ย้อนรอยสงครามภาษี ‘Smoot-Hawley’ ตัวสุมไฟสู่ ‘สงครามโลก ครั้งที่ 2’

ภาษีทรัมป์ที่สูงลิ่ว กำลังฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงคล้ายปี 1930 กับกฎหมาย ‘Smoot-Hawley’ จนก่อสงครามกำแพงภาษีทั่วโลก ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างรุนแรง และเป็นเชื้อไฟให้เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2
ท่ามกลาง “ภาษีทรัมป์” เขย่าตลาดหุ้นทั่วโลกให้ดิ่งเหวติดต่อกันหลายวัน ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญเมื่อปี 1930 ในชื่อว่า “Smoot-Hawley” เมื่อสหรัฐ “ริเริ่ม” การตั้งกำแพงภาษีอันสูงลิ่ว ก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ให้ประเทศอื่นตั้งกำแพงภาษีตาม จนลากเศรษฐกิจทั่วโลกให้เข้าสู่ “ภาวะตกต่ำขั้นรุนแรง” และสุมไฟความขัดแย้ง ซึ่งได้ปะทุกลายเป็น “สงครามโลก ครั้งที่ 2” ในเวลาต่อมา
จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปลายปี 1929 ทั่วโลกเผชิญกับ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” (Great Depression) จากความบอบช้ำจากสงครามโลก ครั้งที่ 1 พืชผลการเกษตรรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมเผชิญราคาตกต่ำและล้นตลาด สินค้าเหล่านี้จึงทะลักจากยุโรปเข้าสู่ “ตลาดอเมริกา” เป็นจำนวนมาก เสียงเรียกร้องให้ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจึงดังขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ วุฒิสมาชิก “รีด สมูท” และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “วิลลิส ซี. ฮอว์ลีย์” จากพรรครีพับลิกัน จึงเสนอกฎหมายกำแพงภาษี เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรและธุรกิจในอเมริกา ซึ่งถูกเรียกว่า “Smoot-Hawley Tariff Act of 1930” ร่างกฎหมายนี้ผ่านการลงมติในวุฒิสภาด้วยคะแนนที่ใกล้เคียงกัน 44 ต่อ 42 และผ่านมติในสภาผู้แทนราษฎรอย่างง่ายดายด้วยคะแนน 222 ต่อ 153
เมื่อทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบ ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ก็รับรองด้วยการลงนามในกฎหมายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1930 แม้จะเผชิญ “เสียงคัดค้านอย่างกว้างขวาง” ซึ่งรวมถึงคำร้องที่มีลายเซ็นจากนักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 1,000 คนที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายนี้
กฎหมาย Smoot-Hawley นี้ ได้เพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าของสหรัฐขึ้นอีกราว 20% จากภาษีเดิมที่สูงอยู่แล้วที่เฉลี่ย 40% จนกลายเป็น “สูงสุดที่ 60%”
เดิมที เป้าหมายของกฎหมายนี้ คือ เพิ่มการปกป้องเกษตรกรในสหรัฐ แต่ในไม่ช้า กลุ่มล็อบบี้จากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ของอเมริกาก็เรียกร้องให้ปกป้องสินค้าของพวกเขาด้วย กลายเป็นว่าอุตสาหกรรมอเมริกันต่างขึ้นกำแพงภาษีกันโดยถ้วนหน้า
เมื่อประเทศต่างๆ ส่งสินค้าไปยังตลาดอเมริกาอย่างลำบาก ราว 25 ประเทศจึง “โต้กลับสหรัฐ” ด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากรของตนเองด้วยเช่นกัน จนทำให้ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงราคาสินค้าแพงขึ้นหลายเท่า
ผลที่ตามมาคือ การค้าระหว่างประเทศ “ลดลงกว่า 66%” ระหว่างปี 1929 ถึง 1934 ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก
ตัวสุมไฟสู่สงครามโลก ครั้งที่ 2
หนึ่งในประเทศที่แบกรับผลกระทบหนักที่สุด คือ “เยอรมนี” นอกจากต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับฝ่ายชนะสงครามแล้ว การหาเงินจากการส่งออกก็ยากเย็นขึ้นไปอีก เพราะทั่วโลกต่างขึ้นกำแพงภาษีใส่กัน
พอล เอ. แซมูเอลสัน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากสถาบัน M.I.T. เอ่ยถึงเหตุการณ์นี้ว่า “พวกคนช่างติเตียนต่างยินดีปรีดาไปกับภาพที่ประเทศหนึ่งพยายามทวงหนี้จากต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันก็กีดกันสินค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ลูกหนี้เหล่านั้นจะสามารถนำมาชำระหนี้ได้”
เมื่อเยอรมนีสูญเสียดินแดน ถูกบีบให้แบกหนี้สงครามมหาศาล เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ซ้ำร้ายการหารายได้จากการส่งออกก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจาก “กำแพงภาษี” ที่กีดกัน จนดูเหมือนว่าการใช้หนี้จะไม่มีวันสิ้นสุด กลายเป็นโอกาสของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ให้ผงาดขึ้นมา และเดินหน้าก่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อปลดภาระหนี้ พาเยอรมนีให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ไม่เพียงแต่เยอรมนี แม้แต่ “ญี่ปุ่น” ที่พึ่งพาการส่งออกสูงก็ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะ “ไหมดิบ” ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ส่งออกไปสหรัฐ จากการที่กฎหมายสมูท-ฮอว์ลีย์กีดกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้าถึงตลาดอเมริกา เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดหนักและการเมืองพลเรือนอ่อนแอ ประชาชนจึงหันไปหาทางออกสุดโต่งอย่าง “การทหาร”
แนวคิด “เราต้องหาทรัพยากรจากที่อื่น” (เช่น จีนหรือในแถบอาเซียน) เริ่มดังขึ้น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นยุคโชวะ โดยบุกแมนจูเรียในปี 1931 และรุกรานจีนในเวลาต่อมา
ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย?
ในยุคทรัมป์ สหรัฐเผชิญ “การขาดดุลจีนมหาศาล” สูงถึง 295,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาทในปี 2024 บรรดาธุรกิจในสหรัฐ ต่างเผชิญคลื่นสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามา จนแข่งขันสู้ไม่ได้ และปิดกิจการไปหลายราย แม้แต่บริษัทเหล็กของชาติที่ชื่อว่า “U.S. Steel” ก็อยู่ไม่รอด เกือบจะขายกิจการให้บริษัทต่างชาติแทนแล้ว ถ้าไม่ถูกรัฐบาลสหรัฐเข้าขัดขวาง
ด้วยเหตุนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” จึงได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในการจัดหนักกับจีน ซึ่งเมื่อทรัมป์เข้าทำงาน ภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ประกาศก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ “จีน” เพียงประเทศเดียว แต่เหมารวมประเทศพันธมิตรอันเก่าแก่ด้วย ซึ่งถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า นี่เป็นเหมือน “ระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจโลก”
ความแตกต่างระหว่างภาษีทรัมป์กับภาษี Smoot-Hawley คือ ภาษีทรัมป์อยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ Smoot-Hawley ที่อยู่ราว 20% อีกทั้งห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันก็ซับซ้อนยิ่งกว่าในอดีตมาก ดังนั้นผลกระทบนี้มีแนวโน้มรุนแรงกว่ายุค 1930
ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่า “สงครามกำแพงภาษี” มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อทรัมป์ขู่จีนให้ยกเลิกภาษี 34% ในระดับเดียวกับที่สหรัฐขึ้นต่อจีน มิฉะนั้นจะโดนภาษีเพิ่มอีก 50% ด้านจีนก็สู้กลับ พร้อมขึ้นอีก 50% ต่อสหรัฐเช่นกัน ซึ่งเมื่อช้างสารชนกัน ผู้เสียหายก็มีตั้งแต่เจ้าของธุรกิจที่มีตลาดในต่างประเทศ โรงงานจีน โรงงานสหรัฐ และโรงงานต่างชาติในจีนที่ส่งสินค้าไปสหรัฐ ยังรวมไปถึงผู้บริโภคที่ได้ใช้สินค้าแพงขึ้นด้วย จนฉุดยอดขาย และยอดบริโภคโดยรวมให้ดิ่งลง
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสินค้าจีนถูกส่งไปที่ตลาดอเมริกายากขึ้น ผู้ค้าจีนอาจต้องระบายสินค้าเหล่านี้ออกสู่ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกในราคาถูกกว่าเดิม กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ให้ทั่วโลกตั้งกำแพงภาษีตาม เพื่อปกป้องผู้ค้าในประเทศ ผลลัพธ์อาจลงเอยเหมือน Smoot-Hawley หรือไม่ เป็นสิ่งที่ชวนติดตามกันต่อไป
อ้างอิง: abc, pwency, invest, corpor
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์