JTS หุ้นร้อนแห่งยุค 3 ปัจจัยดันราคาซิ่ง(แรง)
ยุคที่ตลาดหุ้นเปิดกว้างมีแหล่งข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล นักลงทุนจำนวนมากสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายดาย ระบบการซื้อขายมีอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วสูงขึ้น หากแต่ในทุกครั้งจะมีหุ้นซิ่งที่ราคาร้อนแรงจนฉุดไม่อยู่มาให้นักลงทุนได้ฮือฮาอยู่ตลอด
หุ้นที่ว่าในปี 2564-2565 ยกให้ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ที่ราคาหุ้นมาไกลเกินคาดการณ์จากราคาหุ้น “หลักบาท” ขึ้นมาเป็นหุ้น “หลักร้อยบาท” ในระยะเวลาไม่นาน และที่สำคัญยังไม่มี “ของจริง” หรือพื้นฐานจากธุรกิจออกมาให้เห็นเป็นตัวเลขทางผลประกอบการ !!
เรียกได้ว่าหุ้น JTS เป็นขาขึ้นของราคาหุ้นต่อเนื่องจากแรง “ส่ง” ของสายเก็งกำไรจนทำให้ราคาหุ้นทะลุ 100 บาท และร้อนแรงจนปรอทแตก 500 บาท ปี 2565 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่นักลงทุนให้ความสนใจปี 2563 ราคาหุ้น อยู่ที่ 1.93 บาท
ด้วยอัตรามูลค่ากำไรต่อราคาหุ้น (P/E) ที่ 46.97 เท่า มีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 1,363 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายต่อวัน 2.42 ล้านบาท มีอัตราหมุนเวียนปริมาณซื้อขาย 33.94 % จากจำนวนหุ้นอยู่ในตลาด 706 ล้านหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นเล็กที่มีผลประกอบการไม่โดดเด่นเพราะยังมีขาดทุนสะสม 100 กว่าล้านบาท
จุดอ่อนกลับกลายเป็นหุ้นแข็งตามประสาหุ้นสามารถนำมาสร้างสตอรี่ “เทิร์นด์ อะราวด์ ” กลายเป็น ปัจจัยที่ 1 และสำคัญที่สุดทำให้ราคาหุ้น JTS เริ่มมีความเคลื่อนไหว ด้วยการเปิดประเด็น แผนต่อยอดทางกลยุุทธ์ Hyperscale Data Center ปี 2563 รวมกับพันธมิตรเกาหลีใต้ KT Corporation (KT) ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมอันดับหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ และมีความเชี่ยวชาญด้าน Internet Data Center (IDC) ในประเทศเกาหลีใต้มากว่า 10 ปี
ต่อกระแสความแรงในปี 2564 การเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการ ขุดเหมืองบิตคอยน์เม็ดเงินลงทุน 156.7 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในเครื่องคอมพิวเตอร์ 500 เครื่อง และระบุจะขยายเพิ่มเป็น 5,000 เครื่อง
ถัดมาคือ ปัจจัยที่ 2 "ด้านปริมาณหุ้น" ต้องยอมรับเลยว่าจำนวนหุ้นที่มีมาก และอยู่ในมือรายย่อยระดับหมื่นราย การจะประคองราคาหุ้น และผลักดันให้ราคาขึ้นต่อเนื่อง “ทำได้” “แต่ยาก” เพราะทุกราคาหุ้นที่ขึ้นไปมีนักลงทุนจำนวนมากที่พร้อมขาย หรือจะเทกระจาดขายทำราคาหุ้นดิ่งได้
กรณีของ JTS มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 1,483 ราย ภายใต้ฟลีโฟลตที่ 38 % เป็นตัวเลขที่สูงกว่าเกณฑ์กำหนดขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์จนไม่เป็นที่กังขา แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณที่สูงมากด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก กินปริมาณเกือบ 70 %
โดยในจำนวนนี้ปรากฏรายชื่อกลุ่มเดียวกัน 4 อันดับแรก คือกลุ่ม “โพธารามิก” ลงทุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ,บริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ที.เจ.พี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
เมื่อปริมาณหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือของกลุ่มหนึ่งแล้วทำให้เกิดการควบคุมได้ง่ายในส่วนหุ้นที่เหลือ ซึ่งทำให้บางกลุ่มใช้ประโยชน์ดังกล่าวเข้ามาปลี่ยนถ่ายโอนหรือซื้อขายหุ้นที่เหลือสภาพคล่องในตลาดหุ้นได้อย่างง่ายดาย
ปัจจัยที่ 3 "เงินหน้าตักและเจ้าของ" ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้บรรดานักลงทุนเข้ามาช่วยหนุนราคาหุ้นได้ไกลแค่ไหน เพราะถ้าเอ่ยชื่อบริษัท ผู้ถือหุ้น นักลงทุนจะเข้าใจว่าหุ้นดังกล่าวมีนิสัยขึ้น-ลงอย่างไร และเจ้าของธุรกิจมีสไตล์แบบไหน คำว่า “โพธารามิก” เป็นอดีตนักการเมืองเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในตลาดหุ้น มีความชัดเจนว่าคร่ำหวอดในวงการธุรกิจและตลาดหุ้นมาถึง 2 รุ่น
ปัจจุบันราคาหุ้น JTS ยังเดินหน้านิวไฮที่ 22 (เม.ย.) 594 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 347 % และปี 2564 เพิ่มขึ้น 6,687 % ด้านมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท P/E ที่ 1,872 เท่า มูลค่าการซื้อขายต่อวัน 400 ล้านบาท มีอัตราหมุนเวียนปริมาณซื้อขาย 15.44%
แม้จะเผชิญมาตรการสกัดหุ้นร้อนมาโดยตลอดยิ่งมาตรการเข้ม Cash Balance ขั้น 3 คือหยุดซื้อขาย 1 วัน วันที่ 20 เม.ย. ราคาหุ้นเปิดมากลับทำนิวไฮ และพักซื้อขาย 25 เม.ย. ราคาหุ้นเปิดมาอาจได้เห็นราคาขึ้นหรือย่อแต่ปัจจัยที่เอื้อทั้ง 3 ด้านทำให้ราคาหุ้น JTS ติดลมบนจนกว่ากลุ่มที่กุมหุ้นส่วนใหญ่จะปล่อยหุ้น และเทขายออกมาเอง