ส่งออก มี.ค. มูลค่าพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี
พาณิชย์เผยส่งออกเดือน มี.ค. 2565 ขยายตัว 19.5% มูลค่า 28,859 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่ไตรมาสแรกขยายตัว 14.9%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค. ขยายตัว 19.5% มูลค่า 28,859 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่มีการจดสถิติในปี 2534 ส่วนการส่งออกไตรมาสแรก ขยายตัว 14.9% มูลค่า 73,601 ล้านดอลลาร์
ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรกประกอบด้วย 1.สวิตเซอร์แลนด์ 2,864.7% 2.เอเชียใต้ 36.4% 3.อาเซียน 34.8% 4.ตะวันออกกลาง 29.5% 5.สหรัฐฯ 21.5% 6.สหราชอาณาจักร 14.5% 7.เกาหลีใต้ 14.5% 8.ไต้หวัน 9.4% 9.แคนาดา 9.2% 10.สหภาพยุโรป 6.9% ส่วนสินค้าสำคัญ 3 หมวดประกอบด้วย1.สินค้าการเกษตร 3.3 สินค้าเกษตรสำคัญเช่น ข้าว 53.9% ไก่แปรรูป 6.6% มันสำปะหลัง 6.3% 2.สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 27.7% เช่น น้ำมันพืช 350% โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม 768.3% น้ำตาลทราย 204.3% อาหารสัตว์เลี้ยง 15.5% เครื่องปรุงรส 9.7% อาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแปรรูป 2% และ3.สินค้าอุตสาหกรรม 20.6% เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า 71.9% โทรสาร โทรศัพท์ 37.9% อัญมณีและเครื่องประดับ 37.1% คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 36.9% และสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน 15.5% แผงวงจรไฟฟ้า 11% เครื่องมือแพทย์ 10.6%
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับหนุนตัวเลขการส่งออก ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมผ่านนโยบายซอฟพาวเวอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงามและสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้าน Soft Power ไปแล้วทั้งอบรมให้ความรู้และช่วยเหลือให้การส่งออกบรรลุผลจำนวน 1,878 ราย การจัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวก
2.ปัญหาการขาดแคลนตู้เริ่มคลี่คลาย การเจรจาการขนส่งทางอากาศ และมอบหมายให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตร และกระทรวงการต่างประเทศประสานกับทางการจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือตอนใต้ของจีนอย่างน้อย 3 ท่า คล่องตัวขึ้นทำให้ตัวเลขการส่งออกทางเรือเพิ่มขึ้น และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ช่วยเจรจากับการท่าอากาศยาน สายการบินและผู้ส่งออก เจรจาเรื่องค่าขนส่งและการจองสายการบินซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกต้นปีที่ผ่านมา
3.การผลักดันการค้าชายแดนซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด ล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยเมียนมาเกิดขึ้นต่อไป
4. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต(Purchasing Managers Index หรือ PMI)ยังอยู่ในระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ออสเตรเลีย อาเซียน ยังอยู่ในระดับ 50 โอกาสที่จะซื้อสินค้าจากประเทศไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย
5. อัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป เริ่มลดลงในขณะที่บางเส้นทางไม่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่ง และ6.ค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยทำให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น
สำหรับสงครามรัสเซียและยูเครน โดยกระทบต่อการส่งออกไปรัสเซียทำให้การส่งออกลดลง 73 % ขณะที่ยูเครนส่งออกลดลง 66.3% ส่วนตลาดอื่นๆแม้ไม่กระทบโดยตรงก็กระทบทางอ้อม อย่างไรก็ตามหวังว่า สงครามนี้จะไม่ซ้ำเติมการส่งออกของไทยมากกว่านี้ รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ส่วนเป้าส่งออก 4-5 % .ในปีนี้ หากดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 14.9% ก็เชื่อว่าน่าจะเกินเป้า