"ไทยเที่ยวนอก" คึกคักครึ่งปีหลัง คนไทยแห่แลก "เงินเยน" รอลุยญี่ปุ่น

"ไทยเที่ยวนอก" คึกคักครึ่งปีหลัง คนไทยแห่แลก "เงินเยน" รอลุยญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่น” ประเทศอันดับ 1 ในใจคนไทยที่อยากไปเที่ยวมากที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 แม้ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ประกาศนโยบาย “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ด้วยดีมานด์ที่อัดอั้น ประกอบกับ “เงินเยน” อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี!

เวลานี้ 26 บาทต่อ 100 เยน ขาเที่ยวต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า...ราคาน่ารักน่าแลกมาก!!

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ต่างจากสหรัฐที่เดินหน้านโยบายการเงินแบบตึงตัว ส่งผลให้คนไทยทยอยเข้ามาแลกซื้อเงินเยนล่วงหน้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันมองตรงกันว่านี่คือโอกาสดีของคนไทยที่มีแผนไปเที่ยวญี่ปุ่น รอเพียงรัฐบาลญี่ปุ่นปลดล็อกข้อจำกัดการเดินทาง ซึ่งจะเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของตลาด “ไทยเที่ยวนอก”

ทั้งนี้ ปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด การใช้จ่ายรวมของตลาดไทยเที่ยวนอกอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท จากจำนวนคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 10.8-11 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการใช้จ่าย 3 แสนล้านบาท จาก 10 ล้านคน

 

ดีมานด์สุดอั้น! คนไทยแห่แลก "เงินเยน" รอลุยแดนปลาดิบ

เอนก ศรีชีวะชาติ ประธานบริษัท ยูนิไทย จำกัด เจ้าของโปรโมชั่นแพ็คเกจทัวร์โดดเด่น เช่น โปรไฟไหม้ และโปรคนโสด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้ปัจจุบันมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นจะยังไม่ชัดเจน แต่ฝั่งรัฐบาลไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศต่อเนื่อง ทำให้คนไทยรีบแลกซื้อเงินเยนตุนไว้ก่อน เพราะได้เรตราคาถูก รอวันที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศ และนำไปจับจ่ายท่องเที่ยวหลังอัดอั้นมานาน อีกส่วนแลกซื้อไว้เผื่อเก็งกำไร

“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับเอกชนท่องเที่ยวญี่ปุ่นเกี่ยวกับการทำตลาดท่องเที่ยวทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่น จึงสอบถามไทม์ไลน์การเปิดประเทศของญี่ปุ่น ทางนั้นคาดการณ์ว่าอาจเป็นช่วง ต.ค. หรือ พ.ย.2565 เป็นต้นไป”

 

ขาใหญ่บริษัททัวร์คาดปี 65 ไทยเที่ยวญี่ปุ่นกระเตื้องหลักหมื่นคน

หากเป็นไปตามคาดการณ์ น่าจะมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้า (อินบาวด์) และขาออก (เอาต์บาวด์) พอสมควร นำร่องด้วยการทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำหรือ “ชาร์เตอร์ไฟลต์” ดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจากเมืองรอง เช่น ในภูมิภาคโทโฮคุเข้าไทย แล้วนำนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น

ถ้าเมืองรองต่างๆ ในญี่ปุ่นออกมาตรการจูงใจ (อินเซนทีฟ) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวไทย ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น งดเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของเที่ยวบิน จะช่วยผู้ประกอบการบริษัททัวร์ประหยัดไปได้มากถึงหลักแสนบาทต่อเที่ยวบิน รวมถึงการสนับสนุนค่าโรงแรมที่อัตรา 1,000-2,000 บาทต่อคน ซึ่งมาตรการส่งเสริมตลาดเหล่านี้ เมืองรองในญี่ปุ่นเคยใช้มาแล้วในช่วงก่อนโควิดระบาด หากดำเนินการตามนี้ จะมีส่วนผลักดันการฟื้นตัวของตลาด “คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น” ในไตรมาส 4 ทำให้ตลอดปีนี้มีจำนวนกระเตื้องขึ้นอยู่ที่หลักหมื่นคน จากที่เคยทำสถิติสูงสุดกว่า 1 ล้านคนเมื่อปี 2562

แม้ญี่ปุ่นจะกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยและโลกที่อาจไม่ดีเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีปัญหา “เงินเฟ้อ” จาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ส่งผลต่อต้นทุนน้ำมัน ดันราคาตั๋วเครื่องบินสูงตามไปด้วย กระทบกำลังซื้อคนไทยบางกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มกำลังซื้อสูงที่พร้อมจ่าย โดยประเมินว่ากว่าตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นจะกลับไปสู่จุดเดิมที่ 1 ล้านคนต่อปี น่าจะใช้เวลา 3-5 ปีเลยทีเดียว

“แนวโน้มตลาดคนไทยเที่ยวเอเชียหลังโควิดคลี่คลาย เกาหลีใต้จะเป็นจุดหมายที่ฟื้นตัวเร็วกว่าญี่ปุ่น เพราะน่าจะเห็นความชัดเจนของมาตรการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ช่วงกลางปีนี้ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายในไตรมาส 3 ซึ่งขณะนี้บริษัทนำเที่ยวต่างเดินทางไปตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง เพื่อจัดทำโปรแกรมเสนอขายแพ็คเกจทัวร์แก่นักท่องเที่ยวไทย”

 

ไทยเที่ยวยุโรป "สวิส" เข้าป้ายชิงกำลังซื้อคนฐานะดี

ด้านตลาด “คนไทยเที่ยวยุโรป” ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัว “สวิตเซอร์แลนด์” คือประเทศแรกที่คนไทยออกไปเที่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานะดี เพราะไม่มีเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อโควิด-19 บริษัทได้จัดแพ็คเกจทัวร์ระดับราคาต่างๆ ให้เลือก มีทั้งถูกและแพง เริ่มต้น 70,000-80,000 บาท จนถึง 1 แสนกว่าบาท รองรับดีมานด์จากหลากหลายกลุ่ม

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวยุโรป คนไทยยังไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเดินทางไปนัก หากสงครามจบได้ในเร็วๆ นี้ จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวค่อยๆ ขยับ กว่าจะเข้ารูปเข้ารอยน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2566”

 

หวั่นเสียดุลไทยเที่ยวไทย "ททท." ชูประสบการณ์ใหม่เร่งทำตลาด

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่า ทำให้คนไทยแห่แลกซื้อเงินเยนมาตุนไว้เพื่อเตรียมตัวออกไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มมีกำลังซื้อสูง สะท้อนว่าคนไทยพร้อมออกเที่ยวต่างประเทศ เรื่องราคาไม่ใช่ปัญหา ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ท่องเที่ยว

ททท.กังวลว่าจะ “เสียสมดุล” ตลาดไทยเที่ยวไทยไป จึงต้องเร่งทำการตลาดด้วยการชูประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเมืองไทยที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เช่น การดำน้ำ แคมปิ้ง และเล่นกอล์ฟ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายให้ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศเกิดการเดินทางไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 680,700 ล้านบาทในปี 2565