สศอ.เผยดัชนี MPI ไตรมาสแรกปี 65 ขยายตัว 1.41% ส่งสัญญาณปกติต่อเนื่อง
สศอ. เผยดัชนีMPI ไตรมาสแรกปี 65 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มสดใส การส่งออกรวมเดือนมี.ค. ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี สอดรับตลาดภายในประเทศฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค. 2565 อยู่ที่ 109.32 ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ 0.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 7.49% ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสัญญาณการส่งออกรวมเดือนมี.ค. ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) อยู่ที่ 72.6% ซึ่งในเดือนมี.ค. ขยายตัว 7.26% มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,705 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.66% และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 11.52% เพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม
รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง
ด้านภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมขยายตัวที่ 10.4% เร่งตัวขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวที่ 8.0%
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.25% เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณมากกว่าปีก่อน รวมถึงการปิดหีบช้ากว่าปีก่อน
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.51% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น
ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.86% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น
ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.17% เนื่องจากเกษตรกรได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกหลังราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ข้าว น้ำมันปาล์ม ฯลฯ
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.33% เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการจำหน่ายในร้านอาหารและสถานบริการมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการได้สั่งซื้อเพื่อเก็บสต๊อกก่อนที่ผู้ผลิตจะปรับขึ้นราคา