ทางแยก“ประกันรายได้” "การเมือง"ที่สวนทางกับ"การคลัง"

ทางแยก“ประกันรายได้” "การเมือง"ที่สวนทางกับ"การคลัง"

“จุรินทร์”เมินงบประกันรายได้ข้าวบาน เตรียมเดินหน้าประกันรายได้ ปี 4 ด้านนายกสมาคมชาวนาชี้ ชาวนาได้ประโยชน์ ไม่ฝืนหากยกเลิกโครงการแต่ต้องมาตรการอื่นรองรับ ด้านผู้ส่งออกเผยต้นทุนการผลิตข้าวสูงจากราคาปุ๋ย ยังมั่นใจส่งออกได้ตามเป้า 7 ล้านตัน

โครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศใช้ในปีแรกของรัฐบาล 2562 ครอบคลุมพืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง เป็นการจ่ายส่วนต่างของราคาประกันและราคาตลาดรวมแล้วมีการตั้งกรอบวงเงินประกันราคา 3 ปี รวม 261,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ไม่รวมโครงการคู่ขนาน เช่น การอุดหนุนค่าเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยพืชเกษตรที่ตั้งงบประมาณมากที่สุด คือ ข้าว 160,600 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ตั้งไว้ดังกล่าวมีพืชบางชนิดที่ใช้ไม่เต็มวงเงินเพราะราคาในบางปีสูงกว่าราคาประกัน เช่น ยางพารา

อย่างไรก็ตาม จากวงเงินที่สูงมากทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้เงินวงงบประมาณเพื่อโครงการนี้ที่มากเกินไปจนเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ จึงมีเสียงขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว 

รายงานข่าวแจ้งว่า ท่าทีในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้เสนอโครงการดังกล่าวยืนยันโครงการนี้ชาวนาได้ประโยชน์จริงจากส่วนต่างของราคาข้าวและพร้อมเดินหน้าโครงการประกันรายได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งที่ผ่านในการลงพื้นที่ต่างจังหวัดของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็จะชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของชาวนาที่ได้จากโครงการประกันรายได้ฯ

ทางแยก“ประกันรายได้” \"การเมือง\"ที่สวนทางกับ\"การคลัง\"

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)วันที่ 27 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาโครงการประกันภัยข้าว สถานการณ์ราคาและการส่งออกข้าว ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตกรผู้ปลูกข้าวนั้นยังไม่มีการเสนอ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ได้ดำเนินการจ่ายส่วนต่างราคาข้าวมาถึงงวดที่ 27 แล้วจาก 33 งวด  โดยโครงการรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยในปีที่ 3 มีกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด 33 งวด

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ที่่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวช่วยชาวนาได้มากและเงินก็ถึงมือชาวนา แต่ก็ยอมรับว่าใช้งบประมาณมากเป็นภาระของประเทศในยามที่ช่วงนี้เกิดปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ โควิด ภัยแล้ง ที่รัฐจะต้องนำเงินมาดูแลปัญหาเหล่านี้ 

“อยากให้รัฐบาลต่อโครงการนี้อีกเป็นปี 4 เพราะชาวนาได้ประโยชน์ดีกว่าไม่มีอะไรซึ่งน่าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ใช่ชื่อนี้ก็ได้หรืออาจจะมีการทบทวนโครงการไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ควรยกเลิก แต่ก็ควรมี แต่หากยกเลิกก็ต้องมีมาตรการใหม่ๆมารองรับ”

ก่อนหน้านี้จุรินทร์ได้ยืนยันว่า โครงการ“ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า ถือเป็นเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งได้เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 3 และกำลังจะขึ้นปีที่ 4 และช่วง 3 ปี ที่ประกันรายได้ส่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 450,000-500,000 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ส่งผลเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ยังช่วยการแก้ปัญหาทางการเมืองเพราะจะเห็นได้ว่าไม่มีม๊อบเกษตรกรเลยในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ที่สำคัญโครงการดังกล่าวไม่มีการทุจริตเงินถึงมือของประชาชนจริง

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประชุมนบข.วันที่ 27 เม.ย.ก็เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการรับมือกับผลผลิตข้าวที่จะออกมา แต่ก็อาจมีเรื่องของโครงการการประกันรายได้ปี4 ก็ได้ ซึ่งก็อยู่ที่ที่ประชุมจะพิจารณา

ส่วนการส่งออกข้าวของไทยว่า ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี2565  ส่งออกได้แล้วประมาณ 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20%หรือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 600,000 ตัน เพราะหลายประเทศเร่งนำเข้าเพื่อสต๊อกไว้ เนื่องจากกังวลสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่คาดจะส่งผลกระทบต่อภาวะตลาด รวมถึงการขนส่งระหว่างประเทศ

“ ต้นทุนการผลิตข้าวไทยจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะราคาปุ๋ยเคมี ยาป้องกันและปราบศัตรูพืช รวมถึงราคาน้ำมัน ปรับสูงขึ้นมากในขณะนี้ และอาจทำให้ราคาส่งออกข้าวไทย สูงขึ้นตาม อีกทั้งยังมีค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้นมากอีก อาจกระทบต่อการส่งออกข้าวได้ แต่จนถึงขณะนี้ ยังมั่นใจว่า ปี 2565 ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ 7 ล้านตันแน่นอน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่ส่งออกได้ราว 6 ล้านตัน”

ท่ามกลางความเสี่ยงด้านการเงินและการคลังหลังโควิดได้ฝากรอยแผลไว้เป็นหนี้สาธารณะก้อนโตทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆจากนี้ ต้องถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นเร่งด่วน เป็นเหมือนทางแยกเชิงนโยบายที่ไม่มีผิดหรือถูกแต่อยู่ที่ความสามารถในการประเมินสถานการณ์และบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดเท่านั้น