"อนุสรณ์ ธรรมใจ" ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย หนุน "ดอลลาร์แข็ง-บาทอ่อน" หวั่นเงินไหลออกจากตลาดไทย
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตบอร์ดแบงก์ชาติมองเฟดเตรียมขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ค. ทำตลาดหุ้น ราคาทองคำดิ่งหนัก ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนค่า หวั่นเงินไหลออกตลาดการเงินไทย ชี้ตลาดการเงินและเศรษฐกิจยุคสงครามยังผันผวนไปอีกนาน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประธานธนาคารกลางสหรัฐในการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน พ.ค. นี้ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับเพิ่มขึ้นพร้อมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปีปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทะลุ 3%
และมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปี ภาวะ Yield Curve Inversion นี้สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไม่ดีนัก ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยลดลงระหว่างสหรัฐ จีนและไทย ทำให้เงินหยวนและเงินบาทอ่อนค่าลง หากอ่อนค่ามากระดับหนึ่งอาจกระตุ้นให้เงินไหลออกมากขึ้นจากตลาดการเงินจีนและไทย
ราคาหุ้นร่วงแรง ดัชนีดาวโจนส์ปรับลงวันเดียว 900 กว่าจุด ต่ำสุดในรอบ 2 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ราคาทองคำปรับฐานลงระยะสั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเร็วขึ้นทำให้ต้นทุนการถือหรือลงทุนโลหะมีค่า มีต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาโลหะมีค่า ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ทองคำขาว เงิน และ โลหะเหล็ก นิกเกิล ยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันนักลงทุนและประชาชนจะถือหรือลงทุนในทองคำในภาวะเงินเฟ้อสูงและผลจากสงครามยูเครน อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมีผลต่อการชะลอขาขึ้นของราคาทองคำไม่มากนัก
ทั้งนี้ สัญญาณจุดเปลี่ยนระบบการเงินโลกครั้งใหญ่ทะยอยเพิ่มขึ้น หลัง ตลาดลอนดอนซื้อขายโลหะมีค่า (London Metals Exchange – LME) อาจยุติซื้อขายทองคำ เงิน และ นิกเกิลในตลาดซื้อขายอนาคตล่วงหน้า (Gold-Silver Future) หลังจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อกันของพันธมิตรชาติตะวันตกและระบอบปูตินรัสเซีย ทำให้ธุรกรรมการซื้อขายของโลหะมีค่า ทั้ง ทองคำ เงิน และ นิกเกิล ซบเซาลงอย่างมาก
การซื้อขายสัญญาทองคำในตลาดล่วงหน้าโดยสถาบันยักษ์ใหญ่ชาติตะวันตกอย่างสถาบันการเงินสัญชาติอังกฤษ HSBC สถาบันการเงินสัญชาติอเมริกันอย่าง Citi, JP Morgan Chase, Morgan Stanley ล้วนใช้การกู้ หรือ Leverage ในอัตราสูง และธุรกรรมในตลาดการเงินมีขนาดใหญ่กว่าการซื้อขายทองคำจริงหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ การซื้อขาย หรือ Trade ตราสารอนุพันธ์ทั้งหลายก็มีการเก็งกำไรและซื้อขายทองคำ หรือ Trade สูงกว่า ทองคำที่ผลิตได้หลายเท่าตัว เมื่อธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มการเก็บทองคำหลังจากถูกคว่ำบาตรทางการเงิน และรัสเซียมีเหมืองทองคำและผลิตทองคำได้เป็นอันดับรองจากจีน อยู่ที่ประมาณ 330-332 ตัน จีนอยู่ที่ 368-370 ตัน ออสเตรเลีย 327-330 ตัน ใกล้เคียงรัสเซีย
โดย LME นั้นเป็นตลาดซื้อขายสินค้า 3 ประเภทหลัก คือ โลหะมีค่า (ทองคำ เงิน นิกเกิล) เหล็กแท่ง และ พลาสติก มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ใช้เป็นราคาอ้างอิงการซื้อขายโลหะนอกกลุ่มเหล็กมากกว่า 90% รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) ผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้ง สัญญา Future สัญญา Forward และ สัญญา Option มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะ Short Squeeze ของสัญญาซื้อขายทองคำ เพื่อปิดสัญญา Short Sell และส่งมอบทองคำจริง
ภาวะดังกล่าวจะทำให้ราคาทองคำผันผวนหนัก หากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริง นักลงทุนรายใหญ่ที่ทำ Short Sell ต้อง Cut Loss เพื่อลดความเสียหายด้วยการยอมเข้าซื้อราคาทองคำในราคาที่สูงมากเพื่อนำทองคำส่งมอบตามสัญญา Short Sell ขณะนี้ มีการเข้าซื้อเพื่อเก็บทองคำจริง (Physical Gold) เพิ่มขึ้น ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมในระบบบการเงินโลกและระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลก
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวชะลอบังคับใช้ BASEL III ส่งผลต่อสภาพคล่องตลาดทองคำโลกอยู่บ้าง ราคาทองคำจะผันผวนรุนแรงทั้งขึ้นและลงไม่ต่ำกว่า 30% ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า สร้างปัญหาระบบเงินรูเบิลรัสเซียที่ผูกกับราคาทองคำ มีการเลื่อนบังคับใช้ Basel 3 ของธนาคารกลางอังกฤษไปต้นปี พ.ศ. 2568 (ให้สถานะทองคำเป็นสินทรัพย์ Tier-1 เทียบเท่าเงินสด และการ Trade ทองคำต้องมีทองคำจริงสำรองไว้ในสัดส่วนตามปริมาณที่กำหนดในสัญญา)
การปิดกั้นไม่ให้รัสเซียใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ Swift (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) และการอายัดทรัพย์สิน และทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียจำนวนมากหลังระบอบปูตินรุกรานยูเครน ทำให้เกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อระบบการเงินโลกในปัจจุบัน ส่วน Basel III นั้น เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดำรงเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงด้วยขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ Basel III ถูกพัฒนาขึ้น หลังเกิดวิกฤติการเงินโลกปี ค.ศ. 2007-2008 (พ.ศ. 2550-2551) เน้นไปที่การควบคุมธุรกรรมที่มีความซับซ้อนสูง กำกับเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้เข้มงวดขึ้น
รศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติการเงินโลกครั้งใหม่เกี่ยวพันกับการอายัดทรัพย์สิน การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและการขาดแคลนวัตถุดิบ การเลื่อนการใช้ BASEL III และการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งผลกระทบจากสงครามต่อภาคการเงินและสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดระเบียบระบบการเงินโลกใหม่
ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของรัสเซียเป็นผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการอายัดทรัพย์สินเป็นปัจจัยหลัก การผิดนัดชำระหนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการยุติสงครามและยุติการคว่ำบาตร หากปล่อยให้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัสเซียทรุดตัวลงเรื่อยๆ จากการทำสงคราม และไม่มีการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจภายใน 1 ปี เชื่อว่า การผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียจะเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาคการเงินโลกได้ในที่สุด
ตลาดการเงินและเศรษฐกิจยุคสงครามยังคงผันผวนไปอีกนาน จนกว่าระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและระเบียบการเงินถูกสถาปนาสำเร็จ โดยดอลลาร์สหรัฐยังเป็นเงินสกุลหลักของโลกแต่ลดความสำคัญลง โดยทองคำจะมีบทบาทมากขึ้น โดยบางประเทศอาจจะกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบปริวรรตทองคำมากขึ้น