ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทะเล (ตอน 2)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทะเล (ตอน 2)

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 แบ่งออกเป็น 17 ภาค รวม 320 ข้อและภาคผนวก มีประเทศสมาชิกลงนามให้สัตยาบันรวม 170 ประเทศ ซึ่งจะทำให้มีฐานะเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาฉบับนี้

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทะเล ที่ได้จากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในตอนนี้ เป็นตอนที่ต่อจากตอนที่ 1

ภาค8 กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเกาะ

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเกาะ (ข้อ121)

- เกาะคือบริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งอยู่เหนือน้ำในขณะน้ำขึ้นสูงสุด

- การพิจารณาทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีปของเกาะ ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ใช้กับอาณาเขตทางบกตามที่กำหนดในอนุสัญญานี้

- โขดหินซึ่งโดยสภาพแล้ว มนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือยังชีพทางเศรษฐกิจได้ จะไม่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือไหล่ทวีป

ภาค6 ทะเลหลวง 

ทะเลหลวง คือทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือในทะเลอาณาเขตหรือในน้ำภายในของรัฐ(ข้อ86)

เสรีภาพแห่งทะเลหลวง 

ทุกๆ ประเทศในโลกนี้ ไม่ว่าเป็นประเทศที่ติดกับทะเลหรือไม่ติดกับทะเล มีเสรีภาพแห่งทะเลหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญานี้ หรือหลักเกณฑ์อื่นของกฎหมายระหว่างประเทศประกอบด้วย(ข้อ87) คือ

-เสรีภาพในการเดินเรือ

-เสรีภาพในการบินผ่าน

-เสรีภาพที่จะวางสายเคเบิลและท่อใต้ท้องทะเล ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ79

-เสรีภาพที่จะสร้างเกาะเทียม และสิ่งติดตั้งอื่นฯ ที่กระทำภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ80

-เสรีภาพในการประมง ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขที่กำหนดในตอนที่2

-เสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้บังคับแห่งภาค6 และ13

การอ้างสิทธิเหนือทะเลหลวง รัฐใดๆ จะอ้างส่วนหนึ่งส่วนใดของทะเลหลวงอยู่ในอธิปไตยของตนไม่ได้ (ข้อ89)

สิทธิในการเดินเรือ 

รัฐทุกรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐชายฝั่งหรือรัฐไร้ฝั่งทะเล มีสิทธิที่จะเดินเรือที่ชักธงของตนในทะเลหลวงได้ (ข้อ90)

การลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ข้อ108) 

รัฐทุกรัฐจะร่วมมือกันในการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษและสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทโดยทางเรือในทะเลหลวง ที่ขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

การออกอากาศจากทะเลหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

รัฐทุกรัฐจะร่วมมือกันในการปราบปรามการออกอากาศจากทะเลหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต (ข้อ109) โดยกำหนดความหมายของการออกอากาศโดยไม่ได้รับอนุญาตคือ การส่งวิทยุกระจายเสียงหรือแพร่ภาพโทรทัศน์จากเรือหรือสิ่งติดตั้งในทะเลหลวง โดยมุ่งให้สาธารณชนรับได้อันขัดต่อข้อบังคับระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

หน้าที่ที่จะร่วมมือกันในการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด

 ให้เป็นหน้าที่ของรัฐทุกรัฐที่ต้องร่วมมือกันมากที่สุดที่จะกระทำได้ในการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดในทะเลหลวงหรือในที่อื่นใดภายนอกเขตของรัฐอื่น (ข้อ100) โดยกำหนดคำนิยามของการกระทำอันเป็นโจรสลัดไว้ในข้อ101

การยึดเรือหรืออากาศยานโจรสลัด(ข้อ105) 

ในทะเลหลวง หรือในที่อื่นใดนอกเขตอำนาจของรัฐใด รัฐทุกรัฐอาจยึดเรือหรืออากาศยานโจรสลัด หรือเรือหรืออากาศยานซึ่งถูกยึดไปโดยการกระทำอันเป็นโจรสลัดและอยู่ภายใต้การควบคุมของโจรสลัด และอาจจับกุมบุคคลและยึดทรัพย์สินบนเรือนั้นได้

ศาลของรัฐที่ยึดเรือหรืออากาศยานอาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดและพิจารณาและมีคำสั่งในการดำเนินการเกี่ยวกับเรือหรืออากาศยานและทรัพย์สินที่ยึดไว้ก็ได้

การป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดของประเทศไทย

 ในปี 2534 ประเทศไทยตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ.2534 ออกใช้บังคับ โดยมีเหตุผลคือ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือในการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดอันเป็นโจรสลัด 

และตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยอมให้รัฐทุกรัฐขยายเขตอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดออกไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและทะเลหลวงได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจในการป้องกันปราบปราม และให้มีเขตอำนาจในการป้องกันและปราบปรามสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

  สาระสำคัญ

- คำนิยามการกระทำอันเป็นโจรสลัด หมายความว่า

(ก) ยึด หรือควบคุมเรือโดยใช้กำลัง หรือโดยขู่เข็ญว่าจะกระทำอันตรายต่อเรือหรือต่อคนในเรือ

 (ข) ทำลายเรือ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรือ 

(ค) หน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือกระทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

 (ง) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง หรือในเขตเศรษฐกิจจำเพาะไม่ว่าของประเทศใด โดยบุคคลในเรือเอกชนหรืออากาศยานเอกชน ต่อเรือบุคคลหรือทรัพย์สินในเรืออีกลำหนึ่ง และได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนของผู้กระทำนั้น

- เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด รวมทั้งมีอำนาจสืบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เช่น มีอำนาจตรวจสอบเรือหรืออากาศยานที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมี หรือได้มีการกระทำอันเป็นโจรสลัด เมื่อสั่งหรือบังคับให้เรือหรืออากาศยานหรือไปยังที่แห่งใด หรือลงไปยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งหนึ่งแห่งใด

ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจตรวจค้น สืบสวนสอบสวนเบื้องต้น จับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตลอดจนควบคุมเรือหรืออากาศยานและสิ่งของที่จะใช้ ได้ใช้ หรือได้มาจากการกระทำความผิด แล้วจัดส่งไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้บัญชาการทหารเรือและอธิบดีกรมตำรวจร่วมกันกำหนดโดยไม่ชักช้า พร้อมทั้งบันทึกทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง

มีบทกำหนดโทษการกระทำอันเป็นโจรสลัด จากเบาไปหาหนักตามความร้ายแรงของการกระทำความผิด โทษสูงสุดคือ

- ประหารชีวิต

- มีบทบัญญัติกำหนดให้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้นอกราชอาณาจักรต้องรับโทษในราชอาณาจักร