบาลเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่ถึงครึ่งปี บ่งบอกว่าปัญหาของอาร์เจนตินาจะยังสาหัสต่อไป

จากการเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุด อาร์เจนตินาตกลงมาอยู่ลำดับที่ 66 หากวัดตามรายได้ต่อคน แต่ปัญหาของอาร์เจนตินามิได้อยู่ที่ระดับของรายได้ต่อคน หากอยู่ที่การกระจายรายได้อันไม่เท่าเทียมกันสูงมาก

ประเด็นนี้เป็นที่ประจักษ์เนื่องจากชาวอาร์เจนตินากว่าครึ่งหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากจน ทั้งที่ประเทศมีรายได้ในระดับปานกลาง หรือราว 78,000 บาทต่อเดือน ต่อคน ความไม่เท่าเทียมกันสูงดังกล่าวชี้ชัดว่าอาร์เจนตินาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก หากมองจากมุมของการกระจายรายได้ในช่วงเวลากว่า 100 ปี

จริงอยู่กลุ่มมหาเศรษฐีมิได้ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองดังครั้งก่อนอีกต่อไป แต่การขับไล่พวกเขาด้วยนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายมีต้นทุนสูงมาก ซึ่งนายอิริโกเยนคงคาดไม่ถึง