เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เขย่าโลก: สหรัฐฯถอนตัว Global Minimum Tax

เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เขย่าโลก: สหรัฐฯถอนตัว Global Minimum Tax

สหรัฐอเมริกา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ถอนตัวจากข้อตกลงภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยถอนตัวจากเสาหลักที่สอง (Pillar2)

 

ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบรรษัทข้ามชาติ (MNCs - Multinational Corporations) ที่กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ (รายได้เกิน 750 ล้านยูโรหรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปี) ต้องเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำทั่วโลก ไม่น้อยกว่า 15% 

การตัดสินใจนี้ได้รับการยืนยันผ่านคำสั่งของประธานาธิบดีลงวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ และจะไม่บังคับใช้กฎนี้ในประเทศโดยให้เหตุผลเกี่ยวกับ อธิปไตยของชาติ และความเสียเปรียบทางการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นกับบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ (MNCs)​

Pillar Two ทำงานอย่างไร?

หลักการของ Pillar Two คือ "Top-up Tax" หรือ การเติมภาษีให้ถึงอัตราขั้นต่ำ 15% โดย กำหนดเป้าหมายไปที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 29,000 ล้านบาทต่อปี)

ซึ่งหากบริษัทตั้งอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า 15% ระบบ "Top-up Tax" จะบังคับให้บริษัทต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ให้ครบ 15%

นั่นหมายถึง ไม่ว่าบริษัทจะย้ายไปประเทศใดก็ตาม ก็ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% อยู่ดีดังนั้น ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำจะไม่สามารถใช้ "อัตราภาษี" เป็นเครื่องมือในการดึงดูดบรรษัทข้ามชาติได้อีกต่อไป

นับเป็น มาตรการระดับสากลที่ป้องกันไม่ให้บริษัทใหญ่ใช้ช่องโหว่ทางภาษีเพื่อเลี่ยงภาระภาษีของตนเอง​ เช่น การย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ หรือ ไม่มีภาษีเลย เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย

 

 

เหตุผลหลักของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์

ข้อตกลง Pillar Two อาจสร้างปัญหาให้กับสหรัฐฯ ในสองด้าน แม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จะปฏิเสธข้อตกลงนี้ไปแล้วก็ตาม

1.บริษัทของสหรัฐฯ ต้องจ่ายภาษีในต่างประเทศมากขึ้น
เมื่อบริษัทสหรัฐฯ ต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นในต่างประเทศ รายได้ของผู้ถือหุ้นในบริษัทของสหรัฐฯ ก็ลดลง นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะสหรัฐฯ มีนโยบายให้ "เครดิตภาษี" สำหรับภาษีที่บริษัทจ่ายไปในต่างประเทศ

นั่นหมายความว่า ยิ่งบริษัทอเมริกันจ่ายภาษีในต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องลดภาษีในประเทศลงให้บริษัทเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล

2.กฎ Under-Taxed Profits Rule – UTPR ภายใต้ Pillar  Two เปิดทางให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่จ่ายภาษีต่ำกว่า 15% ในประเทศอื่น ๆ ได้ แม้ว่าบริษัทนั้นจะไม่ได้เป็นบริษัทของประเทศที่เรียกเก็บภาษี ซึ่งจะกระทบอย่างมากกับบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่ง

โดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้ใช้การลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนด้าน R&D ทำให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ หาก UTPR ถูกใช้ ประเทศอื่น ๆ อาจมองว่าบริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีต่ำเกินไป และเรียกเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้ถึง 15%

 

ขณะนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธ Pillar Two แต่ไม่มีการปิดกั้นโอกาสที่สหรัฐฯ อาจปรับนโยบายภาษีบางส่วนให้สอดคล้องในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ จะปรับกฎหมายให้เป็นไปตาม Pillar Two อย่างสมบูรณ์นั้นเป็นไปได้น้อยมาก และหากมีการปรับจริง อาจเป็นเพียงการแก้กฎหมายเพียงบางข้อให้ใกล้เคียงกับ Pillar Two แทนที่จะยอมรับข้อตกลงทั้งหมด

แนวโน้มหลังจากการถอนตัวของสหรัฐฯ จาก Pillar Two

แม้ว่าสหรัฐฯ จะปฏิเสธการเข้าร่วม Pillar Two ของ OECD แต่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม G7 และ OECD ยังคงเดินหน้าบังคับใช้ภาษีขั้นต่ำ 15% ต่อไป

ซึ่งหมายความว่าบริษัทอเมริกันที่มีธุรกิจในประเทศเหล่านั้นยังคงต้องจ่ายภาษีขั้นต่ำ 15% อยู่ดี แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมข้อตกลงก็ตาม

การถอนตัวของสหรัฐฯ อาจทำให้ระบบภาษีระหว่างประเทศขาดความเป็นเอกภาพ และเพิ่มความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎระเบียบทางภาษี

เนื่องจากบางประเทศบังคับใช้ Pillar Two ขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ และบางประเทศในอาเซียนยังไม่เข้าร่วม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ  

สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสมีท่าทีชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ประเทศอื่นเก็บภาษีบริษัทของสหรัฐฯ ผ่านกฎ UTPR ได้โดยง่าย และหากมีการดำเนินการดังกล่าว สหรัฐฯ อาจตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ หรือการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกัน 

การตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับ EU และประเทศอื่น ๆ ที่บังคับใช้ Pillar Two อย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกัน ประเทศที่เข้าร่วม Pillar Two บางประเทศอาจมองว่าประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม (เช่น สหรัฐฯ) กำลังได้เปรียบทางภาษี และอาจใช้มาตรการกดดันให้สหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลง 

แนวทางของประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้ภาษีขั้นต่ำ 15% สำหรับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งหมายความว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บรรษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร เพื่อดึงดูด FDI จะไม่ได้ผลอีกต่อไป

เพราะหากไทยกำหนดอัตราภาษีต่ำกว่ามาตรฐาน OECD ประเทศแม่ของบริษัทสามารถเรียกเก็บ "Top-up Tax" ได้ ทำให้บริษัทไม่มีแรงจูงใจที่จะเลือกลงทุนในไทยเพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษี

เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ไทยควรพัฒนาเครื่องมือดึงดูดการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การให้สิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน และการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุน

นอกจากนี้ ไทยต้องติดตามนโยบายของประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมกฎเกณฑ์ทางภาษีของ OECD อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติตามกฎของ OECD และความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจข้ามชาติ.