เช็กก่อนซื้อ "ค่าเบี้ยประกัน" แบบไหน "ลดหย่อนภาษี" ได้บ้าง ลดได้เท่าไร
เพราะ "ภาษี" เป็นเรื่องที่ไม่มีใครหนีพ้น การวางแผนภาษีล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยหลายคนสนใจที่จะ "ซื้อประกัน" เพื่อใช้สิทธิ "ลดหย่อนภาษี" แต่ทราบหรือไหมว่า "ค่าเบี้ยประกัน" แต่ละประเภทได้ลดหย่อนภาษีไม่เท่ากัน และที่สำคัญ ในบางเงื่อนไข ยังใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้!
ในทุกๆ ปี ถือเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ที่จะต้องยื่นภาษี ซึ่งสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ย่อมมีโอกาสเสียภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำ เป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีต่างๆ ที่กฎหมายยอมรับ นำมาช่วยลดหย่อนภาษี
และอย่างที่ทราบกันดีว่า “ค่าเบี้ยประกัน” สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษี สำหรับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่เบี้ยประกันจากกรมธรรม์ทุกประเภท ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด จะต้องเป็นกรมธรรม์ที่ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น หากผู้เสียภาษีต้องการใช้สิทธิลดหย่อนจากค่าเบี้ยประกันดังกล่าว จะต้องทำความเข้าใจถึงค่าเบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จริงๆ โดยแยกตามประเภทของเบี้ยประกันได้ดังนี้
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
ประกันชีวิตทั่วไป คือประกันที่ผู้ทำประกันซื้อไว้เพื่อจะได้รับความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกัน (ผู้ทำประกัน) เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยจะจ่ายเงินตามทุนประกันที่ทำไว้แก่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น สามี ภรรยา บุคคลในครอบครัว ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งแบบประกันชีวิตตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปมาลดหย่อนภาษีได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.การใช้สิทธิค่าลดหย่อน
- ผู้มีเงินได้สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และหากรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- หากทำประกันชีวิตให้กับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ (ต้องแต่งงานกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งแต่งกันปีนี้) สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
2.เงื่อนไขที่กำหนด
- อายุกรมธรรม์ต้องมีระยะคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
- หากมีการจ่ายเงินคืนเงินปันผล หรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปี
- หากได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น จ่ายคืนทุก 2 ปี , 3 ปี , 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันภัยสะสมของแต่ละช่วงเวลา
- ห้ามเวนคืนก่อนครบกำหนด
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ คือประกันที่เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง โดยจะไม่มีเงินคืนให้ในช่วงที่อายุยังน้อย แต่จะจ่ายคืนให้เป็นรูปแบบของเงินบำนาญ ตั้งแต่เริ่มเกษียณทุกปี หรือทุกเดือนจนถึงอายุที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์
โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.การใช้สิทธิค่าลดหย่อน
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- เมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท ในกรณีที่ม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บาท ก่อนได้ แล้วจึงนำเบี้ยประกันชีวิตส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ไปหักลดหย่อนในเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
2.เงื่อนไขที่กำหนด
- อายุกรมธรรม์ต้องมีระยะคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
- ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ช่วงอายุการจ่าย 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
- ต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์
- เบี้ยประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพ คือประกันที่ให้ความคุ้มครองสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่เกิดจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยจากโรคภัย ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่าหมอ ค่าห้อง และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่างๆ ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.การใช้สิทธิค่าลดหย่อน
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
2.เงื่อนไขที่กำหนด
- ประกันโควิดสามารถนำมาลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ได้
- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
ประกันสุขภาพบิดามารดา คือประกันที่ให้ความคุ้มครองสำหรับบิดามารดาในการรักษาพยาบาล โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดามาลดหย่อนภาษีได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.การใช้สิทธิค่าลดหย่อน
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี
- ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้ตลอดปีภาษีนั้น สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาคู่สมรส มาใช้ลดหย่อนได้
2.เงื่อนไขที่กำหนด
- บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้)
- ผู้มีเงินได้หรือบิดา/มารดาคนใดคนหนึ่ง จะต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
- กรณีที่มีลูกหลายคนช่วยกันจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา การขอใช้สิทธิลดหย่อนจะต้องนำมาหารตามจำนวนพี่น้องที่ร่วมกันจ่าย สูตรคือ อัตราลดหย่อนสูงสุดที่ 15,000 บาท ÷ จำนวนพี่น้องที่ร่วมกันจ่าย = ค่าลดหย่อนของแต่ละคนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
สรุป
เนื่องจากประกันมีหลายประเภทและมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป หากผู้มีเงินได้มีความตั้งใจที่จะซื้อประกันอยู่แล้ว นอกจากจะต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยตรงที่จะได้รับ ยังอาจต้องมองถึงอนาคตในเรื่องของประโยชน์ทางอ้อมในฐานะผู้เสียภาษีด้วย
เนื่องจากการเลือกซื้อประกันที่ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ทำให้การซื้อประกันของคุณจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่