เอ็มไอ เจาะศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ดันงบโฆษณาสะพัดไม่เกิน 200 ล.
นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีขึ้นวันที่ 22 พ.ค.นี้ แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้การหาเสียงอาจไม่คึกคักเท่าที่ควร แล้วงบโฆษณา เลือกตั้งท้องถิ่นรอบ 9 ปี เป็นอย่างไร เอ็มไอ ชวนเจาะลึก
นอกจากนี้ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ยังทำให้ผู้สมัครแต่ละราย หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ เล่านโยบาย วิสัยทัศน์ในการพัฒนายกระดับกรุงเทพฯผ่านโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆมากขึ้นด้วย
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หยิบประเด็นการใช้สื่อโฆษณาของผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. มาชำแหละ พร้อมประเมินเงินสะพัดที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 9 ปี
ย้อนรอยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2556 การใช้งบโฆษณาโปรโมทนโยบาย สร้างการรับรู้ว่าผู้ท้าชิงเก้าอี้ ได้เบอร์ไหนเพื่อให้ชาวกทม.เข้าคู่หากาหมายเลขได้ถูก คิดเป็นเม็ดเงินรวม 40.9 ล้านบาท โดยไม่รวมสื่อออนไลน์ เพราะปีนั้นสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ ยังฮอตฮิตถูกใช้อย่างมาก
โดยผู้สมัครฯชิงตำแหน่งที่ใช้เงินมากสุด ดังนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส มูลค่ากว่า 10.72 ล้านบาท ตามด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ(เพื่อไทย) 10.69 ล้านบาท ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร(ประชาธิปัตย์) 9.31 ล้านบาท โฆษิต สุวินิจจิต 5.04 ล้านบาท และณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ 9.45 แสนบาท
ส่วนศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ปี 2565 มีทั้งสิ้น 31 ราย เพราะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นใหญ่ของชาวกรุง จึงคาดการณ์เงินโฆษณาหาเสียง บอกกล่าวนโยบาย ผ่านสื่อต่างๆจะมีมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อน กกต.ประกาศให้ชิงชัยผู้ว่าฯกทม. มีผู้สมัครที่ออกตัว เป็นกระแสล่วงหน้าบ้าง ทว่า เมื่อลงสนาม ผู้ท้าชิงทุกรายเริ่มเดินสายสร้างการรับรู้ว่าตัวเองเบอร์อะไร เพื่อจะได้กากบาทถูก รวมถึงลุยหาเสียงกัน แต่การเก็บเม็ดเงินโฆษณา ณ วันที่ 25 เม.ย. 65 มีเพียง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่มีตัวเลขออกมา 9.1 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการยิงสปอต 60 วินาที ผ่านทีวีดิจิทัล ช่องต่างๆ เช่น ช่อง 3 ช่องวัน ช่อง 7 และไทยรัฐทีวี ฯ โดยยังไม่รวมการใช้สื่อออนไลน์ สื่อโฆษณานอกบ้าน
ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจาก WISESIGHT ระบุตลอดระยะเวลา 171 วัน หรือเกือบ 6 เดือน โดยผู้สมัครตัวเต็ง 5 ราย ที่ได้รับความสนใจจากชาวโซเชียล ถูกนำไปถกเถียงและมีส่วนร่วม(Engage)นำโด่ง ได้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 29,399 ข้อความ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 29,129 ข้อความ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 27,165 ข้อความ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 16,492 ข้อความ และสกลธี ภัททิยกุล 14,225 ข้อความ
นอกจากนี้ ข้อมูลที่สะท้อนความคิดเห็นเชิงบวกของชาวโซเชียล ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ชัชชาติ วิโรจน์ และรสนา
“คนกรุงเทพฯใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลต่างๆมากถึง 80% ทุกคนจึงสัมผัสได้เอง จากทุกวันที่เข้าสู่โลกโซเชียลว่าผู้สมัครท่านใดอยู่ในกระแส ใครถูกพูดถึงมากถูกพูดถึงน้อย และโพสต์ที่เกี่ยวกับผู้สมัครท่านใด ได้รับคอมเมนต์ กดไลค์ กดแชร์ (engage) มาก ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกหรือลบ ซึ่งเครื่องมือฟังเสียงผู้บริโภคหรือ Social listening ช่วยจับสถิติและรายงานออกมาเป็นตัวเลข มีความน่าเชื่อถือ แม่นยำ เมื่อเทียบกับโพลสำนักต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม กระแสบนโลกออนไลน์ ไม่ได้ตัดสินผล เพราะทุกฝ่ายต้องต้องรอดูกันผลจริงในช่วงค่ำหลังปิดหีบหรือประกาศผลอย่างเป็นทางการจะตรงใจชาวโซเชียลหรือไม่
“นโยบาย” คือหัวใจสำคัญที่ชาวกรุงใช้เป็นตัว “ตัดสิน” จะลงคะแนนเสียงให้ใคร นอกจากความชอบพรรคการเมือง ชอบตัวบุคคล โดย 5 อันดับที่ชาวกทม.เอ็นเกจมากสุด ได้แก่ 1.ความโปร่งใส 2.บริการสาธารณสุข 3.บำบัดน้ำเสีย 4.บริหารงาน และ 5.น้ำท่วม
“เพราะกทม.มีงบประมาณจำนวนมาก จึงกังวลเรื่องความโปร่งใส่ เมื่อมีผู้สมัครคนใดนำมาเป็นนโยบายหาเสียงจะโดนใจคนกรุง ตามด้วยนโยบายการพัฒนาองค์รวม ส่วนประเด็นน้ำท่วมได้รับความสนใจแซงการแก้ปัญหารถติด อาจเพราะเป็นช่วงโควิดที่คนไม่ค่อยเดินทางจึงมีผลต่อกระแสเหล่านี้”
ปี 2565 คนกรุงจำนวน 4.5 ล้านราย มีสิทธิ์มีเสียงชี้ชะตาผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. และมีผู้โหวตหน้าใหม่ 7 แสนราย เมื่อทั้งหมดต่างวัยทั้งเจเนอเรชั่นซี(Z) วาย(Y) เอ็กซ์(X) และเบบี้บูมเมอร์ การเสพสื่อการเมืองจึงต่างกัน แต่ยอดนิยมได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และสำนักข่าวจากช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2565 มีการฟื้นตัว รวมถึงซีเกมส์ ซัมเมอร์ ฯ ซึ่งเอ็มไอคาดการณ์ทั้งปีเงินสะพัดแตะ 84,000 ล้านบาท เติบโต 10% เป็นตัวเลขเหมาะสม เพราะท่ามกลางแนวโน้มอุตสาหกรรมที่ดี ยังมีมรสุมมาเบรกการโต ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ชะลอตัว เป็นต้น
ภวัต เรืองเดชวรชัย
“เฉพาะเดือนเม.ย.นี้ งบโฆษณาเติบโต 15-20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งที่การออกตัวแคมเปญซัมเมอร์ค่อนข้างช้า ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่ต้นจนจบ คาดมีเม็ดเงินสะพัดไม่เกิน 200 ล้านบาท”