ปตท.สผ. เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ แหล่ง “เอราวัณ - บงกช”

ปตท.สผ. เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ แหล่ง “เอราวัณ - บงกช”

ปตท.สผ. เข้าดำเนินการแหล่งก๊าซ “เอราวัณ - บงกช” ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเร่งดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ รับความต้องการใช้พลังงานของคนไทย สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ทางพลังงาน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการจี 1/61 และโครงการจี 2/61 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ขณะที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช หรือโครงการจี 2/61 อยู่แล้ว โดยในส่วนของการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. ได้ตั้งทีมปฏิบัติการ (วอร์รูม) ที่ ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่ และที่แท่นผลิตก๊าซฯ รวมทั้ง ประสานงานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการรายเดิมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ปตท.สผ. เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ แหล่ง “เอราวัณ - บงกช” “ภารกิจสำคัญที่ ปตท.สผ. ตระหนักและมุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอดก็คือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ การเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ทางพลังงาน ที่มีศักยภาพการผลิตก๊าซฯ รวมกันถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 60 ของประเทศ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ปตท.สผ. ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานของไทย ซึ่งเราจะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจด้านพลังงานเพื่อประเทศและคนไทยอย่างเต็มความสามารถ” นายมนตรี กล่าว

ในการดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 นั้น  ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) แต่บุคลากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นบุคลากรชุดเดิมที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งได้เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศร่วมกัน

สำหรับอัตราการผลิตในโครงการจี 1/61 ที่ ปตท.สผ. รับช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมผลิตไว้ในวันสิ้นสุดสัมปทานอยู่ที่ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาแหล่งก๊าซนี้ไม่มีการพัฒนา และเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการผลิตจะลดลงเป็นลำดับต่อไปได้อีก ประกอบกับการที่ ปตท.สผ. ไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 เพื่อเตรียมการพัฒนา และเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนงาน แม้ภายหลังจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี  ปตท.สผ. จึงจำเป็นต้องผลิตตามศักยภาพที่คงเหลือ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบการผลิตก๊าซฯ ทั้งหมด ทำให้อัตราการผลิตในช่วงแรกจะอยู่ที่ประมาณ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ปตท.สผ. จะดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตของโครงการจี 1/61 มากขึ้นตามลำดับ ให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะเร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น วางท่อใต้ทะเล เจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 183 หลุม และจัดหาแท่นเจาะเพิ่มอีก 2 แท่น เพื่อเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนพัฒนาเดิมที่วางไว้อีก 52 หลุม รวมทั้ง ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆ วางแผนการบำรุงรักษา เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่างๆ  มีความพร้อม และปลอดภัยสำหรับการผลิต

ส่วนแผนการดำเนินงานของโครงการจี 2/61 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงาน โดยผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชได้ในอัตรา 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำหรับแผนรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงที่โครงการจี 1/61 อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้เตรียมแผนเพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชขึ้นอีกประมาณ 125  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากโครงการอาทิตย์เพิ่มเติมอีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็นปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศ

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์