ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ กฎหมายทะเล
กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 แบ่งออกเป็น 17 ภาค รวม 320 ข้อและภาคผนวก มีประเทศสมาชิกลงนามให้สัตยาบันรวม 170 ประเทศ ซึ่งจะทำให้มีฐานะเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาฉบับนี้
ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฯ (United Nations Convention on the Law of the Sea : UNCLOS) เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2525 และลงนามให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2554 กัมพูชาลงนามในอนุสัญญาแต่ไม่ได้ลงนามให้สัตยาบัน จึงมิได้มีฐานะเป็นภาคีสมาชิก
ความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทะเลจากอนุสัญญาฉบับนี้ คือ ภาค 2 ทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Teritorial Sea and Contigous Zone)
- ทะเลอาณาเขต เขตแดนของประเทศด้านที่ติดกับชายฝั่งทะเล นอกจากเขตที่เป็นพื้นดินและน่านน้ำในประเทศแล้ว ให้รวมถึงทะเลอาณาเขต โดยประเทศชายฝั่งทะเลอาจกำหนดให้มีความกว้างได้สูงสุดไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานปกติ (ข้อ3) เส้นฐานปกติคือแนวน้ำลดตลอดฝั่ง (ข้อ4) ในกรณีเป็นเกาะที่มีชายขอบเป็นแนวโขดหิน คือแนวน้ำลดด้านทะเลของโขดหิน(ข้อ6)
ในกรณีที่สภาพของฝั่งทะเลมีสภาพไม่อาจพิจารณาแนวน้ำลดได้ชัดแจ้ง เช่น เว้าแหว่งและตัดลึกเข้ามามาก หรือมีเกาะเรียงรายในทะเล หรือแนวฝั่งทะเลไม่คงที่ อาจใช้วิธีลากเส้นตรงเชื่อมจุดที่เหมาะสมใช้ในการลากเส้นฐานที่เรียกว่าเส้นฐานตรง ตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับการพิจารณาความกว้างของทะเลอาณาเขตก็ได้ (ข้อ7)
แนวเขตของทะเลอาณาเขต แนวเขตไกลสุดของทะเลอาณาเขต คือเส้นคู่ขนานที่เริ่มจากจุดที่ใกล้ที่สุดกับเส้นฐานปกติมีความกว้างเท่ากับความกว้างของทะเลอาณาเขตขนานไปกับเส้นฐานตลอดแนว (ข้อ4)
อำนาจอธิปไตยของทะเลอาณาเขต อำนาจอธิปไตยของทะเลอาณาเขตขยายไปถึงห้วงอากาศที่เหนือทะเลอาณาเขต ตลอดจนพื้นดินท้องทะเลและใต้ผิวดินของทะเลอาณาเขต(วรรค2 ของข้อ2)
- การกำหนดทะเลอาณาเขตของประเทศที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกันหรือประชิดกัน แต่ละประเทศไม่สามารถกำหนดเขตแดนทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะ เว้นแต่ทั้งสองประเทศจะมีความตกลงเป็นอย่างอื่น(ข้อ15)
เส้นมัธยะ คือเส้นแบ่งครึ่งของระยะทางทั้งหมด ที่วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของประเทศทั้งสอง ในกรณีของรัฐที่มีฝั่งทะเลประชิดกันเส้นมัธยะ ได้แก่ เส้นตั้งฉากกับเส้นฐานของรัฐที่มีฝั่งทะเลประชิดกัน ซึ่งทุกจุดจะมีระยะทางเท่ากันโดยวัดจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐาน(ข้อ15)
- เขตต่อเนื่อง คือท้องทะเลที่ติดกับทะเลอาณาเขต ซึ่งรัฐบาลชายฝั่งอาจกำหนดขึ้นมีแนวเขตไม่เกินระยะ 24 ไมล์ทะเล จากเส้นฐาน ในเขตต่อเนื่องรัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็น เพื่อกำหนดมาเพื่อการป้องกันและลงโทษ การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง หรือการสุขาภิบาล ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (ข้อ13)
สำหรับเขตต่อเนื่อง ไม่ถือว่าเป็นเขตแดนของประเทศชายฝั่ง ในกรณีของกฎหมายไทย การกระทำความผิดในเขตต่อเนื่องไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2548
- เขตเศรษฐกิจจำเพาะ คือบริเวณที่อยู่เลยหรือติดกับทะเลอาณาเขต ซึ่งอยู่ในบังคับของกฎเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในภาคนี้ (ข้อ55) เขตเศรษฐกิจจำเพาะกำหนดให้มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
- การกำหนดขอบเขตของเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างรัฐที่มีฝั่งทะเลตรงกันข้ามหรือประชิดกัน จะกระทำโดยความตกลงกันก็ได้ (วรรค1ของข้อ74) หากตกลงกันไม่ได้ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีกำหนดทะเลอาณาเขตระหว่างรัฐ ที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามหรือประชิดกันตามที่กำหนดในข้อ15 (วรรค2ของข้อ74)
สิทธิอธิปไตย เหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย ในการสำรวจแสวงหาประโยชน์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในน้ำ เหนือพื้นดินท้องทะเล ในพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินใต้ทะเล รวมทั้งการผลิตพลังงานจากน้ำ กระแสน้ำและลม (วรรค1(เอ) ของข้อ56)
ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐชายฝั่งมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวที่จะก่อสร้างตลอดจนอนุญาตและวางระเบียบการก่อสร้าง การปฏิบัติงานของและการใช้เกาะเทียม สิ่งติดตั้งและการก่อสร้างต่างๆ การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
-ไหล่ทวีป ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่ง ประกอบด้วยพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติของดินแดนทางบก จนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น (ข้อ76) ไหล่ทวีปต้องไม่ขยายเลยขอบที่กำหนดในวรรค 4 ถึง6 ของข้อ 76
ขอบทวีป ประกอบด้วยส่วนต่อออกไปใต้น้ำของผืนแผ่นดินของรัฐชายฝั่ง และประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและใต้ผิวดินของส่วนไหล่ ส่วนลาดและส่วนชัน โดยขอบทวีปไม่รวมพื้นลึกใต้มหาสมุทรที่มีสันเขาหรือดินใต้ผิวดินบริเวณนั้น (วรรค2 ของข้อ76) ในกรณีขอบทวีปขยายเลย 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ให้รัฐชายฝั่งกำหนดขอบนอกของขอบทวีปโดยเส้นใดเส้นหนึ่งตามที่กำหนดใน (1) หรือ (2) ของวรรค4 (เอ)ของข้อ76 )
- การกำหนดขอบเขตของไหล่ทวีประหว่างรัฐที่มีฝั่งทะเลตรงกันข้ามหรือประชิดกัน จะกระทำโดยความตกลงกันก็ได้ (วรรค1 ของข้อ83) หากตกลงกันไม่ได้ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีกำหนดทะเลอาณาเขตระหว่างรัฐที่มีฝั่งทะเลตรงข้าม หรือประชิดกันตามที่กำหนดในข้อ15
- สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป คือสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป และเป็นสิทธิจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ในประการที่ผู้ใดจะดำเนินกิจกรรมเหล่านี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งไม่ได้ (วรรค1และวรรค 2 ของข้อ77) สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป มีขึ้นโดยไม่จำต้องมีการครอบครองอย่างเป็นจริงหรือเพียงในนาม หรือการประกาศอย่างชัดแจ้งใดๆ (วรรค3ของข้อ77)
ทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป ประกอบด้วย แร่และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีชีวิตอย่างอื่นของพื้นดินท้องทะเล และดินใต้ผิวดิน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอยู่ติดที่ ไม่เคลื่อนไหวไปบนหรือใต้ผิวดินท้องทะเล.