“brain rot” คำแห่งปี 2024

“brain rot” คำแห่งปี 2024

หลายสิ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ.2024 ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หรือความรู้สึกของผู้คนทั้งในระดับท้องถิ่นเเละโลก สิ่งหนึ่งซึ่งช่วยชี้ให้เห็นในภาพรวมว่าผู้คนจำนวนมากรู้สึกนึกคิดอย่างไรในปีที่ผ่านมาก็คือ Word of the Year หรือ “คำแห่งปี” ที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ผู้จัดพิมพ์ Oxford Dictionary ที่มีชื่อเสียงของโลกได้สำรวจและประกาศให้ชาวโลกรู้ตอนปลายปีทุกปีเป็นเวลาต่อเนื่องกันมา 20 ปี

“คำแห่งปี” สะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจของผู้ใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีมากกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลก (ผู้ใช้เป็นภาษาแม่ 360-400 ล้านคน และผู้ใช้เป็นภาษาที่สอง 750 ล้านคนถึง 1,000 ล้านคน) สำนักพิมพ์พจนานุกรมภาษาอังกฤษอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน เช่น Cambridge และ Merriam-Webster ทั้งหมดใช้การมีคณะกรรมการพิจารณาคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเป็นพิเศษในปีนั้นและให้ประชาชนร่วมให้คะแนนตัดสินออนไลน์

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดได้ประกาศเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “brain rot” เป็น “Word of the Year” ของปี 2024 “brain rot” หมายถึงการคาดการณ์ถึงความเสื่อมของสภาพจิตหรือสติปัญญาของบุคคล หนึ่งอันเกิดจากการบริโภคข้อมูลข่าวสารซึ่งส่วนหนึ่งไร้สาระและไม่มีความสำคัญตลอดจนความบันเทิงอย่างมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากออนไลน์

ในระหว่างปี 2023 ถึง 2024 มีผู้ใช้คำนี้เพิ่มขึ้นถึง 230 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นคำที่มีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมีการพูดถึงการบริโภคข่าวสารดิจิทัลและสุขภาพจิต ที่น่าสังเกตก็คือคนรุ่นใหม่ Gen Z (เกิดระหว่าง ค.ศ. 1997-2012) และ Gen Alpha (เกิดค.ศ. 2013 เป็นต้นมา) ใช้คำนี้กันมากเป็นพิเศษในโซเชียลมีเดีย

“brain rot” ถ้าแปลตรงตัวก็คือสมอง (brain) เสื่อมหรือเน่า (rot) เมื่อรวมกันจึงหมายถึงการเสื่อมของสมองคำว่า “brain rot” ในไวยากรณ์อังกฤษเป็น compound noun โดยประกอบด้วย “rot” เป็น head noun และ “brain” เป็น modifier ที่ขยายชนิดของ rot ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพจิตและสติปัญญา“brainrot” เป็นประเภท open compound กล่าวคือเขียนเป็นสองคำแยกกัน ซึ่งต่างจาก closed compound ซึ่งเขียนสองคำติดกัน เช่น notebook / haircut / airport เป็นต้นอย่างไรก็ดีมีผู้ใช้คำนี้โดยเขียนติดกันเป็น brain rot อยู่ไม่น้อย

brain rot เป็นคำสแลง หรือคำที่ใช้กันอย่างไม่เป็นทางการ หรือรู้จักกันเฉพาะในบางกลุ่มในช่วงเวลาหนึ่ง โดยมักใช้กันในโซเชียลมีเดียหรือพูดคุยแต่ไม่ใช้กันอย่างเป็นทางการในการเขียน ประโยคที่ใช้ เช่น “ผมเล่นโซเชียลวันละหลายชั่วโมงต่อวัน จนมันทำให้ผมเกิด brain rot”

ข้อสังเกตก็คือ brain rot มิได้หมายถึงการทำลายสมองอย่างแท้จริง แต่หมายถึงการคาดการณ์ว่าสภาพจิตและสติปัญญาจะเสื่อมลงอันเนื่องมาจากการบริโภคข้อมูลที่ไร้ประโยชน์มีเนื้อหาเเละคุณภาพต่ำจากสื่อโดยเฉพาะจากออนไลน์ พูดอีกอย่างก็คือเป็นคำที่ประชดสถานการณ์ของการใช้โซเชียลมีเดียเกินความเหมาะสมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันในกลุ่มคนรุ่นใหม่

เมื่อประกาศคำนี้ออกมาก็เป็นที่ฮือฮาและดูจะถูกใจผู้คนทั่วไปเพราะในหลายสถานการณ์คำนี้สอดคล้องกับความรู้สึกเเละความนึกคิดของพ่อแม่หรือแม้แต่เหล่าคนรุ่นใหม่ด้วยกันเองคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสำนักพิมพ์ตัดสินใจเลือกคำนี้เพราะสะท้อนเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก และเป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง

เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนกล่าวถึงคำแห่งปี 2023 คือ “rizz” ซึ่งเป็นคำสแลงโดยย่อมาจาก “charisma” ซึ่งหมายถึงเสน่ห์ของบุคคล หรือคุณสมบัติพิเศษเฉพาะคนที่ทำให้คนอื่นชื่นชอบ หรือความสามารถในการดึงดูดใจมาเป็นคู่โรแมนติก “rizz” เป็นคำนาม ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็เป็น “rizz up” ซึ่งหมายถึงเพิ่มเสน่ห์เพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม หรือเพิ่มความสามารถในการสร้างเสน่ห์ คำนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมเพราะเป็นคำที่มีอำนาจในการอธิบายได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับ “brain rot”

การได้รับเลือกเป็น “คำแห่งปี” มิใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งปี 2024 มีการใช้คำภาษาอังกฤษถึง 26,000 ล้านคำ และมีการลงคะแนนเสียงจากประชาชนกว่า 30,000 คน อีกทั้งมีกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตัดสิน “brain rot” ให้ทั้งสีสันของภาพที่เกิดขึ้น การคาดคะเนอารมณ์ขัน การสื่อความ รวมทั้งการออกเสียงที่ดูหนัก (“rot”) อย่างสอดคล้องกับความจริงจังของความหมาย อีกทั้งมีการใช้อย่างกว้างขวางเเละสอดคล้องกับความรู้สึกของสังคมอย่างเป็นการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

“brain rot” ไม่ใช่คำใหม่หากมีมาตั้งเเต่ปี ค.ศ.1854 ในหนังสือชื่อ Walden เขียนโดยนักเขียนอเมริกันผู้มีชื่อเสียง Henry David Thoreau โดยวิจารณ์ว่าเกิด “สมองเน่า” มีมาตรฐานของการใช้ปัญญาต่ำลงเพราะพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องที่มีความคิดซับซ้อนดังเปรียบได้กับการเน่าของมันฝรั่ง (potato rot)ที่เกิดขึ้นในยุโรปในทศวรรษ 1840‘s (เกิดวิกฤตอาหารในยุโรปครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากปัญหามันฝรั่งเน่าซึ่งเป็นอาหารหลัก)

ไม่มีการใช้ “brain rot” มานาน จนเริ่มมีการใช้อีกครั้งในตอนปี 2004 เเละใช้กันมากขึ้นในทศวรรษ 2010’s ในสื่อออนไลน์ จนพุ่งขึ้นในปี 2023 เเละปี 2024 อย่างเห็นได้ชัด ผู้ใช้มักใช้ในบริบทของการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมด้านดิจิทัลของ Generation Alpha

เชื่อว่าผู้คนคงจะใช้คำนี้กันอีกนานพอควรก่อนที่จะจางหายไปดังเช่นคำสแลงอื่นๆ ตามกาลเวลาภาษามีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์มีผู้บอกว่าคำสแลงของเมื่อวานคือสิ่งเตือนให้นึกถึงความหลังในวันนี้เเละจะกลายเป็นเสียงกระซิบที่ลืมเสียสิ้นของวันพรุ่งนี้