ไทยเดินหน้าทะลุเป้าอนามัยโลก ประชากร70% ฉีดครบโดสกลางปี
เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ตั้งเป้าทุกประเทศฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชากร 70% ได้ครบโดสภายในกลางปี 2565 แต่การคาดการณ์ของเว็บไซต์Our World in Data ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.) พบว่า กว่า 100 ประเทศไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การคาดการณ์ของ Our World in Data รวบรวมข้อมูลทางการเกี่ยวกับอัตราการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศ คำนวณค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา นำไปคาดการณ์การฉีดวัคซีนประชากรครบโดสในวันที่ 1 ก.ค.2565 โดยไม่รวมประเทศที่ไม่ได้รายงานตัวเลขผู้รับวัคซีนนานกว่า 30 วัน
Our World in Data ทำแผนที่โลกแบ่งเป็นสามสี สีเขียวหมายถึง ประชากร 70% ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สีเหลือง หมายถึง ประเทศที่เดินหน้าฉีดครบ 70% ตามเป้า ส่วนสีแดง หมายถึง ประเทศที่ฉีดไม่ได้ตามเป้า ประเทศสำคัญในกลุ่มสีแดง เช่นสหรัฐ เอสโตเนีย จาไมกา และไนจีเรีย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเกือบจะทั้งทวีป
ประเทศที่ทะลุเกณฑ์ 70% มีไม่ถึง 50 ประเทศ ประเทศสำคัญในกลุ่มสีเขียว เช่น แคนาดา อาร์เจนตินา อุรุกวัยกาตาร์ โปรตุเกส และญี่ปุ่น
ส่วนซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และฮ่องกง อยู่ในกลุ่มยังไม่ถึงเกณฑ์ 70% แต่มีโอกาสทะลุเป้าดับเบิลยูเอชโอภายในกลางปีนี้ ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้
หากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่กลุ่มสีเขียว ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากร 70% เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา สีแดง ที่เหลือเป็นกลุ่มสีเหลือง
ทั้งนี้ ดับเบิลยูเอชโอย้ำมาตลอดว่าการฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโควิด-19 วานนี้ (6 ม.ค.) ฌอง กัสเต็กซ์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสกล่าวว่า การบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่หนทางที่สร้างประโยชน์มากนัก เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหา
“เราเผชิญความยากลำบากกันอยู่แล้วในการควบคุมให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายหนังสือรับรองด้านสุขภาพ (Health Pass) และหากบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน เรายิ่งต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นไปอีก” นายกฯกัสเต็กซ์กล่าวต่อสถานีโทรทัศน์บีเอฟเอ็ม และสถานีวิทยุอาร์เอ็มซี
ฝรั่งเศสรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 332,252 คนในเวลา 24 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (5 ม.ค.) และมีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพิ่ม 246 คน
ถ้อยแถลงของนายกฯกัสเต็กซ์มีขึ้นในขณะที่อิตาลีได้ออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในยุโรปที่บังคับใช้มาตรการลักษณะดังกล่าว ภายใต้ความพยายามในการผ่อนคลายแรงกดดันต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขและลดอัตราการเสียชีวิต โดยมาตรการนี้มีผลบังคับใช้ทันทีและมีผลถึงวันที่ 15 มิ.ย.
อิตาลีรายงานผู้เสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสกว่า 138,000 คนนับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้นในเดือนก.พ. 2563 ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอันดับ 2 ในยุโรป รองจากอังกฤษ
อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องจับตา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมืองใหญ่ของอินเดียอย่างเดลี มุมไบ และโกลกาตา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นมากแต่การเข้าโรงพยาบาลไม่เพิ่มตาม แต่ก็กลัวกันว่าการระบาดในพื้นที่ชนบทจะเพิ่มขึ้นภายในไม่กี่วันนี้
วานนี้อินเดียรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 90,928 คน เกือบ 4 เท่านับตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ ส่วนใหญ่มาจากเมืองที่สายพันธุ์โอมิครอนแซงหน้าเดลตาไปแล้ว แต่คนที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้อย่างรวดเร็วที่บ้าน
กระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุว่า เดลี มุมไบ โกลกาตา เชนไน และเบงกาลูรู เป็นพื้นที่หลักที่น่าห่วง แต่เจ้าหน้าที่ประจำรัฐกังวลว่าเร็วๆ นี้โควิดจะกระจายไปยังเขตชนบทที่โรงพยาบาลไม่ดีเท่า
ที่ออสเตรเลีย ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายร้อยแห่งจำกัดการซื้ออาหารบางประเภทอีกครั้ง เนื่องจากการการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน เช่นเดียวกับช่วงแรก ๆ ที่โควิด-19 ระบาดในประเทศ
โคลส์ กรุ๊ป ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ บังคับใช้มาตรการจำกัดการการซื้อสินค้าจำพวกไส้กรอก สะโพกและอกไก่ และเนื้อบดได้ไม่เกินสองชุดเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังจำกัดการซื้อชุดตรวจโควิด Antigen Rapid Test คนละหนึ่งชุด โดยระบุว่า“โคลส์จะยังคงติดตามความพร้อมให้บริการของสินค้า และขอให้ลูกค้าซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น”
รายงานข่าวระบุว่า มาตรการดังกล่าวยกเว้นลูกค้าในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าฝั่งตะวันออก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้เร็ว แต่ระยะหลังมีข้อมูลออกมามากขึ้นว่าสายพันธุ์นี้รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
แอนโทนี เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาแพทย์ทำเนียบขาว แถลงเมื่อวันพุธ (5 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า มีข้อมูลบ่งชี้มากขึ้นว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่เตือนให้ระวังโรงพยาบาลอาจรับไม่ไหวเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นทั่วสหรัฐ
“ข้อมูลเบื้องต้นจากหลายแหล่งชี้ว่า โอมิครอนรุนแรงน้อยลง อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องประเมินความรุนแรงในระยะยาวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ” เฟาซีกล่าวพร้อมอ้าง
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งจากออนแทริโอ แคนาดา ที่พบว่าคนที่ติดเชื้อโอมิครอนความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลดลง 65% เมื่อเทียบกับคนที่ติดสายพันธุ์เดลตา ส่วนความเสี่ยงเข้าห้องไอซียูหรือเสียชีวิตจากโอมิครอนลดลง 83%
ไม่เพียงเท่านั้นเฟาซียังอ้างถึงผลการศึกษาอีกชิ้นจากแอฟริกาใต้ที่พบว่า การเข้าโรงพยาบาลในช่วงโอมิครอนระบาดมีราว 5% เทียบกับตอนที่เดลตาระบาดตัวเลขอยู่ที่ 14% ผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลช่วงที่โอมิครอนระบาด มีแนวโน้มอาการรุนแรงน้อยกว่าช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาด 73%