"เอสซีจี เคมิคอลส์" จ่อระดมทุนขาย IPO ไม่เกิน 3.8 พันล้านหุ้น ลุยขยายธุรกิจ

"เอสซีจี เคมิคอลส์" จ่อระดมทุนขาย IPO ไม่เกิน 3.8 พันล้านหุ้น ลุยขยายธุรกิจ

"เอสซีจี เคมิคอลส์" มั่นใจในศักยภาพธุรกิจระยะยาว  ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอไม่เกิน 3,854, ล้านหุ้น เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ขยายการเติบโตเสริมศักยภาพผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร 

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า SCGC เป็น "ผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน" ที่มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์กว่า 40 ปี และบริษัท เป็นผู้ผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) เพียงรายเดียว ที่มีการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

โดยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GREEN POLYMER) เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและโอกาสเติบโตที่ดี รวมถึงเน้นสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง โดยเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์  การแพทย์และสุขภาพ และโซลูชันด้านพลังงาน

เรามีความมั่นใจในศักยภาพธุรกิจระยะยาว  ซึ่งความต้องการใช้สินค้าและนวัตกรรมเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะเทรนด์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน SCGC จึงเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับแผนการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต

 เพื่อตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) และยังมุ่งเน้นการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) เพื่อพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยแผนขยายการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพการขยายธุรกิจ ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต"

บริษัท เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพอลิเมอร์ (polymer) ประสิทธิภาพสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับสินค้าที่มีอุปสงค์ขับเคลื่อนด้วยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) เช่น การขยายตัวของเมือง ความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และความร่วมมือกับลูกค้า มีการนำไปใช้งานต่างๆ ตั้งแต่สินค้าที่มีความแข็งแรงคงทนสำหรับการใช้งานในโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ สินค้าและอุปกรณ์สำหรับกลุ่มการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน โดยใช้ขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาที่ดีที่สุดของบริษัท และความร่วมมือกับลูกค้ารายสำคัญ 

ปัจจุบัน SCGC สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์ต้นน้ำไปจนถึงผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ปลายน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) พอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) และเม็ดพีวีซี (PVC) รวม 6.9 ล้านตันต่อปี และบริษัท ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผนึกกำลังร่วมกันระหว่างธุรกิจในกลุ่ม SCGC เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตที่ดี ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม 

ทั้งนี้ SCGC อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) แห่งแรกในประเทศเวียดนาม โดย Long Son Petrochemicals Co., Ltd. (LSP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGC ถือหุ้นร้อยละ 100 จะเพิ่มศักยภาพการผลิตในระดับภูมิภาค โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้ SCGC มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ Chandra Asri Petrochemical (CAP) ผู้ดำเนินธุรกิจคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรรายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย

ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ SCGC ถือหุ้นร้อยละ 30.57 ได้วางแผนขยายคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (โครงการ CAP 2) โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2569 ดังนั้น หลังจากการขยายกำลังผลิตในปี 2569 SCGC จะเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) ตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 15 และเป็นผู้ผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ ร้อยละ 19 

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะเทรนด์ต่างๆ ส่งผลให้มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบาเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การใช้นวัตกรรมเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ การขยายตัวของเมือง การใช้พลังงานหมุนเวียน การดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น  

SCGC จึงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อาทิ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุชนิดเดียวเพื่อรองรับการนำมารีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น โซลูชันโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2560 พร้อมทั้งได้เข้าลงทุนถือหุ้นร้อยละ 70 ในบริษัท Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plástico, S.A. (ซีพลาสต์) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการรีไซเคิลพลาสติก และเพิ่มศักยภาพการตอบสนองเมกะเทรนด์ดังกล่าว 

 

ขณะเดียวกัน SCGC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG มุ่งเน้นความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อมุ่งสู่ "ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน" โดยการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน และวัดผลได้ เพื่อก้าวสู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2573 (เทียบกับปี 2564 เป็นปีฐาน) ลดการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 5 ภายในปี 2568 (เทียบกับปี 2557 เป็นปีฐาน) และลดการกำจัดของเสียให้ได้ร้อยละ 75 (เทียบกับปี 2557 เป็นปีฐาน) ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานในปี 2564 มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 43,164 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 129.4 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยมาจากปริมาณ และราคาขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ SCGC ยังประสบความสำเร็จจากการออก และเสนอขายหุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี ให้แก่ประชาชนทั่วไป มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อศักยภาพ SCGC  สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 นั้น หากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่คลี่คลาย คาดว่าแนวโน้มราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบจะยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง SCGC ได้มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยบริษัท คาดว่าจะเสนอขาย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัท ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก

ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (Pre-Emptive Right) ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ผู้ลงทุนสถาบัน บุคคลที่มีความสัมพันธ์ และ/หรือ ผู้มีอุปการคุณของ SCGC และ/หรือ บริษัทย่อยของ SCGC และ/หรือ บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น และผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) โดยในเบื้องต้นบริษัท คาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจในไทย และต่างประเทศ ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัท

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์