ซื้อประกัน “ลดหย่อนภาษี” รู้หรือไม่ แต่ละประเภท ลดหย่อนได้ไม่เท่ากัน!

ซื้อประกัน “ลดหย่อนภาษี” รู้หรือไม่ แต่ละประเภท ลดหย่อนได้ไม่เท่ากัน!

ก่อน “ยื่นภาษี 2564” รู้ไหมว่า "ประกัน" ที่ซื้อไว้เพื่อใช้สิทธิ “ลดหย่อนภาษี” โดยหวังจะได้ขอคืนภาษีนั้น ค่าเบี้ยประกันแต่ละประเภท สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เท่ากัน รายละเอียดเป็นอย่างไร เช็คที่นี่ 

โค้งสุดท้ายของฤดูกาลยื่นภาษี ประจำปี 2564 แล้ว โดยกรมสรรพากรกำหนดให้วันสุดท้ายของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 64 ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2565

เนื่องจากระหว่างนี้ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ยื่นภาษี ปี64 ก็ต้องจัดเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนทำการยื่น เพื่อให้สะดวกรวดเร็วในตอนกรอกข้อมูล โดยยิ่งเอกสารของเราพร้อมมากเท่าไร ก็มีโอกาสได้เงินคืนภาษีเร็วเท่านั้น

ในส่วนของการ "ลดหย่อนภาษี" นั้น เราสามารถลดหย่อนได้หลายรูปแบบวิธีการด้วยกัน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี คลิกที่นี่) โดยการซื้อประกัน ก็เป็นอีกทางเลือกยอดนิยมของผู้เสียภาษี เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองให้อุ่นใจแล้ว ยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

แต่ทั้งนี้ ก่อนจะซื้อประกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เราควรทราบก่อนว่า  "ประกัน" ที่เราซื้อหรือวางแผนจะซื้อนั้น ค่าเบี้ยประกัน แต่ละประเภท สามารถนำมาใช้ "ลดหย่อนภาษี" ได้ไม่เท่ากัน

 

ซื้อประกัน ลดหย่อนภาษี แบบไหน เงื่อนไขอย่างไร

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของ "ประกัน" ในการจะใช้ยื่นภาษีเพื่อขอลดหย่อนภาษี ว่า รายละเอียดและหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก กรมสรรพากร ได้ให้รายละเอียดถึง ค่าเบี้ยประกัน ว่า สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อน สำหรับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ไม่ใช่ว่า เบี้ยประกันจากกรมธรรม์ทุกประเภท จะนำมาขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เสมอไป แต่จะต้องเป็นกรมธรรม์ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

สำหรับผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิในส่วนนี้ ต้องทำความเข้าใจถึงค่าเบี้ยประกันที่สามารถนำลดหย่อนภาษีได้ โดยแยกตามประเภทของเบี้ยประกัน ดังนี้ 

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

  • การใช้สิทธิค่าลดหย่อน

- ผู้มีเงินได้ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

- คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  • เงื่อนไข

- อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป

- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย

- ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปี

- ห้ามเวนคืนก่อนครบกำหนด

2. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 

  • การใช้สิทธิค่าลดหย่อน

- ลดหย่อนไต้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนที่ใต้รับสิทธิเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  • เงื่อนไข

- อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป

- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย

- ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ช่วงอายุการจ่าย 55 - 85 ปีหรือมากกว่านั้น

- ต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์

3. เบี้ยประกันประกันสุขภาพ 

  • การใช้สิทธิค่าลดหย่อน

- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท

  • เงื่อนไข

- เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

4. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

  • การใช้สิทธิค่าลดหย่อน

- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

  • เงื่อนไข

- บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

จะเห็นว่า ประกันแต่ละชนิดมีรายละเอียดและเงื่อนไขในการใช้เพื่อลดหย่อนภาษี เมื่อได้รู้เช่นนี้แล้ว ผู้เสียภาษีก็จะสามารถยื่นข้อมูลเพื่อขอคืนภาษีในครั้งต่อๆ ไปได้ถูกต้อง ไม่เสียเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติมให้วุ่นวาย รวมถึงในการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีในครั้งต่อๆ ไป ก็จะสามารถเลือกประกันที่เข้ากับเงื่อนไขของแต่ละคนได้เหมาะสมยิ่งขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง : กรมสรรพากร