คมนาคมจับมือศิริราช สร้างสถานีร่วมศิริราช 2 พันล้านบาท
คมนาคมจับมือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เดินหน้าก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล 2 พันล้านบาท หนุนประชาชนเดินทางสะดวก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมระบุว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการ การใช้พื้นที่บริเวณสถานีร่วมศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ และผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชมากยิ่งขึ้น
สำหรับอาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็น
- พื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร
- พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร
- พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร
คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ และการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย
ส่วนโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงเอกสารประกวดราคาและราคากลาง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571
นายศักดิ์สยาม กล่าวตอนท้ายว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ ในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ร่วมกันสนับสนุนและประสานความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล ให้ประสบความสำเร็จ เป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพ และสาธารณสุขแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์