วาระด่วน 'รัฐบาลไทย-กัมพูชา' 'นปก.เกาะกูด' ศักดิ์สงครามราชนาวี
40 กว่าปี นปก.เกาะกูด หน่วยเฉพาะกิจของ สอ.รฝ. คอยปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ พื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคง ที่มีขุมทรัพย์พลังงานใต้ทะล
KEY
POINTS
- การเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ต้องทำควบคู่กับการแบ่งเขตทางทะเล
- ครม.เตรียมไฟเขียวคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย มี ภูมิธรรม เป็น ประธาน ภายในสองสัปดาห์นี้
- เบื้องต้นฝ่ายไทย เล็งลากเส้นจากหลักเขตสุดท้ายมาตรงระยะกึ่งกลางเกาะกูด เกาะกง มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เสนอกัมพูชา ซึ่งไม่ทำให้เสียเปรียบทั้งสองฝ่าย
การลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ในเวลาไล่เลี่ยกันของผู้ใหญ่ในรัฐบาล และ กองทัพเรือหวังตอกย้ำ ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง หวังให้การเดินหน้าเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาราบรื่น
โดยปัจจุบัน รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อยู่ระหว่างปรับโฉมใหม่ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือ Joint Technical Committee: JTC มี "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เตรียมนำเข้า ครม.อนุมัติภายในสองสัปดาห์จากนี้
สำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือ JTC มีตัวแทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กองทัพ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ ฯ เป็นตัวขับเคลื่อน
พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุดให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาเป็น ประธาน และการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธาน
จากนั้น ภูมิธรรม จะเรียกประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทยนัดแรก วางกรอบการดำเนินการ แนวทางการเจรจา พร้อมทาบทามฝ่ายกัมพูชา ให้จัดองค์ประกอบ JTC ให้ใกล้เคียงของไทย
ก่อนเปิดการเจรจากรอบเอ็มโอยู 2544 ภายใต้เงื่อนไข การแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตร ควบคู่กับการกำหนดเส้นเขตทางทะเล โดยมี 2 พื้นที่หลัก ประกอบด้วย พื้นที่เหนือละติจูด 11 องศาเหนือ(คุยเรื่องแบ่งเขตทางทะเล)
พื้นที่ใต้ละติจูด 11 องศาเหนือ(พัฒนาพื้นที่ร่วมกัน)
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศเคยสอบถามมายังกระทรวงกลาโหม ถึงการกำหนดเส้นเขตทางทะเล พร้อมได้คำตอบว่า ให้ลากเส้นจากหลักเขตสุดท้ายมาตรงระยะกึ่งกลางเกาะกูด เกาะกง ลากเส้นมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้ไทย-กัมพูชา ไม่เสียเปรียบทั้งสองฝ่าย
"หากยึดตามหลักกติกาสากลก็เสียด้วยกันทั้งคู่ ก็ถอยคนละก้าว ถ้าไม่เช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอ่าวเป็นตัวกอไก่แคบๆผอมๆ ขีดเส้นอย่างไรก็ซ้อนกัน ต้องมาคุยกันว่าจะเป็นเส้นไหน บริเวณใด" แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมระบุ
ทั้งนี้ ไม่ว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในทิศทางใด รัฐบาลไทย-กัมพูชาย่อมยึดหลักการ 1.ประชาชนทั้งสองประเทศยอมรับได้ 2.สิ่งที่ได้จากการเจรจาต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา และ 3.ข้อตกลงต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. ไปตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.) เพื่อบำรุงขวัญ และตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลกองทัพเรือให้มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ
พร้อมย้ำว่า ทหารเรือดูแลอธิปไตยของชาติทางทะเลด้านตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูดมาตั้งแต่อดีต และเมื่อไทยประกาศไหล่ไหล่ทวีป เมื่อปี 2516 กองทัพเรือได้ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไม่ปรากฎปัญหาในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข
การเดินทางลงพื้นที่เกาะกูดของ ผบ.ทร.คล้อยหลังกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)คัดค้านการเจราแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เดินทางไปพื้นที่ดังกล่าวเพียงวันเดียว แต่ไม่สามารถขึ้นเกาะได้ โดยมีทหารเรือเข้ามาเจรจา ก่อนยอมเดินทางกลับไป
และในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ภูมิธรรม เตรียมยกคณะไปตรวจเยี่ยม นปก.เกาะกูด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาอธิปไตยชายแดนไทย - กัมพูชา พื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคง ที่คาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรลในพื้นที่ทับซ้อนกว่า 26,000 ตร.กม.
นปก.เกาะกูด หน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีเรือรบลาดตระเวนดูแลพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ กองทัพเรือจัดตั้งหน่วยตรวจการพิเศษที่ 1 บนเกาะกูด เมื่อปี 2521 ต่อมาเมื่อปี 2529 กองทัพเรือได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อจากหน่วยตรวจการพิเศษที่ 1 เป็นหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด จนถึงปัจจุบัน และในปี 2534 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อนุมัติให้กรมรักษาฝั่งที่ 1 เป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดกำลัง
นปก.เกาะกูด มีภารกิจ ได้แก่ ปกป้องอธิปไตยป้องกันการคุกคามทางทะเล และทางอากาศ คุ้มครองเรือประมงไทย สนับสนุนการปฏิบัติการของเรือ และกำลังทางบก ปฏิบัติการจิตวิทยา และประชาสัมพันธ์กับส่วนราชการ และราษฎรในพื้นที่เพื่อความสัมพันธ์อันดีและง่ายในการประสานการปฏิบัติงานร่วมกัน
ในทุกปี นปก.เกาะกูด จะมีการฝึกยิงอาวุธประจำหน่วยเพื่อทบทวนและเตรียมความพร้อมรบ เช่น การยิงอาวุธ ปืน 76/50 และปืนต่อสู้อากาศยาน 37 มิลลิเมตร เป็นอาวุธประจำหน่วย ซึ่งทำการฝึกยิงต่อเป้าพื้นน้ำ และเป้าอากาศยานสมมติ
ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ใช้กำลังพลตลอดการฝึกรวม 4,500 นาย ได้จำลองเหตุการณ์ตึงเครียดใกล้พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยสมมุติสถานการณ์ประเทศแดงใช้กำลังเรือรบ อากาศยาน ทหารราบ เข้าแทรกซึมชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจฝ่ายน้ำเงิน
ฝ่ายน้ำเงินจึงส่งกำลังและยุทโธปกรณ์ ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.ปืน อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน I I gla-s ปืนใหญ่ขนาด 130 มม. จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง(สอ.รฝ.) และปืนใหญ่อัตราจร ATMG ขนาด 155 มม. และกำลังพลจากหน่วยทหารราบ จากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินตอบโต้ จนสามารถป้องกันพื้นที่เอาไว้ได้
ตลอดจนพร้อมการสาธิตการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัยจากพื้นที่ความขัดแย้งและการช่วยเหลือตัวประกันจากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือซีล
นปก. เกาะกูด หน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) เป็นหนึ่งในศักดิ์สงครามกองทัพเรือไทย ยังคงทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยทางทะเลและผลประโยชน์ประเทศชาติ
ขณะที่เกาะกง มีฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา ทำหน้าที่ดูแลรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ เช่นเดียวกับฝ่ายไทย