อ่านเกมสู้ “อาฟเตอร์ ยู” ปั้น "มาร์เก็ตเพลส" ลงทุนต่ำ คืนทุนเร็ว ฟื้นรายได้
ช่วง 2-3 ปี ธุรกิจเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อ "รายได้-กำไร" ให้หดตัวลงสาหัส ถือเป็นบททดสอบใหญ่ ในการฝ่ามรสุมเพื่อรอด "อาฟเตอร์ ยู" ธุรกิจร้านขนมหวาน ปรับสารพัดกลยุทธ์ฟื้นธุรกิจ ปั้นโมเดล "อาฟเตอร์ ยู มาร์เก็ต เพลส" เจาะปั๊มน้ำมัน ส่งแบรนด์ใหม่ เติมโอกาสทำเงิน
“อาฟเตอร์ ยู” ร้านขนมหวานที่เคยคลาคล่ำด้วยลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ ต่อคิวยาว เข้าใช้บริการแน่นขนัด สามารถสร้างรายได้ถึง 1,200 ล้านบาท ในปี 2562 กำไรอู้ฟู่กว่า 200 ล้านบาท
ทว่า วิกฤติโควิด-19 กระทบธุรกิจอย่างหนัก ยิ่งปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารเจอสารพัดมาตรการทั้งนั่งทานในร้านได้ 25% การ “ล็อกดาวน์” ห้ามนั่งทานในร้าน(Dine-in) จนฉุดรายได้บริษัทเหลือ 600 กว่าล้านบาท หดตัวลงราว กำไรสุทธิเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น!
วิกฤติไวรัสให้บทเรียนใหญ่แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ และการ “ปรับตัว” เป็นทางรอด ซึ่ง “อาฟเตอร์ ยู” พลิกทุกสูตรเพื่ออยู่รอด และสร้างการเติบโตอีกครั้ง
“ปีที่แล้วเป็นศึกหนักสุดที่เราประสบมา และบริษัททำทุกวิถีทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย หาทางประคับประคองธุรกิจ สร้างรายได้ พยุงตัวเลขไว้” แม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) ให้มุมมอง
ส่วนแผนปี 2565 อาฟเตอร์ ยู ยังยึดมั่นแนวทางที่ทำมาตลอดกว่า 10 ปี บนเส้นทางธุรกิจร้านขนมหวาน คือเป็นผู้นำ เสนอนวัตกรรม เมนูขนมใหม่ เพิ่มความหลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในร้าน ซื้อกลับบ้าน เดลิเวอรี่ ฯ รับพฤติกรรมใหม่ๆและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ยังมุ่งใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สาขาที่ให้บริการทั่วไทย ร้านนั่งทานถูกแปลงพื้นที่ 2-3 ที่นั่งให้เป็น “มาร์เก็ตเพลส” นำสินค้าของร้าน และสินค้าฝากขายบริการลูกค้าซื้อกลับบ้านมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดการใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันร้านปรับโมเดลดังกล่าวแล้ว 60%
อาฟเตอร์ ยู โมเดลต่างๆ เช่น มาร์เก็ตเพลส สาขาในปั๊ม ปตท. ฯ
ช่วงโควิดบริษัทยังเปิดคลาวด์คิทเช่น พัฒนาสินค้าแช่แข็งขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงปั้นร้านโมเดลใหม่ ป๊อปอัพ สโตร และ "อาฟเตอร์ ยู มาร์เก็ต เพลส" ไปทำเลต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย สาขาแรกซอยประดิพัทธ์ ทำให้รองรับการขาย 3 แบบทั้งไดอิน ซื้อกลับบ้าน บริการเดลิเวอรี่ การเปิดร้านโมเดลนี้ยังทำให้ “ลงทุน” สินทรัพย์จับต้องได้ “ต่ำ” เพียง 1 ใน 4-5 เท่าของร้านใหญ่ด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือบริหารจัดการง่ายและ “คืนทุนเร็ว”
นอกจากทำเลที่อยู่อาศัย อาฟเตอร์ ยู มาร์เก็ตเพลส ได้ขยายไปสู่สถานีบริการน้ำมันหรือ “ปั๊มน้ำมัน” ด้วย ประเดิมจับมือ ปตท.สาขาพัฒนาการ ก่อนรุกสู่ย่านพระราม 2 พระราม 3 และอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฯ ทั้งปีจะเห็น 15-20 สาขา
ต้นปี 2565 อาฟเตอร์ ยู โกอินเตอร์เปิดร้านแรกที่ “ฮ่องกง” ผลตอบรับดีมาก แต่เนื่องจากโควิดโอมิครอนระบาดรุนแรงมาก จึงชะลอการเปิดสาขา 2 แต่คาดว่าจะเห็นเกมรุกช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หากสถานการณ์ดีขึ้นจะสปีดเปิดสาขา 3 4 5 ต่อไป
ตลาดต่างประเทศที่มุ่งต่อได้แก่ “จีน” ผนึกพันธมิตรลุยโปรเจคใหญ่ คาดใช้เวลาอีกระยะจะเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนประเทศอื่น เจรจาเปิดร้านในประเทศกัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐฯ
อาฟเตอร์ ยู สาขาแรกฮ่องกง ผลตอบรับดี แต่โควิดระบาดทำให้ร้านนั่งได้เพียงโต๊ะละ 2 คน และปิดร้าน 18.00 น. ออเดอร์สุดท้ายสั่งได้ 17.30 น.
ด้านร้านกาแฟ “มิกก้า”(Mikka) แม้ภาพรวมตลาดจะแข่งเดือด แต่เชื่อว่ายังมี “ช่องว่าง” ให้บุก โควิดอาจกระทบการลงทุนของแฟรนไชส์ซีไปบ้าง แต่ต้นปีเปิดร้านแล้ว 67 สาขา ทำให้มีร้านทั้งสิ้น 97 สาขา ภายในสิ้นปีวางเป้าเปิดร้านแตะ 200 สาขา และมีร้าน 500 สาขา ในปี 2567 การมีสาขาเพิ่ม ยังสร้างโอกาสร้านเป็นเหมือน “ศูนย์กระจายสินค้า”
อย่างไรก็ตาม จากอาฟเตอร์ ยู ในการขายเมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนมปังเนยโสด-นมโสด และบัน ฯ เพิ่ม เพื่อสานแผน 5 ปี(2565-2569) จะผลักดันรายได้แตะ 460 ล้านบาท โตเฉลี่ย 11.3% แต่รายได้ปีก่อนยังไม่เป็นไปตามเป้า
“แฟรนไชส์ร้านมิกก้า เห็นการชะลอตัวเปิดร้านบ้างช่วงโควิด แต่บริษัทเดินหน้าเต็มที่เพื่อขยายสาขา โดยเจรจากับพันธมิตรทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัด หวังเป็นจิ๊กซอว์ช่วยเปิดร้านเพิ่มในอนาคต และสร้างกำไร”
นอกจากอาฟเตอร์ ยู และมิกก้า ไตรมาส 2 บริษัทจะ “เปิดตัวแบรนด์ใหม่” เกี่ยวกับผลไม้ หากตลาดตอบรับดีจะเปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ล่าสุด สื่อ สังคมโซเชียลมีการนำเสนอแบรนด์ร้านผลไม้ "ลูกก๊อ" เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายรักสุขภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับภาพรวมยอดขายปี 2565 บริษัทคาดจะฟื้นตัวกลับมา แต่ตัวแปรยังเป็นภาวะเศรษฐกิจซบเซา นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาไทย โดยเฉพาะ “จีน” เป็นสัดส่วนใหญ่ กำลังซื้อสูงเมื่อมาทานขนมหวานที่ร้าน
“มีตัวแปรมากมาย ที่ส่งผลต่อยอดขายในการกลับยืนเท่าปี 2562 ทั้งเศรษฐกิจซบเซา การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัว ลูกค้าเข้าร้านเหมือนเดิม แต่ความถี่น้อยลง หากเศรษฐกิจฟื้นโตเร็ว รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนเดินทางเที่ยวไทยได้ ยอดขายบริษัทอาจฟื้นกลับมา เพราะกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนยอดขายค่อนข้างมาก จากยอดใช้จ่ายต่อบิลสูง”
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยลบที่บริษัทกำลังเผชิญคือภาวะ “ต้นทุนวัตถุดิบ” ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องเข้มบริหารจัดการ แนวโน้มวัตถุดิบรายการใดจะพุ่ง ต้องซื้อสต๊อกไว้ 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบราคาสินค้าและกำลังซื้อผู้บริโภค